การฆาตกรรมซาราห์ เอเวอราร์ด กับความปลอดภัยของผู้หญิงอังกฤษ / บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

การฆาตกรรมซาราห์ เอเวอราร์ด

กับความปลอดภัยของผู้หญิงอังกฤษ

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสะเทือนขวัญชาวอังกฤษมากที่สุดก็คือข่าวของ “ซาราห์ เอเวอราร์ด” ผู้บริหารสายงานการตลาดสาววัย 33 ปี ที่หายตัวไประหว่างเดินกลับบ้านในย่านชุมชนเมืองตอนใต้ของกรุงลอนดอน ก่อนที่จะถูกพบเป็นศพในเวลาต่อมา

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อเหตุฆาตกรรมและพบว่าชายคนดังกล่าวเป็น “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์แต่กลับมาก่อเหตุร้ายสะเทือนวงการตำรวจเสียเอง

เหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยเฉพาะในกรุงลอนดอน เมืองที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยมากที่สุดแห่งหนึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวอังกฤษต่อหน่วยงานตำรวจ

รวมไปถึงปลุกกระแสเรียกร้องให้แก้ปัญหาความปลอดภัยของผู้หญิงในที่สาธารณะ

 

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม “เอเวอราร์ด” หายตัวไประหว่างเดินจากบ้านเพื่อนในย่านแคลปแฮม กลับบ้านตัวเองในย่านบริกซ์ตัน ซึ่งเป็นย่านชุมชนเมืองที่ไม่น่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นได้ ระยะทางระหว่างบ้านเพื่อนถึงบ้านเธอใช้เวลาเดินเท้าราว 50 นาที

เอเวอราร์ดออกจากบ้านเพื่อนในเวลา 21.00 น. และจากการตรวจสอบพบว่า เอเวอราร์ดเดินทะลุสวนสาธารณะ “แคลปแฮม คอมมอน” สวนสาธารณะขนาดใหญ่ด้วย

ระหว่างนั้น เอเวอราร์ดคุยโทรศัพท์กับแฟนหนุ่มเป็นเวลา 14 นาที แต่หลังจากวางสาย เอเวอราร์ดก็หายตัวไปและไม่ได้กลับถึงบ้านอีกเลย

วันที่ 4 มีนาคม แฟนหนุ่มของเอเวอราร์ดแจ้งเหตุคนหายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลอนดอน หรือ “สกอตแลนด์ยาร์ด” หลังจากนั้นปฏิบัติการตามหาตัวเอเวอราร์ดก็ได้เริ่มต้นขึ้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบกล้องวงจรปิดในเส้นทางที่เอเวอราร์ดใช้เดินทางกลับบ้านและพบเอเวอราร์ดเดินผ่านกล้องวงจรปิดหน้าบ้านประชาชนในย่านนั้นในเวลา 21.30 น. หลังวางสายกับแฟนหนุ่มได้ไม่นาน

เจ้าหน้าที่ตรวจค้นบ้านจำนวน 750 หลัง และขยายการสืบสวนออกไปหลังพบรถต้องสงสัยในจุดที่เอเวอราร์ดหายตัวไป และขยายผลไปสู่การค้นหาในย่านแอชแลนด์ เมืองเคนต์ ที่ห่างจากจุดเกิดเหตุไปถึง 90 กิโลเมตร

 

การสืบสวนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัย 2 คนในวันที่ 9 มีนาคม โดยหนึ่งในนั้นคือ “เวย์น คอเซนส์” เจ้าหน้าที่ตำรวจ วัย 48 ปี และหญิงที่ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดวัย 30 ปีอีกคน

คอเซนส์เคยทำงานในสกอตแลนด์ยาร์ดเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะย้ายไปประจำกองบัญชาการอารักขารัฐสภาและหน่วยงานทางการทูต มีหน้าที่อารักขาพื้นที่อาคารรัฐสภาและสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ในกรุงลอนดอน

วันที่ 10 มีนาคม ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจพบชิ้นส่วนมนุษย์ในป่าในย่านแอชแลนด์ และจากการตรวจสอบประวัติทันตกรรมพบว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นเป็นของเอเวอราร์ดจริง

12 มีนาคม คอเซนส์ถูกตั้งข้อหาลักพาตัวและฆาตกรรม ถูกปลดออกจากราชการ ถูกนำตัวขึ้นศาลแขวงในวันที่ 13 มีนาคม และมีกำหนดขึ้นศาลอาญาในวันที่ 16 มีนาคม

 

เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกลางเมือง แถมผู้ก่อเหตุยังเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เริ่มออกมาเปิดเผยประสบการณ์ถูกคุกคามบนท้องถนน

หลังเกิดเหตุฆาตกรรมเอเวอราร์ด ความไม่พอใจถูกจุดกระพือขึ้นอีก หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจออกคำแนะนำให้ผู้หญิงในพื้นที่เกิดเหตุ “อย่าออกนอกบ้านเพื่อความปลอดภัย”

คำแนะนำดังกล่าวถูกโจมตีจากผู้หญิงที่ระบุว่า ผู้ชายต่างหากที่จะต้องรับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ผู้หญิงที่จะต้องยอมเสียอิสรภาพไป

ในทวิตเตอร์เกิดแฮชแท็ก #SarahEverard เช่นเดียวกับแฮชแท็ก #ReclaimTheseStreets หรือ “เอาถนนที่ปลอดภัยคืนมา” พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง

มีประชาชนหลายร้อยคนรวมตัวกันชุมนุมในสวนสาธารณะแคลปแฮม คอมมอน ใกล้จุดที่เอเวอราร์ดหายตัวไป แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งห้ามชุมนุมเนื่องจากขัดกับมาตรการควบคุมโรคก็ตาม

ผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถือป้าย “เธอแค่เดินกลับบ้าน”, “ความเงียบของผู้ชายคือความรุนแรง” รวมถึง “เราคือ 97 เปอร์เซ็นต์” โดยอ้างอิงจากผลสำรวจล่าสุดที่พบว่าผู้หญิงจำนวนมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ในอังกฤษเคยผ่านประสบการณ์การถูกคุกคามรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาแล้ว

การชุมนุมดังกล่าวจบลงด้วยการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชายที่นำกำลังเข้าจับกุม ใส่กุญแจมือ และลากตัวผู้ชุมนุมผู้หญิงออกจากพื้นที่

ภาพเจ้าหน้าที่กดแพตซี สตีเวนสัน ผู้เข้าร่วมชุมนุมคนหนึ่งลงกับพื้นถูกเผยแพร่ออกไป ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีตำรวจ

โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเครสซิดา ดิก เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง ผู้บัญชาการตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด ที่เจอกับกระแสเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง

 

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายังคงสนับสนุนให้ผู้บัญชาการตำรวจหญิงทำหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตาม จอห์นสันแสดงความกังวลถึงเหตุการณ์การจับกุมผู้ประท้วง และสั่งให้มีการสอบทบทวนการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหลังเจอกับแรงกดดันจากฝ่ายค้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสลายการชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎหมายเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการกับการประท้วงที่สร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มต้นขึ้นจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว แพตซี สตีเวนสัน ผู้ชุมนุมที่ถูกถ่ายภาพขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกดลงกับพื้นในเหตุการณ์สลายการชุมนุมก็ออกมาทำให้เสียงเรียกร้องของเธอกับเหตุฆาตกรรม “เอเวอราร์ด” ครั้งนี้ชัดเจนและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

“ฉันถูกโยนสู่สายตาสาธารณชน และทางเดียวที่ฉันสามารถทำให้สิ่งนี้ไม่สูญเปล่าก็คือ ไม่ทำให้มันเป็นเรื่องการเมือง มันไม่ใช่การพุ่งเป้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้หญิง และเราต้องพูดถึงมัน” สตีเวนสันระบุ

จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลอังกฤษจะตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงในครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตาม