ผี พราหมณ์ พุทธ : พระพุทธรูปผู้หญิงในความเชื่อชาวใต้ / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

พระพุทธรูปผู้หญิงในความเชื่อชาวใต้

 

ผมเกิดเป็นคนใต้ตอนบน ดั้นด้นไปเรียนเชียงใหม่และกลับมาทำงานในภาคกลาง มีบรรพบุรุษฝั่งแม่เป็นคนไทยภาคเหนือผสมฝรั่ง มีบรรพบุรุษฝั่งพ่อเป็นจีนบาบ๋าและชาวไทยถิ่นใต้

ถ้าผมเป็นสุนัข น่าจะเรียกว่าพันทาง (ฮา)

แต่ด้วยความพันทางนี่เองกระมัง ที่ทำให้ผมมีความสนใจอะไรหลากหลาย (จะไม่เก่งสักอย่าง) และได้รู้ได้เห็นอะไรหลายอย่างหลายวัฒนธรรมด้วย

วันนี้จึงอยากพูดถึงวัฒนธรรมและความเชื่อบางอย่างในภาคใต้ที่เคยได้ยินได้ฟังมาครับ ถือว่าคั่นช่วงที่พูดเรื่องศาสนากับการเมืองบ่อยๆ บ้างก็ดี

กลัวคุณผู้อ่านจะเบื่อ

 

เรื่องของเรื่องคือ ในภาคใต้เขามีพระพุทธรูปที่เป็นผู้หญิงด้วยน่ะครับ

ใครก็ทราบว่าพระพุทธรูปเป็นวัตถุเคารพในพุทธศาสนา แต่ใน “ศาสนาไทย” คือผีพราหมณ์พุทธนั้น พระพุทธรูปไม่ได้เป็นเพียงวัตถุเคารพเฉพาะในพุทธศาสนาอย่างเดียว คือไม่ได้เป็นเพียง “สัญลักษณ์” แทนพระพุทธะไม่ว่าในแง่บุคคลทางประวัติศาสตร์หรือภาวะ หรือเป็นเครื่องบรรจุ “พุทธคุณ” เท่านั้น แต่ยังเป็นที่สถิตของวิญญาณทิพยศักดิ์หรือผีด้วย

ตามระบบความเชื่อผี ผีเป็นพลังงานหรือ “สิ่ง” ที่ยังคงมีเจตจำนงและรู้คิดได้ เช่น ผีบรรพชน ผีบุคคล หรือแม้แต่พลังในธรรมชาติ ดังนั้น ผีจึงต้องมีที่สิงสถิต หรือมีจุดที่ผีดำรงอยู่

ดังนั้น ผีจึงอาจสิงที่ต้นไม้ ที่เสา ที่เรือน ที่ศาลของผีโดยเฉพาะ ในรูปเคารพ ในป้ายวิญญาณ ในเจว็ด ในกระถางธูป และแม้แต่ในพระพุทธรูปด้วยก็ได้

อาจารย์บางท่านเชื่อว่าคนสมัยโบราณมีญาณหยั่งรู้ว่าตรงไหนที่มีพลังที่ว่านี้ จึงได้สร้างศาสนสถานหรือที่สิงสถิตของพลังนั้นๆ เอาไว้

ญาณหยั่งรู้เช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่แปลกประหลาดแต่สามารถฝึกฝนให้มีขึ้นได้ เมื่อมีขึ้นแล้วก็ติดต่อสัมพันธ์กับพลังนั้น ซึ่งจะเรียกว่าเทพว่าผีก็ตามแต่

ส่วนจะมีจริงหรือไม่จริงไม่ใช่ประเด็นนะครับ คือระบบความเชื่อของเขาเป็นเช่นนี้ เราเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจ เพื่อจะวิเคราะห์ วิพากษ์ มีจริงไม่จริงเป็นประเด็นของคนที่เชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ใช่ประเด็นทางวิชาการที่ผมสนใจหรือต้องพิสูจน์ในทางสาธารณะ

ด้วยเหตุผลข้างต้น พระพุทธรูปในประเทศไทยจำนวนมากจึงมีเบื้องหลังเป็นผี และแม้แต่เทวรูปก็อยู่ภายใต้ระบบความเชื่อนี้ด้วย เราจึงมีพระพุทธรูปที่มีชื่อต่างกัน มีของที่แก้บน ของที่ชอบต่างๆ กัน ให้หวยได้ หักคอหรือบันดาลให้มีอันเป็นไปหากกระทำผิดต่อคำสาบานหรือลบหลู่ และรับคนเป็นลูกบุญธรรมได้

 

ผมเองไม่มีปัญหากับความเชื่อชาวบ้านแบบนี้เลยครับ ศาสนาผสมเป็นเรื่องปกติในหลายๆ สังคม และตราบใดที่ความเชื่อเหล่านี้ไม่ไปกดขี่ผู้คน ไม่ได้ขัดแย้งกับคุณค่าในโลกสมัยใหม่ ผมว่าก็ใช้ได้ เป็นสิทธิที่จะเชื่อ (และต้องถูกวิจารณ์ได้ด้วย) เว้นแต่ผู้ที่ต้องการชำระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ก็คงคิดอีกอย่าง

ดังนั้น จึงมีบางคนเถียงว่า ที่รับของแก้บนและอะไรต่างๆ นั่นเป็น “เทวดา” ที่คอยรักษาพระพุทธรูปองค์นั้นอยู่ต่างหาก แต่ผมคิดว่าอันนี้เป็นความพยายามแก้ต่างไม่ให้พระพุทธรูปดูอยู่ในอิทธิพลของผีมากเกินไป

อีกอย่าง หากเชื่อตามคำอธิบายที่ว่านั่นจริงๆ เทวดาสิงในพระพุทธรูปและคอยรับเครื่องบูชา ก็ไม่ได้ต่างกับคำอธิบายเรื่องผีเลยครับ

เปลี่ยนแค่เป็นชื่อเทวดาให้ดูดีขึ้นเท่านั้นเอง

 

กระนั้นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เกือบทั้งหมดยึดโยงกับความเป็นชาย ผีเบื้องหลังจึงเป็นชาย อาจเพราะรูปลักษณ์และพุทธตำนานที่เป็นชายอยู่แล้ว ผีเจ้าแม่จึงมักต้องไปสิงหรือมีตัวแทนในที่อื่นๆ เช่น ต้นไม้ เสาเรือน ศาล หรือรูปเคารพที่เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะ

ที่บอกว่าวัฒนธรรมภาคใต้นั้นน่าสนใจ เพราะพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นตัวแทนของผีผู้หญิงได้ด้วย วัฒนธรรมนี้มีในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเรื่อยไปจนถึงนครศรีธรรมราช

พระพุทธรูปในภาคใต้เหล่านี้ ที่มีชื่อเสียงมากๆ ก็เช่น พระแม่เศรษฐีวัดร่อนนา จังหวัดนครศรีธรรมราช, พระแม่อยู่หัวซึ่งนับถือกันว่าเป็นบรรพชนโนราที่วัดท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา (บางท่านว่า แม้จะเรียกพระแม่อยู่หัว แต่ตำนานว่าเป็นตัวแทน “พระหน่อ” บรรพกษัตริย์เพศชาย) พระแม่ชุม วัดท่าช้าง นครศรีฯ เป็นต้น

องค์หลังนี้ผมชอบมากเป็นพิเศษ เพราะท่านมีแฟนเป็นพระพุทธรูปอีกวัดหนึ่งครับ และถ้าผมจำไม่ผิดยังมี “พระแม่อยู่หัว” อีกหลายองค์ในนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงที่ผมนึกชื่อและวัดท่านไม่ออก

 

พระพุทธรูปเหล่านี้มักเป็นพระพุทธรูปยืน นิยมนำออกแห่ในงานชักพระ ปกติมีธรรมเนียมทางนครฯ ว่า พระที่นำขึ้นพนมเพื่อแห่ชักลากจะได้รับการตกแต่งเป็นพิเศษ มีเครื่องประดับต่างๆ และมีการแต่งหน้าพระพุทธรูปด้วย คือทาสีแดงที่ไรผมและทาปากสีแดง

ส่วนพระพุทธรูปที่เป็น “พระแม่” นั้น เขาจะแต่งหน้าทาปากอย่างหญิงสาวเลยครับ และเครื่องทรงก็เป็นเครื่องทรงแบบผู้หญิง ห่มผ้าสไบสีสดสวยตลอดจนมีเครื่องประดับมากมาย

อันนี้ผมเห็นว่าประเพณีชักพระ เดิมคงเป็นประเพณีนอกพุทธศาสนามาก่อน อย่างเดียวกับแห่เทวรูปของพราหมณ์ ที่เรียกว่า “รถยาตรา” เพียงแต่เปลี่ยนเอาพระพุทธรูปมาชักลากแทน กระนั้นก็ยังต้องตกแต่งพระพุทธรูปให้งามอย่างเทวรูปด้วย

นอกจากนี้ พระพุทธรูปพระแม่ทั้งหลายยังมีตำนานที่มักเชื่อมโยงไปยังสมัยอยุธยา โดยเกี่ยวพันกับสถานที่นั้นๆ และบรรพชนของคนในท้องถิ่น

ผมขอยกตัวอย่างสักสองตำนาน คือตำนานพระแม่ชุม กับพระแม่เศรษฐีให้ลองอ่านกันดูพอสังเขปนะครับ

 

ตํานานพระแม่เศรษฐีท่านเล่าว่า หลายร้อยปีก่อน มีเศรษฐีผู้หนึ่งอยู่ที่บ้านร่อนนา กรุงมาส คืออำเภอร่อนพิบูลย์ในปัจจุบัน มีลูกสาวแสนสวยน่ารักมีผิวดั่งทองอยู่คนหนึ่ง

วันหนึ่งลูกสาวและพี่เลี้ยงไปเล่นน้ำที่ “โตน” หรือน้ำตก แล้วหายสาบสูญไปโดยไม่มีผู้ใดพบศพ เศรษฐีและภรรยาจึงเศร้าโศกเสียใจมาก ได้ว่าจ้างคนมาปั้นรูปเหมือนต่างตัวลูกสาวไว้ ทว่าไม่มีใครปั้นได้เหมือน จนกระทั่งมีพราหมณ์ (เทวดาแปลง) มาปั้นเป็นพระพุทธรูปอย่างงดงามและเหมือนลูกสาวที่เสียชีวิตไปมากที่สุด

ท่านเศรษฐีจึงนำพระพุทธรูปนั้นไปยังน้ำตก แล้วอธิษฐานว่า หากลูกสาวไปเกิดยังที่ใดก็ขอให้พระพุทธรูปไปอยู่ยังที่นั่น แล้วโยนพระพุทธรูปลงในน้ำตก

พระพุทธรูปไปผุดขึ้นที่วัดคีรีวงหรือวัดร่อนนาตั้งแต่บัดนั้น

 

ส่วนตำนานของพระแม่ชุม ท่านเล่าว่า สมัยอยุธยามีเศรษฐีอยู่สองคน คนหนึ่งอยู่บ้านนาพรุ มีลูกสาวแสนสวยชื่อชุม ส่วนอีกคนอยู่บ้านสำเภา มีบุตรชื่อศรีสุวรรณ

สองคนนี้ชอบพอและรักใคร่กันดี เศรษฐีทั้งสองจึงจัดให้แต่งงานอยู่กินกัน ทั้งสองย้ายไปอยู่ท่าช้าง ทว่าไม่นานก็เกิดโรคระบาดขึ้น

แม่ชุมล้มป่วยด้วยโรคระบาด แม้พ่อศรีสุวรรณจะดูแลอย่างไรอาการก็ไม่ดีขึ้น สุดท้ายแม่ชุมก็จากไป พ่อศรีสุวรรณก็ตรอมใจตายตามไปในเวลาไม่นาน

ฝ่ายเศรษฐีทั้งสองจึงได้สร้างพระพุทธรูปแทนลูกทั้งสองของตนไว้ องค์หนึ่งจึงเป็นตัวแทนพระแม่ชุม ชาวบ้านแต่งหน้าทาปากและทรงเครื่องอย่างสตรีสีสวยสด อีกองค์เป็นพระทรงเครื่องเรียกว่าพระพ่อศรีสุวรรณ

ด้วยตำนานรักดังกล่าว ชาวบ้านจะแห่พระพุทธรูปทั้งสององค์ให้มาพบกันในงานประจำปีในเดือนสิบเอ็ด

แม้จะฟังดูแปลกๆ แต่ผมว่าก็น่ารักดีครับที่ชาวบ้านได้ช่วยให้พระพุทธรูปที่รักกันได้มาเจอกันทุกๆ ปี

 

ที่น่าสนใจที่สุดคือ บทบาทและพื้นที่ของ “ผู้หญิง” จากความเชื่อดั้งเดิม เข้าสู่พื้นที่และรูปเคารพของพุทธศาสนาได้อย่างยาวนาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ชุมชน

จึงน่าศึกษาต่อเป็นอย่างยิ่ง

หากที่อื่นมีเรื่องราวและความเชื่อทำนองนี้

วานบอก