รอยร้าวเขย่าบัลลังก์จอร์แดน / บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: King of Jordan Abdullah II addresses the European Parliament in Strasbourg, France January 15, 2020. REUTERS/Vincent Kessler/File Photo/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

รอยร้าวเขย่าบัลลังก์จอร์แดน

 

กลายเป็นประเด็นดราม่าใหญ่โตกับปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจอร์แดน ดินแดนปกครองในระบอบราชาธิปไตย ที่ถูกมองว่าเป็นปราการเสถียรภาพสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในชาติเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบ

เมื่อปรากฏคลิปวิดีโอที่ถูกส่งมาอยู่ในมือสื่อยักษ์ใหญ่อย่างบีบีซีเมื่อไม่นานนี้

เป็นคลิปที่เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน ในวัย 41 ผู้เคยได้รับการวางตัวเป็นมกุฎราชกุมารในการสืบทอดราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์ฮัชไมต์ ผู้ปกครองจอร์แดน ได้ออกมาวิพากษ์กล่าวหาคณะผู้ปกครองจอร์แดนว่าคอร์รัปชั่น เล่นพวกพ้อง และไร้ความสามารถ

โดยยังบอกว่า พระองค์เองถูกกักตัวอยู่ภายในวังกรุงอัมมานและถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทุกช่องทางทั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต แต่ที่ส่งคลิปนี้มาได้เพราะอาศัยสัญญาณดาวเทียม

คลิปดังกล่าวถูกปล่อยออกมาท่ามกลางรายงานข่าวว่าทางการจอร์แดนได้จับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยไว้ราว 16 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีแผนสมคบคิดกันบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ หนึ่งในนั้นมีสมาชิกระดับสูงในราชวงศ์ฮัชไมต์รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าก็คือ เจ้าชายฮัมซาห์ นั่นเอง

เจ้าชายฮัมซาห์เป็นใคร มีลำดับชั้นความสำคัญอย่างไรในราชวงศ์ฮัชไมต์ในปัจจุบัน

 

ก่อนอื่นต้องบอกว่า หากไม่เกิดเหตุสะดุดทางการเมือง เจ้าชายฮัมซาห์คงได้นั่งบัลลังก์ปกครองจอร์แดนอยู่ในตอนนี้

เพราะเจ้าชายฮัมซาห์ พระโอรสองค์โตองค์โปรดในกษัตริย์ฮุสเซนผู้ล่วงลับ กับราชินีนูร์ พระมเหสีองค์ที่ 4 ของพระองค์ ได้รับการสถาปนาจากพระบิดาให้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งจอร์แดนในปี 1999 แต่หลังจากกษัตริย์ฮุสเซนเสด็จสวรรคต กลับกลายเป็นกษัตริย์อับดุลลอฮ์ พระโอรสพระองค์โตของกษัตริย์ฮุสเซนกับเจ้าหญิงมุนา พระมเหสีองค์ที่ 2 ที่ได้ก้าวขึ้นครองบัลลังก์ปกครองจอร์แดนแทน เนื่องจากมีความเห็นควรในแง่ของความเหมาะสมทั้งในเรื่องของคุณวุฒิและวัยวุฒิ

ซึ่งหลังจากนั้นราว 5 ปี กษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงได้สั่งปลดเจ้าชายฮัมซาห์พ้นจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร

แล้วทรงแต่งตั้งเจ้าชายอัล-ฮุสเซน พระโอรสในพระองค์เองขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน

นั่นเป็นจุดพลิกชะตาชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ของเจ้าชายฮัมซาห์!

 

ในระยะหลังเจ้าชายฮัมซาห์ทรงเข้าไปมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำชนเผ่าต่างๆ ในจอร์แดนที่เป็นเสาหลักค้ำจุนราชวงศ์ฮัชไมต์มากขึ้น

นี่อาจเป็นอีกชนวนหนึ่งที่จุดบรรยากาศตึงเครียดขึ้นในราชวงศ์

หลังถูกกักตัว เจ้าชายฮัมซาห์ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อพระองค์ โดยโต้กลับว่าการจับกุมคุมขัง เป็นหนึ่งในความพยายามของผู้มีอำนาจปกครองที่ต้องการจะปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

แม้ในถ้อยคำกล่าวหาของเจ้าชายฮัมซาห์จะไม่มีคำใดที่เป็นการเอื้อนเอ่ยถึงกษัตริย์อับดุลลอฮ์ พระเชษฐาของพระองค์โดยตรง

แต่การออกมาเคลื่อนไหวของเจ้าชายฮัมซาห์กำลังตีแผ่ให้เห็นถึงรอยร้าวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในราชสำนักอย่างเด่นชัด

และยังสะท้อนวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ในจอร์แดน ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ท้าทายอำนาจอย่างมีนัยสำคัญของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ ผู้ปกครองอาณาจักรจอร์แดนได้อย่างมั่นคงมานานถึง 22 ปี

 

นอกจากเจ้าชายฮัมซาห์แล้ว หนึ่งในผู้ถูกจับกุมคนสำคัญอีกรายคือ บาสเซม อวาดัลลอฮ์ อดีตหัวหน้าราชสำนักจอร์แดน และยังเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ที่โลกต่างรับรู้ว่าเขาคือผู้ปกครองตัวจริงของซาอุฯ

การมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลทรงอิทธิพลจากภายนอกของอวาดัลลอฮ์ จุดข้อสงสัยว่าแผนการบ่อนทำลายความมั่นคงของจอร์แดน จะต้องมีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่ทางการจอร์แดนยังคงกำลังสอบสวนอยู่

แน่นอนว่าซาอุดีอาระเบียที่ตกเป็นเป้าต้องสงสัย ได้ออกมาปฏิเสธทันควันว่าไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความพยายามใดๆ ที่จะเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพความมั่นคงในจอร์แดน

โดยยังได้ส่งเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ เดินทางไปกรุงอัมมานด้วยตัวเองเพื่อแสดงความสนับสนุนและความเป็นหนึ่งเดียวกับกษัตริย์อับดุลลอฮ์และรัฐบาลจอร์แดน

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดกษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงออกโรงเคลื่อนไหวด้วยการย้ำให้ความมั่นใจกับชาวจอร์แดนว่าวิกฤตแห่งการปลุกปั่นบ่อนทำลายชาติได้ยุติลงแล้ว หลังจากที่พระองค์ทรงสามารถตัดไฟได้ตั้งแต่ต้นลมก่อนที่ไฟจะลุกลามไหม้บ้าน

เป็นท่าทีดับวิกฤตปัญหาที่มีขึ้นหลังจากเจ้าชายฮัมซาห์ได้ให้คำมั่นว่าจะยังคงความภักดีต่อกษัตริย์อับดุลลอฮ์และยึดมั่นในผลประโยชน์แห่งชาติไว้เหนือสิ่งอื่นใด

ส่วนในความเป็นจริงแล้ว ปมลึกของไฟแห่งความขัดแย้งภายในชนชั้นปกครองของจอร์แดนจะสงบแล้วจริงหรือไม่ คงต้องรอดูสถานการณ์กันไปยาวๆ