ปิดกล้อง-ปิดไมค์ หวาดระแวงไว้เป็นเรื่องดี / Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Cheerful woman blogger in trendy sunglasses recording webcam video of herself to post it on her blog, using wireless internet connection, sitting at cafe table with fresh orange juice and food

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ปิดกล้อง-ปิดไมค์

หวาดระแวงไว้เป็นเรื่องดี

 

ถึงแม้ว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยแทบจะเรียกได้ว่ากลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ เดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงานตามปกติแล้ว

แต่ความนิยมของการประชุมออนไลน์หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ก็ไม่ได้หายไปไหน ฉันยังคงมีนัดประชุมออนไลน์อยู่เรื่อยๆ

เพราะภายในช่วงปีที่ผ่านมาการประชุมออนไลน์ได้กลายเป็นทางเลือกที่ดีที่ทำให้เราสามารถคุยงานได้โดยไม่ต้องออกจากบ้านไปฝ่าการจราจรที่ติดขัดเพื่อเจอหน้ากัน

การประชุมออนไลน์ที่เกิดขึ้นได้บนหลายแพลตฟอร์มทำให้ผู้ใช้งานอย่างเราต้องตอบตกลงอนุญาตให้แอพพ์ต่างๆ สามารถเข้าถึงกล้องและไมโครโฟนของเราได้

Kaspersky บริษัทผู้นำซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและรักษาความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ตได้รายงานตัวเลขว่ามีผู้ใช้งานราว 23% ทั่วโลกได้ตั้งค่าให้แอพพ์อะไรก็ได้สามารถเปิดใช้งานไมโครโฟนและกล้องของคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนของตัวเองได้เลย

ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดเครื่องมือทั้งสองอย่างเอาไว้ให้เข้าถึงได้ง่ายจะเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานให้เรา

แต่อันที่จริงแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ปลอดภัยสักเท่าไหร่

ซึ่ง 59% ของคนที่ตอบแบบสอบถามของ Kaspersky ก็บอกว่ารู้ดีว่ามีปัญหาเรื่องการแอบสอดส่องผ่านกล้องและไมโครโฟนที่เปิดเอาไว้

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ที่เราจะต้องคอยระแวดระวังและตรวจสอบแอพพ์ที่ขอเข้าถึงกล้องและไมค์ของเราทั้งที่รูปแบบการใช้งานแอพพ์เหล่านั้นไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานกล้องและไมค์เลย

แต่ด้วยความที่เราเคยชินกับการให้อนุญาต เราก็อาจจะเผลอกดให้แอพพ์เหล่านี้ผ่านเข้าไปได้

 

Apple เจ้าของระบบปฏิบัติการ iOS ได้พยายามช่วยป้องกันช่องโหว่ตรงนี้ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ใน iOS 14 เป็นต้นไปให้ขึ้นสัญลักษณ์หรือไฟเตือนผู้ใช้งาน iPhone ได้รู้ว่ามีแอพพ์ที่กำลังใช้งานกล้อง ไมโครโฟน หรือโลเกชั่นของเจ้าของเครื่องอยู่ และจะคอยมีหน้าต่างเด้งเตือนขึ้นมาเป็นระยะๆ ทำให้เรารู้ตัวและกดปิดได้ และด้วยความที่เป็นฟีเจอร์ที่ฝังมากับระบบปฏิบัติการเลยก็ทำให้ไม่มีแอพพ์ไหนสามารถหลอกระบบได้

แม้จะมีเครื่องมือทันสมัยคอยช่วยอยู่บ้าง แต่การมีตัวป้องกันที่เป็นแบบพื้นฐานสุดๆ ที่จับต้องได้อย่างการเอาสติ๊กเกอร์หรือโพสต์อิตมาแปะกล้องเอาไว้ก็ยังเป็นมาตรการป้องกันที่ดีอยู่เสมอ การันตีโดย Mark Zuckerberg เพราะเคยมีคลิปวิดีโอหนึ่งที่เผยให้เห็นว่าเขาก็แปะกระดาษเอาไว้บนกล้องเว็บแคมของคอมพิวเตอร์ตัวเองเหมือนกัน

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการคอยเช็กแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เราติดตั้งเอาไว้ทั้งในคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน ว่ามีแอพพ์ไหนบ้างที่มีสิทธิในการเข้าถึงกล้องและไมค์ของเราได้ และจัดการลบแอพพ์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว

หรือปิดการเข้าถึงกล้องกับไมค์สำหรับแอพพ์ที่ไม่มีความจำเป็นทิ้งไปให้หมด

 

เรื่องการป้องกันความปลอดภัยจากการที่คนอื่นอาจจะเข้ามาสอดส่องเราผ่านกล้องและไมโครโฟนของโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของเราได้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ปรากฏการณ์อีกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวฉันและอีกหลายๆ คนในช่วงปีที่ผ่านมาที่เราวิดีโอคอลล์กันหนักหน่วงขึ้นก็คืออาการหวาดผวาว่า เราปิดไมค์และกล้องแล้วหรือยัง

ข้อดีของการประชุมออนไลน์ก็คือเราสามารถประชุมมาจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งในขณะเดียวกันสิ่งนั้นก็อาจจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ หากเรานั่งประชุมอยู่ที่บ้านหรือแม้แต่ที่โต๊ะทำงานในออฟฟิศ เราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่า ณ วินาทีไหน สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานที่เดินผ่านไปผ่านมาจะโพล่งอะไรขึ้น หรือทำอะไรเปิ่นๆ ให้คนอื่นเห็นอยู่ในเฟรมกล้อง

ครั้นจะป้องกันด้วยการปิดกล้องหรือปิดไมค์เอาไว้ก่อน การประชุมบางอย่างก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้เพราะองค์ประชุมต้องการเห็นหน้าทุกคน และต้องการเห็นปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างฉับพลันด้วย

ร้ายแรงที่สุดคือธรรมชาติความขี้เมาธ์ของมนุษย์ในยามที่เรานึกว่าไม่มีบุคคลที่สามจะมองเห็นหรือได้ยินเรานั่นแหละ บางทีเราก็เมาธ์กันซึ่งๆ หน้า กดปิดไมค์ปุ๊บก็หันไปนินทาคนในห้องประชุมออนไลน์กับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ กันทันที ซึ่งการเผอเรอลืมปิดไมค์แล้วนินทาคนอื่นแบบเผ็ดร้อนก็เคยเกิดขึ้น

จนเป็นมีมบนโลกอินเตอร์เน็ตให้คนฮากันทั่วโลกก็มีมาแล้ว

 

ฉันพบว่าตัวเองก็มีอาการหวาดระแวงแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา ทุกครั้งที่เข้าประชุมออนไลน์ ฉันจะต้องเช็กแล้วเช็กอีกว่าปิดไมโครโฟนแล้ว ปิดกล้องแล้ว

แต่ยังเจอเหตุการณ์ที่บางครั้งมั่นใจเต็มร้อยว่าปิดทุกอย่าหมดจดแล้วหันไปคุยเรื่องส่วนตัวกับคนข้างๆ เพียงเพื่อจะหันกลับมาแล้วพบว่าไมค์กลับเปิดขึ้นมาได้ในแบบที่หาสาเหตุแน่นอนไม่พบ

อาการหวาดผวานี้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อแอพพลิเคชั่น Clubhouse ได้รับความนิยม

คนใช้ Clubhouse ที่เคยรับบทเป็นผู้พูดน่าจะพอรู้อยู่แล้วว่าทุกครั้งที่เราเข้าไปร่วมฟังบทสนทนาในห้องไหน แล้วเจ้าของห้องดึงให้เราขึ้นมาเป็นผู้พูดด้านบนบ้าง ระบบจะเปิดไมโครโฟนให้เราเองโดยอัตโนมัติ

จากประสบการณ์การจัดห้องมาหลายครั้งทำให้ฉันได้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่าคนที่ถูกดึงขึ้นมามักจะไม่รู้ตัวว่าไมค์ตัวเองถูกเปิดแล้วและยังตะโกนโหวกเหวกคุยกับคนในบ้านให้คนทั้งห้อง Clubhouse ร่วมฟังไปด้วย และนอกจากการถูกเปิดไมค์โดยอัตโนมัติแบบนี้ ก็ยังมีการเผลอกดปุ่มเปิดไมค์ของตัวเองอีก

อันที่จริงแล้วปัญหาแบบนี้สามารถแก้ไขได้โดยผู้ออกแบบระบบเองที่จะใส่ฟีเจอร์ป้องกันเข้าไปอีกชั้น อย่างการตั้งค่าเริ่มต้นให้ไมค์ปิดเอาไว้เสมอแม้ผู้ใช้งานจะถูกดึงไปเป็นสปีกเกอร์ หรือการใส่เสียงหรือข้อความบางอย่างไว้เตือนเป็นระยะๆ ซึ่งก็ต้องฝากความหวังเอาไว้ให้เจ้าของระบบลงมือทำสักวันหนึ่ง

ในระหว่างนี้ สิ่งที่เราในฐานะผู้ใช้งานพอจะทำได้ก็คือการต้องปลูกฝังนิสัยของการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ให้ละเอียดว่ามีอะไรกำลังเปิดใช้งานไมโครโฟนหรือกล้องของเราอยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่หวังดีแอบใช้เครื่องมือของเรามาสอดส่องเราได้

และเมื่อไหร่ก็ตามที่เข้าร่วมประชุมออนไลน์หรือกดเข้าไปฟังเซสชั่นใน Clubhouse ก็ให้คิดเผื่อกรณีที่แย่ที่สุดเอาไว้ว่าภาพและเสียงของเราอาจจะถูกถ่ายทอดออกไปทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจได้ทุกเมื่อ จึงต้องสำรวม ระมัดระวังพฤติกรรมตัวเองจนกว่าจะปิดแอพพ์นั่นแหละถึงค่อยกลับมาทำตัวสบายๆ ได้

ถึงจะดูเหนื่อย แต่คิดเสียว่าอย่างไรก็เหนื่อยน้อยกว่าการคอยมาตามแก้ข้อผิดพลาดแน่นอน