วิกฤตินิเวศกับธรรมชาติของมนุษย์ / วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (18)

 

วิกฤตินิเวศกับธรรมชาติของมนุษย์

มีบางความคิดเห็นว่ามนุษย์มีธรรมชาติบางอย่าง บางส่วนคล้ายกับสิ่งมีชีวิตอื่น บางส่วนมีลักษณะเฉพาะของมนุษย์ เช่น การรู้จักใช้ไฟ เครื่องมือ ภาษาและการผลิต ที่ได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยลำดับ จนอารยธรรมเกือบทั้งหมดล่มสลาย และเกิดวิกฤตินิเวศโลกในขณะนี้

แต่มีบางกลุ่มแย้งว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่มี เพราะว่ามนุษย์สร้างสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นเหมือนกรอบหรือสิ่งห่อหุ้มการดำเนินชีวิต

ถ้าจะมีก็มีแต่ธรรมชาติทางสังคมของมนุษย์

นั่นคือธรรมชาติมนุษย์ขึ้นกับสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น ถ้าสร้างสังคมใหม่ขึ้นได้ ก็จะเปลี่ยนธรรมชาติของมนุษย์ได้

แต่ผู้ที่เชื่อในความคิดธรรมชาติของมนุษย์ ก็ไม่ได้เห็นพ้องด้วยชี้ว่า มนุษย์ขณะนี้ที่ผ่านยุคแสงสว่างทางปัญญามาแล้ว จนอยู่ในยุคอวกาศ ก็ยังคงมีสมองเหมือนมนุษย์ถ้ำโบราณ มีสัญชาตญาณไม่ต่างกัน

การถกเถียงเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ยังไม่จบ

ทั้งนี้เพราะว่าหากยอมรับว่าธรรมชาติมนุษย์ชอบก่อสงคราม กดผู้อื่นให้ต่ำเตี้ย รวมทั้งทำให้เกิดวิกฤติภูมิอากาศ ก็เป็นเรื่องที่เลวร้ายเกินกว่าที่จะยอมรับได้

เพราะว่ามนุษย์ก็มีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือการปฏิเสธความเป็นจริง หรือปฏิเสธความตาย

และถือว่าตนเองเป็นสัตว์พิเศษที่มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้

 

เราจะพักเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ไว้ก่อน และไปกล่าวถึงความคิดวิกฤตินิเวศกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมีนักคิดนักวิชาการจำนวนไม่น้อยนำเสนอ

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเจย์ แฮนสัน (Jay Hanson) เป็นวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ ชาวสหรัฐ ทำงานมีรายได้งาม จนมีเวลาว่างจากการต้องประกอบอาชีพ หันมาศึกษาและเผยแพร่ผลงานในสิ่งที่เขาสนใจได้แก่ การวาดภาพใหญ่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ พฤติกรรมมนุษย์ และพลังงานสุทธิ (Net Energy)

สร้างเว็บไซต์ “อาหารสมอง” ในทศวรรษ 1990 และได้ตั้งเว็บไซต์ชื่อ “ตายเหมือนใบไม้ร่วง” (Dieoff.org) ที่รู้จักแพร่หลาย มีสาระสำคัญว่า ผู้คนจะพากันล้มตายมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรโลก ในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

หลังจากศึกษาจนมีความเห็นแจ้ง ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความยั่งยืนขึ้นได้ จึงเลิกทำเว็บไซต์ “ดายออฟ” ในปี 2003 ยกให้ผู้อื่นทำ

เขาได้เดินทางไปทั่วโลก แต่ก็ยังให้สัมภาษณ์ เขียนและปรับปรุงบางบทความของเขา

เขาเสียชีวิตกะทันหันหลังจากไปดำน้ำที่อินโดนีเซียในปี 2019

แฮนสันได้สรุปความเป็นมาและองค์ประกอบทางความคิดของเขาในบทความชื่อ “ลาก่อนดายออฟ” (Farewell Dieoff.org ปี 2003) ไว้

ดังนี้

 

เริ่มต้นด้วยความยั่งยืน แฮนสันสนใจศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 โดยเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ มีความไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง และทำลายตนเอง เป็นกระบวนการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นขยะอย่างมีการจัดตั้งอย่างดี ผู้นำทางการเมืองก็ไม่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหา ตามที่กล่าวไว้ในตำรา

จากการศึกษาเขาพบว่าอเมริกาไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หากปกครองด้วยระบอบเศรษฐยาธิปไตย หรือธนาธิปไตย (Plutocracy)

จากนี้พบว่าวิชาสังคมศาสตร์ (กระแสหลัก) ทั้งปวง เป็นเพียงโปรแกรมเพื่อการหาเหตุผลให้แก่ระบบเศรษฐยาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้นเขายังพบว่าเศรษฐกิจของโลกมีรากฐานบนคำสอนของศาสนาคาทอลิก

ดังนั้น แฮนสันจึงได้ศึกษาหาฐานความรู้ใหม่ เพื่อการสร้างความยั่งยืน พบกฎ 2 ประการ

คือ กฎพลังงาน และกฎการพัฒนาเชิงชีวะ

 

1)กฎพลังงาน มีอยู่ 3 ข้อ คือ

ก) เราไม่สามารถสร้างพลังงานใหม่ได้ ทำได้เพียงเปลี่ยนรูปของพลังงาน ต้องใช้พลังงานเพื่อผลิตพลังงาน เมื่อหักพลังงานที่ใช้ออกจากพลังงานที่ได้ก็จะเหลือพลังงานสุทธิที่นำไปใช้ได้จริง

ข) พลังงานทั้งหลายต้องเสื่อมไปในอัตราต่างๆ

ค) การแปรพลังงานสุทธิให้มีคุณภาพในการผลิตสินค้าและบริการ

ข้อท้ายนี้ได้อิทธิพลจากโฮเวิร์ด ที. โอดัม (Howard T. Odum 1924-2002) นักนิเวศวิทยาชาวสหรัฐ จากการศึกษากฎพลังงานพบว่า ระบบทุนนิยมไม่เข้ากับกฎนี้และไม่มีวันจะยั่งยืน

2) กฎการพัฒนาเชิงชีวะ (ฺBiological Evolution Laws)

เพื่อเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ทางออกในการสร้างความยั่งยืน กฎนี้เข้าใจยากและใช้เวลานานปี ผลสรุปได้จากการศึกษา 2 ด้านได้แก่ การเปรียบเทียบทางคอมพิวเตอร์ และหลักการทางสังคม ซึ่งก็เผชิญทางตันเช่นเดียวกัน

ก) การเปรียบเทียบทางคอมพิวเตอร์

ซอฟต์แวร์ไม่อาจทำงานได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากฮาร์ดแวร์ นั่นคือ การทำงานได้ของฮาร์ดแวร์มาก่อนซอฟต์แวร์

ความคิดของมนุษย์เปรียบเหมือนซอฟต์แวร์ ไม่อาจเกิดก่อนการมีเซลล์ประสาท ใยประสาทนำเข้า (Dendrite) และสารส่งผ่านประสาท (Neurotransmitter) และอื่นๆ ซึ่งเป็นเหมือนฮาร์ดแวร์

แต่สมองต่างกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรมต่างๆ

สมองมีระบบการเดินสาย (Wired) ไม่ใช่โปรแกรมที่บรรจุไว้ เป็นแบบอะนาล็อก (ไม่ใช่ดิจิตอล ฐานคู่หรือทวิภาค) สมองเป็น “เครื่องสถานะ” ที่มีตัวประมวลผลหลายตัว (ไม่ใช่ตัวเดียว)

นั่นคือ การคิดเชิงตรรกะจะมีการแก้ไขตนเองโดยตลอดตามข้อมูลที่ได้รับ

มนุษย์ไม่อาจมีความคิดที่แน่นอนได้ จนกว่าสมองก่อนหน้านั้นได้มีระบบเดินสายไว้ก่อนแล้ว (เช่น โดยการตั้งโปรแกรมไว้ก่อน การศึกษาแบบทางการ การสะท้อนคิด การคิดวิเคราะห์) สมองที่แก่แล้วมักตั้งระบบเดินสายใหม่ได้ยากกว่าสมองคนหนุ่ม-สาว

สมองมนุษย์โดยทั่วไปได้มีการเดินสายแน่นอนเมื่ออายุได้ 25 ปี เมื่อถึงวัยกลางคน ผู้คนต้องใช้เวลาศึกษาอย่างหนักสองหรือสามปี เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ใหม่เอี่ยม (เนื่องจากการสร้างฮาร์ดแวร์ของสมองต้องการคิดถึงความคิด)

สมองของมนุษย์ไม่สามารถคิดความคิดใดได้ จนกระทั่งเมื่อสมองได้มีการเดินสายเพื่อคิดถึงมันไว้แล้ว ดังนั้น อารยธรรมทั้งหลายจึงได้ล่มสลายไปเนื่องจากมนุษย์ไม่ได้คิดแล้วจึงกระทำ หากแต่ว่ากระทำแล้วจึงคิดได้

ข) หลักการทางสังคม

บุคคลต้องการความแข็งแรงเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา จีดีพีเป็นเครื่องวัดความแข็งแรงของสังคม

เมื่อเศรษฐกิจไม่อาจเติบโตได้เนื่องจากความจำกัดทางกายภาพ สังคมจะแตกสลายไปสู่ภาวะอนาธิปไตย และสงคราม ซึ่งบุคคลและกลุ่มสามารถหาประโยชน์จากมันได้

(ดูบทความของ Jay Hanson ชื่อ Farewell Dieoff.org ใน theoildrum.com 2003)

 

บทความที่สรุปบทเรียนสำคัญของเขาชื่อ “การวนซ้ำของการเกินเป้า” (Overshoot Loop : Evolution Under The Maximum Power Principal ใน jayhanson.org 2013 แก้ไขเล็กน้อยปี 2015) ได้แก่ มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ยีนของเรามีวิวัฒนาการมาเช่นนั้น

มนุษย์ต้องการอำนาจเพื่อการควบคุมผู้อื่นและสิ่งอื่น และเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นในกลุ่มตน กับทั้งเพื่อยกสถานะของตน

มนุษย์พยายามใช้พลังงานให้มากที่สุดเท่าที่ระบบจะยอมให้

นี้นำมาสู่ภาวะเกินเป้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และพลังงานสุทธิเมื่อนำไปใช้ก็เสื่อมคุณภาพ นำมาสู่การล่มสลายของสังคม แต่การล่มสลายของสังคมก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานเชิงระบบ จะเป็นไปได้ต่อเมื่อการล่มสลายได้เกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น หลังการล่มสลายแล้ว ภายในสองชั่วอายุคน บทเรียนทั้งหมดเกี่ยวกับการล่มสลายจะถูกลืมเลือน แล้วมนุษย์ก็จะกลับมาปฏิบัติอย่างที่เคยเป็นมาตามสารพันธุกรรมของตน

แนวคิดของแฮนสันไม่ใช่ว่าจะทำนายถูกต้องแม่นยำ ที่นำมากล่าวถึงในที่นี้เนื่องจาก

ก) มีหลักฐานงานวิจัยและข้อเท็จจริงจำนวนมากรองรับ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ น่าเชื่อถือ แม้ว่าไม่อยากจะยอมรับ

ข) การเปลี่ยนแปลงในโลก มีแนวโน้มเป็นไปตามทิศทางที่เขากล่าวไว้ ทำให้ผู้คนไม่อาจทิ้งความคิดนี้ไปได้ง่ายๆ

ค) ความคิดเขามีอิทธิพลสูงต่อนักคิดเกี่ยวกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมหลายคน บางคนช่วยเผยแพร่แนวคิดของแฮนสัน มีการยกย่องเขาว่าเป็นผู้ก่อจิตสำนึกใหม่ทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ง) เป็นข้อเตือนใจในการศึกษาวิเคราะห์ และการไม่ประมาทในการดำรงชีพ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงความรุนแรงของวิกฤติภูมิอากาศ