จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 23-29 มิถุนายน 2560

จดหมาย

เสียงนักโทษ

อยู่อย่างลำเค็ญ

เป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน

เพื่อนฝูงนับพัน

แต่ดันไม่มีที่ไป

แต่ละวันมันช่างยาวนานยาวไกล

มองไปทางไหนเห็นแต่กำแพงท่วมหัว

เพราะฝากตัวกับความชั่วที่ทำ

จึงถูกจองจำอยู่ในมุ้งสายบัว

ผิดมากับสิ่งที่หลงเมามัว

ถอนตัวยังไงก็คงไม่ทัน

โทษฐานศาลบอกว่าฉันผิดจริง

ต้องยอมทุกสิ่งกับคำที่เขาว่ามา

ต้องร้องไห้เลือดเป็นน้ำตา

ก็ไม่มีค่าไม่มีประโยชน์อันใด

ต้องใช้กรรมจองจำนับสิบๆ ปี

เวลาที่มี มองไม่เห็นใคร

คนใกล้ชิดของฉันอยู่แห่งใด

มีแต่เพื่อนใหม่นับร้อยนับพันดวงตา

อยู่กินก็เพื่อประทัง

ให้หมดหนี้กรรมจนกว่าจะถึงวันลา

บ้านน้อยครอบครัวคอยอยู่ข้างหน้า

หมดเวลาใช้กรรมคงได้กลับบ้าน

อย่าหวังเลยว่าจะได้เห็นเดือนดาว

รอบราวมีแต่มุ้งสายบัว

นกร้องก้องอยู่ในหัว

ทุกตัวบอกพวกมึงถึงเวลานอน

ชีวิตนานวัน ก็ยิ่งถูกตัดออกจากโลกภายนอกไปเรื่อยๆ

ผมกราบขออภัยพี่ทุกคนที่เขียนมารบกวน

อันที่จริงผมมีลูกชาย 2 คน

แต่ผมก็เป็นพ่อที่ไม่สมบูรณ์แบบสำหรับพวกเขา

ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนักสำหรับพวกเขาอีกต่างหาก

ด้วยความเคารพ

ทางไกล ต.ไกลบ้าน

 

ส่งมาจากเรือนจำทางเหนือ

ขอบคุณ “ผู้คุม” ที่ทำให้ “ทางไกล ต.ไกลบ้าน” ได้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์”

และเซ็น “อนุญาต” ให้จดหมายนี้ “ผ่าน” มาถึงคอลัมน์จดหมาย

แม้จะดูเป็นประเด็น “ส่วนตัว”

แต่จริงหรือ การที่เราอยู่นอก “กำแพง” แล้วหมายถึงการมี “อิสรภาพ”

หรือ เราก็ติด “คุก” ไม่ต่างจาก ทางไกล ต.ไกลบ้าน สักเท่าไหร่

3 ปีมาแล้ว…

 

เสียงคนรักษาไข้

เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าโรคาพยาธินั้นคือคู่ชีวิตเรามาแต่อ้อนแต่ออก

ส่วนจะทะเลาะเบาะแว้งแผลงฤทธิ์ให้ชีวิตต้องเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเมื่อใดนั้น

ขึ้นอยู่กับว่าภูมิต้านทานของเราจะบกพร่อง-อ่อนแอลงเมื่อไหร่ มากน้อยแค่ไหน

เด็กบางคนจึงป่วยตั้งแต่แรกเกิด

บ้างก็เจ็บในวัยรุ่น-หนุ่มสาว หรือวัยกลางคน

แต่ที่หลีกลี้หนีไม่พ้นความเจ็บป่วยนั้นได้ก็คือผู้สูงวัยชราภาพ ซึ่งนับวันจะล้นหลามเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะป่วยในวัย-เวลาไหนก็ล้วนแต่มุ่งใจไปโรงพยาบาลด้วยกันทั้งสิ้น

เพราะเป็นแห่งเดียว เป็นความหวังเดียวของผู้ป่วยที่จะได้รับการเยียวยารักษาให้ฟื้นคืนสู่สุขภาพปกติโดยเร็ววัน

ขณะที่คุณหมอ คุณพยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผู้ได้รับความคาดหวังอย่างสูงล้นให้เป็นผู้บำบัดปัดเป่าความเจ็บป่วยนั้นก็กลัดกลุ้มใจในภาระหน้าที่อันไม่สามารถตอบสนองผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงทันอกทันใจเนื่องจากขาดบุคลากรทีมงานและอุปกรณ์การแพทย์

การณ์จึงกลายกลับเป็นว่าบุคลากรผู้อำนวยการพยาบาลทั้งหลายแหล่เป็นผู้ป่วยหนักเสียเอง

เพราะนอกเหนือจากหน้าที่รับผิดชอบอันหนักอึ้งในการดูแลสุขภาพของผู้คนแล้ว

ยังมีครอบครัวเป็นธุระให้สะสาง

ดูแลอาหารการกิน-ความเรียบร้อยของบ้าน

รวมทั้งค่าศึกษาเล่าเรียนของบุตร-ธิดา

และยิ่งเหน็ดเหนื่อยหนักในครอบครัวที่พ่อแม่ผู้แก่เฒ่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

จึงเป็นความอ่อนใจในวิถีชีวิตการงานของผู้พยาบาล ผู้มีใจรักการปรนนิบัติดูแลผู้อื่นให้ผ่อนคลายหายโศกเศร้า

ทว่า กลับเหงาหงอยวังเวงใจจากผู้ใหญ่หัวใจปฏิวัติ ผู้จำกัดจำเขี่ยงบประมาณให้สวัสดิการความเป็นอยู่อย่างเทียบไม่ได้กับงบฯ จัดซื้อยุทโธปกรณ์

ซ้ำยังปล่อยปละละเลยให้มีการนำเข้าสารเคมีอันตรายโดยเฉพาะยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืช-ขาดประสิทธิภาพในการควบคุมมลภาวะซึ่งเป็นพิษภัยต่อชีวิตผู้คน

จึงเป็นชะตากรรมซ้ำเติมให้ผู้พยาบาลต้องแบกภาระดูแลผู้ป่วยซ้ำซ้อนหนักหน่วงขึ้นอย่างทบทวี…

วินาทีเร่งด่วนของหน่วยกู้ภัย-รถ Ambulance เปิดไซเรนร้องขอทางสู่โรงพยาบาลน่านจึงเป็นสถานะหนึ่งที่น่าเห็นใจให้ความอนุเคราะห์เพราะต้องดูแลผู้ป่วยทั้งในตัวเมืองและพื้นที่รอบนอกอีกสิบห้าอำเภอ

บางแห่งกว่าจะลำเลียงคนไข้มาได้นั้นเปลืองเวลา-ค่าเชื้อเพลิงขึ้นลงภูเขาเหล่าดอยผ่านทางโค้งคดลดเลี้ยว

มากรายต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ลำปางหรือเชียงใหม่เพราะขาดเครื่องมือและแพทย์เฉพาะทาง

คนไข้ที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้ (รวมจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งส่วนมากยากจน-ไม่มีค่ารักษา) ก็ล้นทะลักกระทั่งต้องเสริมเตียงตามทางเดิน

จึงมีแต่เพียงความเมตตาจากรัฐ จัดสรรปันส่วนงบประมาณให้โรงพยาบาลมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่, ให้ความปรานีเอื้อเอ็นดูเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

…เหนื่อยมาทั้งวันทั้งคืน เดินทางไปกลับมีรถรับ-ส่ง อบอุ่นปลอดภัยพร้อมเพื่อนร่วมงานเป็นรางวัลที่ได้พักผ่อนหย่อนใจในช่วงสั้นๆ สิบ-ยี่สิบนาทีก่อนถึงบ้านที่พักอาศัย ประโลมใจให้มีพลังอุทิศตนทำงานบริบาลสังคม ลดปัญหาจราจร-ทุกข์โรคาพาธและประหยัดงบประมาณการสาธารณสุขครับ…

อันความกรุณาปรานี จะมีผู้ใดบังคับก็หาไม่

หลั่งมาเองดั่งฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

ด้วยความเคารพและนับถือ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

เป็นตัวแทนบุคลากรในวงการสาธารณสุข

ที่ส่งเสียงให้รับทราบถึงภาวะ “ขาด”

ขาด จากสิ่งที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่

โดยเฉพาะ “หมอ-พยาบาล” ในชนบท

ขณะที่ “ภาพ” ที่สังคมส่วนใหญ่แลเห็นคือความชุลมุนวุ่นวายของ “คนกันเอง”

จากกรณีโครงการหลักประกันสุขภาพ