คุยกับ ‘ณัฐวุฒิ’ สถานะ ‘คนเสื้อแดง’ และการเมืองไทยที่ ‘เปลี่ยน’ ไปมาก / เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

คุยกับ ‘ณัฐวุฒิ’

สถานะ ‘คนเสื้อแดง’

และการเมืองไทยที่ ‘เปลี่ยน’ ไปมาก

 

สองวันหลังจากถอดกำไลอีเอ็ม ซึ่งถือเป็นการได้รับอิสรภาพอย่างสมบูรณ์แบบ ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี รีบติดต่อขอสัมภาษณ์ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำคนเสื้อแดงรายสำคัญ ทันที

เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” อีกครั้งของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

แม้เนื้อหาต่อไปนี้ จะนับเป็นเพียง “หนึ่งในสี่” ของบทสนทนาฉบับเต็ม แต่ก็รับประกันความเข้มข้นและการก่อเชื้อไฟทางความคิดได้เป็นอย่างดี

: หลังได้รับอิสรภาพ คุณจะกลับมาเป็นแกนนำมวลชนหรือไม่?

ก็ยังไม่มีแนวคิดจะขับเคลื่อนมวลชนหรือตั้งเวทีปราศรัยเอง รวมกระทั่งไปขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมืองที่ไหน แต่ว่าการติดตามสถานการณ์ทางการเมืองก็จะทำอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์ในและนอกสภา

การประกาศจุดยืนเคียงข้างนักศึกษา-ประชาชนที่เขายังต่อสู้อยู่ก็ชัดเจนอยู่แล้วในตัว ส่วนว่าบทบาทที่จะเป็นรูปธรรมในการที่จะออกไปยืนเพื่อจะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือว่าเพื่อที่จะมีท่าทีใดๆ อันจะเป็นประโยชน์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็คงเป็นไปตามสถานการณ์

เพราะว่าข้อห้ามหรือว่าข้อกำหนดใดๆ จากการคุมประพฤติ จากการพักโทษ ยุติครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้น การแสดงออกทางการเมืองทำได้ในทุกมิติภายใต้กรอบของกฎหมาย ยกเว้นอย่างเดียวก็คือลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง เพราะว่าถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี

: แนวทางทางการเมืองของคุณเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? หลังจากเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว

ตลอดเวลาสิบกว่าปีนี่ ผมทำแฮตทริกเรื่องการติดคุกไปแล้ว เพราะว่าติดแล้วสามครั้ง แล้วมองดูสถานการณ์ข้างหน้า ไม่กล้ารับปากใครเลยว่าจะไม่ติดอีก

อย่างไรก็ตาม วันเวลามันผ่านไป เราก็อยู่ในภาวะที่เห็นคนรุ่นใหม่ๆ เขาเติบโตขึ้นมา แล้วเขายืนอยู่บนเวทีต่อสู้ หลายเรื่องราวหลายมุมของเหตุการณ์ที่เราผ่านพบ มันก็เกิดเป็นประสบการณ์ มันก็เกิดเป็นการตกผลึกจากมุมมองส่วนตัว

ดังนั้น ใครก็ตามที่ออกมาต่อสู้ในหลักการประชาธิปไตย ยืนยันหลักการของ “คนเท่ากัน” ผมทำได้อย่างเดียวคือต้องเคียงข้างหรือให้การสนับสนุน แต่ว่าโดยบทบาท ผมคิดว่าวันเวลาของผมที่จะไปแสดงตัวเป็นแกนนำเช่นนั้น มันน่าจะเลยมาแล้ว

วันนี้ เมื่อคนหนุ่มคนสาวเขาเอาชีวิต เอาอิสรภาพวางเป็นเดิมพัน แล้วเขาประกาศการต่อสู้ มีประวัติศาสตร์ มีความผูกพัน มีความเจ็บปวดร่วมกันมา เราก็ต้องเคารพในบทบาทของเขา

เมื่อวาน (30 มีนาคม) ตอนแถลงข่าว ก็มีสื่อมวลชนเขาสอบถามว่าจะประกาศออกไปเป็นแกนนำต่อสู้เลยไหม? อย่างไร? ผมคิดว่านั่นเป็นเรื่องที่เราต้องรอบคอบรัดกุม เพราะคนที่เขาทำหน้าที่เป็นแกนนำ คนที่เขายืนอย่างมั่นคงเข้มแข็ง เขาก็ยังไม่ย่อท้อ แล้วเขาก็ยังเดินหน้าต่อไป

: “รอบคอบ” ในความหมายนี้ คือ “รอบคอบ” อย่างไร?

มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพียงแต่ว่าจากช่วงเวลาก่อนๆ ที่เราอาจจะเข้มข้น อาจจะร้อนแรง อาจจะรวดเร็ว ก็คงจะสุขุมลุ่มลึกมากขึ้น คงจะทำอะไรแล้วให้มันเหมาะกับสถานะของตัวเอง ให้มันเหมาะกับบทบาทของตัวเอง

ผมว่าสิ่งหนึ่งที่คนที่ยืนอยู่ในสนามต่อสู้เป็นเวลานานๆ ควรจะคิดให้ได้ก็คือความพอดี ตรงไหนที่มันจะเป็นประโยชน์ ตรงไหนที่จะเป็นความพอดี ภายใต้วิธีคิดที่ต้องเคารพและต้องให้เกียรติทุกคนที่เขากำลังยืนต่อสู้อยู่ด้วย

วันนี้ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าหรือมีศักยภาพสูงกว่าน้องๆ ที่เขากำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ และผมก็ไม่ได้เคยคิดหรือเคยทำ ว่าจะออกมาให้ข้อเสนอแนะชี้นำใดๆ ตราบเท่าที่ยังไม่มีใครถาม หรือตราบเท่าที่เรายังไม่เห็นว่ามันเป็นจังหวะเวลาที่เราจะควรทำเช่นนั้น

มันต้องคิดถึงบรรยากาศที่เราเคยสู้อย่างเข้มข้น เวลานั้นเรามีองค์กรนำ เวลานั้นเรามีพี่น้องเพื่อนฝูงที่ทำงานกันอยู่ แน่นอน การต่อสู้การขับเคลื่อนทุกขบวนไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แต่ว่าคนที่เขากำลังยืนหลังพิงกันอยู่ ใจประสานใจกันอยู่ เขาทำ เราต้องเคารพกัน

อย่างไรก็ตาม ผมก็มีข้อห่วงใย เรื่องแนวคิดแนวทางของคนหนุ่มคนสาวที่เขาขับเคลื่อนกันอยู่บ้าง แต่ผมสังเกตดูก็พบว่าข้อห่วงใยดังกล่าวของผมมันอาจจะไปคล้ายๆ กับหลายๆ คน เขาได้แสดงความเห็นกันไปแล้ว

และก็หวังใจว่าคณะแกนนำหรือพี่ๆ น้องๆ ที่เขากำลังทำหน้าที่ เขาก็จะได้สรุปบทเรียน จะได้ตกผลึก แล้วก็ทำให้ข้อห่วงใยนั้นมันดูรัดกุมมากขึ้น มันดูเข้มแข็งมากขึ้น

: หลังจากนี้ นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ควรจะไปต่อหรือหยุดเพียงแค่นี้?

องค์กรนำของ นปช. ถ้าเราดูโมเดลแบบปี 2552-2553 มันไม่ได้ดำรงสภาพมาเป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ไม่ได้มีการประชุมร่วมกัน ไม่ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนทัศนะหรือความคิดเห็นทางการเมือง

“ความเป็นคนเสื้อแดง” ยังอยู่ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ยังอยู่ ผมเองก็ไม่เคยที่คิดจะเลิกเป็นคนเสื้อแดง หรือปิดบังสถานะนี้ เพียงแต่ว่าความเป็นองค์กรนำ เมื่อมันไม่ได้ดำรงสภาพแล้ว หลังจากนี้ พี่น้องที่ร่วมกันต่อสู้ก็คงจะเดินไปตามวิถีทางของแต่ละคนแต่ละส่วน

อย่างผมก็มีพี่ๆ น้องๆ จำนวนหนึ่งที่ยังพบปะกัน พูดคุยปรึกษาหารือกัน เราก็จะเดินไปตามแนวทางที่เราเห็นชอบหรือว่ามีข้อสรุปร่วมกัน

: เราจะได้เห็นภาพคนเสื้อแดงจำนวนมหึมาไปรวมตัวกับคณะราษฎรหรือไม่?

ผมคิดว่าพี่น้องคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยเขาก็ไปร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษากับกลุ่มประชาชน ณ ปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าถ้าแกนนำชุดเดิมๆ ไม่ปรากฏตัว พี่น้องเสื้อแดงก็จะไม่ต่อสู้ หรือจะหยุดการต่อสู้เพื่อรอคอยใคร ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น

ดังนั้น ผมว่าพลังของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันไม่ได้เป็นของใครหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ มันเป็นของคนแต่ละคน ที่เลือกคิดเลือกเชื่อเลือกตัดสินใจที่จะเดินไปตามแนวทางไหน

คนเสื้อแดง ซึ่งแน่นอนเราต่อสู้กันมาสิบกว่าปี เรามีโครงสร้าง เรามีระบบการจัดตั้ง เรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งพอสมควรในช่วงก่อนหน้านี้ แต่เมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวในนามองค์กรนานๆ เข้า โครงสร้างหรือเครือข่ายมันอาจจะอ่อนแรงลงไปบ้าง แต่หัวใจและจิตวิญญาณของทุกคน ผมเชื่อว่ามันยังคงเข้มแข็งอยู่

และผมเชื่อว่าสู้กันมาขนาดนี้ คนเสื้อแดงทุกคนตัดสินใจเองได้ คนเสื้อแดงทุกคนเป็นแกนนำของตัวเองได้

: การเมืองไทยจะมีจุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นะครับ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเคลื่อนไหว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมืองหลายๆ อย่าง เวลานี้ เราอาจจะมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย จากการมีม็อบขึ้นมาไล่รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ จนปัจจุบัน ก็มีม็อบมาไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หรือมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ผมยกตัวอย่างกับพรรคพวกว่า ถ้าเกิดเราหลับไปตั้งแต่สมัยพันธมิตรฯ (คนเสื้อเหลือง) ออกมายุคแรก แล้วมาตื่นขึ้นวันนี้ มองภาพเร็วๆ ก็อาจจะบอกว่ามันไม่ไปไหนเลย มันก็อย่างเก่า มีรัฐบาล แล้วก็มีการไล่รัฐบาล โดยกำลังของมวลชน แล้วก็อาจจะนำไปสู่การรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบอื่น

แต่ว่าถ้าดูดีๆ ผมว่ามันเปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเดินไปไกล ก็คือวิธีคิดของคน การเดินทางทางความคิดของคน จากปี 2548 ถึง 2564 มันมาเร็ว มันมาแรง แล้วก็มันมาไกล

ผมอยากจะให้ทุกคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายผู้มีอำนาจ อ่านสัญญาณนี้ให้ออก ฝ่ายที่กำลังต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็อย่าท้อถอยหมดกำลังใจ เราไม่ได้ย่ำอยู่กับที่หรอกครับ รูปแบบหรือโครงสร้างของเหตุการณ์มันอาจจะยังไม่เปลี่ยน แต่รูปการณ์ทางความคิดของคนมันเปลี่ยนไปไกลมาก

ถ้าทุกฝ่ายแปลสัญญาณนี้ได้ เข้าใจสัญญาณนี้ตรงกัน ผมว่าความหวังที่จะเห็นทางออกของสถานการณ์โดยสันติมันจะมีมากขึ้น