E-DUANG : คำถาม ถึงนโยบาย “วัคซีน” คำถาม ถึงทางเลือก ของไทย

กรณีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กรณีของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำ เนิด ทำให้มีการตั้งคำถามกับบทบาทและความหมายของ”วัคซีน”ลึกซึ้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่ข้อสงสัยว่าทั้งๆที่ฉีดวัคซีนแล้วเหตุใด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังติดไวรัส โควิด-19

หากแต่ยังกลายเป็นประเด็นว่า แผนการสั่งจองวัคซีนที่รัฐบาล ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2563 มีความรัดกุมและครอบคลุมกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เพียงไร

การฝากความหวังไว้แต่เพียงวัคซีนไม่กี่ยี่ห้อ กระทั่งนำไปสู่การเข้าร่วมในบางโครงการกระจายวัคซีนขององค์การอนามัยโลกอย่างที่เรียกว่า”โคแว็กซ์”นั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่

คำถามเหล่านี้ไม่เพียงแต่ดังขึ้นภายในแวดวงทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น หากแม้กระทั่งในแวดวงทางธุรกิจก็มีความแคลงคลางกังขาเป็นอย่างสูง

เป็นความกังขาถึงขนาดที่ว่าทำไมรัฐบาลถึงได้”ผูกขาด”การสั่งทั้งๆที่ไม่สามารถกระจายได้อย่างกว้างขวาง หลากหลาย

 

ปฏิกิริยาหนึ่งซึ่งกำลังเกิดการถกเถียงและนำเสนออย่างคึกคักเป็นอย่างมากก็คือ แนวคิดที่ว่ารัฐบาลควรเปิดกว้างการนำเข้าวัคซีนให้หลากหลายยี่ห้อ

 โดยไม่จำกัดตายตัวอยู่เพียง 2 ยี่ห้อซึ่ง 1 มาจากจีน และ 1 มาจากอังกฤษ

ข้อเสนอจากแวดวงธุรกิจที่เริ่มมีผู้เห็นด้วยอย่างกว้างขวางก็คือ รัฐบาลควรจะเปิดเสรีให้กับวัคซีนยี่ห้ออื่น ไม่ว่าจะมาจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะมาจากสวิสเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะมาจากรัสเซีย

การแทงม้าเพียงบางยี่ห้อก็เริ่มปรากฏผลอันอยู่เหนือการคาดคิดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความจำกัด ไม่ว่าจะเป็นข่าวในทางลบที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย

คำถามนี้พุ่งตรงไปยังวิจารณญาณของ”รัฐบาล”โดยตรง

กลายเป็นความสงสัยในเรื่องการเปิดกว้าง กลายเป็นความสงสัยในเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน

 

ยิ่งเมื่อเกิดกรณีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ คำถามต่อประเด็นในเรื่องวัคซีนยิ่งลงลึก เนื่องจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อ้างว่าได้ผ่าน การฉีดวัคซีนมาแล้ว

คำถามว่าด้วย”วัคซีน”จึงกลายเป็นปม กลายเป็นความรับผิดชอบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยากจะปฏิเสธได้