E-DUANG : มองภาพ เคลื่อนไหว การเมือง มองผ่าน ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์

หากมองในทาง”ยุทธศาสตร์” เป้าหมายของ”แนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม” กับ เป้าหมายของ REDEM เป็นเอกภาพ เป็นอัน หนึ่งอันเดียวกัน

หากมองอย่างให้เครดิตกับการเคลื่อนไหวของ”แนวร่วมธรรม ศาสตร์และการชุมนุม”เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

คำว่า “ปฏิรูปสถาบัน” อันมาจากคำแถลง 10 ข้อโดย น.ส.ปภัสรา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ”รุ้ง” ก็ถูกแปรมาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านรูปประโยค”จำกัดอำนาจ”ของ REDEM อย่างสั้นกระชับ

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าในเรื่องข้อเรียกร้องต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นไปจากอำนาจ ข้อเรียกร้องต้องการให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อันเป็นประชาธิปไตยก็ดำรงคงอยู่

ไม่ว่าคำปราศรัยของ”เบนจา” ไม่ว่าคำปราศรัยของ”น้องมายด์” ไม่ว่าคำปราศรัยของ”ครูใหญ่”ก็ดำเนินไปตามยุทธศาสตร์ซึ่งเห็นร่วมกันจากการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563

และต่อเนื่องเรื่อยมากระทั่งยกระดับขึ้นเป็น”คณะราษฎร 2563”ในเดือนตุลาคม อันถือว่าเป็นจุดสูงสุดของการเคลื่อนไหว

 

ความแตกต่างระหว่าง”แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” กับที่ปรากฏผ่าน REDEM จึงเสมอเป็นเพียงความแตกต่างในเรื่องรูปแบบและกลยุทธ์

นั่นก็คือ เป็นความแตกต่างในทาง”ยุทธวิธี” มิได้เป็นความแตกต่างในทาง”ยุทธศาสตร์”

ในทางเป็นจริง พัฒนาการอันปรากฏผ่าน REDEM ก็เสมอ เป็นเพียงความพยายามในการค้นหา”ยุทธวิธี”เพื่อนำมาใช้ในห้วงซึ่งถือว่าเป็นกระแสต่ำในทางการเมือง

เนื่องจาก 1 แกนนำถูกอำนาจรัฐรวบตัวไปอย่างต่อเนื่อง เป็นการรวบตัวและคุมขังแม้จะอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ขณะเดียวกัน 1 อำนาจรัฐเริ่มใช้ความรุนแรงเข้ามาสกัดขัดขวาง

สัมผัสได้จากกระสวนการสลายการชุมนุมในเดือนมีนาคม

เป้าหมายเฉพาะหน้าของกลุ่ม REDEM ก็เพื่ออาศัยรูปการใหม่ของการเคลื่อนไหวมาเป็นการตอบโต้และเปิดโปง

 

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวในแบบของ REDEM ไม่ว่าการเคลื่อนไหวในแบบของ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงเป็นเพียง”ยุทธวิธี”ที่แตกต่างกันภายใต้”ยุทธศาสตร์”เดียวกัน

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องมองอย่างวิเคราะห์ พิจารณาอย่างจำแนกแยกแยะเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันอันเป็นเอกภาพ