‘น้ำใต้ศอก’ ยังหอมหวาน / เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘น้ำใต้ศอก’ ยังหอมหวาน

 

มีคำถามมาเสมอ ถามกันมายาวนานแล้วว่า “อนาคตพรรคประชาธิปัตย์” จะเป็นอย่างไร

ถามกันมาตั้งแต่แพ้แล้วชวนตี ด้วยการทิ้งเวทีรัฐสภามาเล่นการเมืองบนท้องถนน จนถึงเรียก “กองทัพ” เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง กระทั่งยอมเป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐบาล” ที่มาจากการเขียนกติการองรับการสืบทอดอำนาจของ “คณะรัฐประหาร”

หลังชักแถวกันออกมา “ต่อต้านการเลือกตั้ง” ก่อความงุนงงให้ผู้คนทั้งประเทศว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ “นักการเมือง” ซึ่งหนทางของชีวิตทำไมสร้างพงหนามปิดทางการพัฒนาจิตวิญญาณประชาธิปไตย กู่ร้องเรียกหา “เผด็จการ” ด้วยท่าทีพร้อมจะ “กินน้ำใต้ศอก”

นั่นเป็นการเริ่มต้นของคำถาม

 

หลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ “ประชาธิปัตย์” กลายเป็นพรรคที่ยืนอยู่ใน 1 หรือ 2 ในแถวหน้าไม่ได้

ดูจะเป็นคำตอบระดับหนึ่ง แต่เมื่อยอมพลิกเกมด้วยการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเพื่อลบคำประกาศไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. เข้าร่วมรัฐบาลด้วยข้ออ้างเพื่อเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จนป่านนี้ยังไม่เห็นอะไรที่สะท้อนถึงความพยายามที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจหลักของการยอมร่วมให้ คสช.สืบทอดอำนาจ คำถามเดิม “อนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร”

และหลังการเลือกตั้งซ่อมที่ “นครศรีธรรมราช” ซึ่งเป็นถือเป็น “แผ่นดินของประชาธิปัตย์” มายาวนาน คำตอบเริ่มชัดขึ้นอีก

แต่ถึงกระนั้น ท่าทีของคนพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่แสดงความยี่หระอะไรนัก เหมือนกับว่า “ขอแค่ยังอยู่ในอำนาจ เรื่องอื่นล้วนไม่น่าใส่ใจ”

ดูจะมีความพยายามเสียด้วยซ้ำที่จะไม่ยอมรับว่า “ประชาธิปัตย์” กำลังถูกฐานคะแนนให้บทเรียนครั้งใหญ่

เพียงแต่ความจริงที่ไม่ยอมรับ หรือยอมรับไม่ได้นั้น มีผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” ตอกย้ำให้เห็น

“ทำไมพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช” คือชื่อเรื่องการสำรวจ

 

ในคำถาม “ท่านคิดว่าสาเหตุใดที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช” (7 มีนาคม 2564) โดยให้เลือกคำตอบได้มากกว่า 1 ข้อ

คำตอบที่มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ร้อยละ 46.62 คือประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบการดำเนินการทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์, รองลงมาคือ ร้อยละ 18.53 กระแส/ผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในภาคใต้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง, ร้อยละ 16.17 กระแส/ผลงานของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในภาคใต้ ยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ, ร้อยละ 13.59 ประชาชนชอบวิธีการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐมากกว่า, ร้อยละ 10.86 พรรคพลังประชารัฐกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงได้ดีกว่าประชาธิปัตย์

คำว่า “เบื่อประชาธิปัตย์” อันเป็นคำตอบมากที่สุดนั้น นับว่าน่าใส่ใจอย่างยิ่ง

แต่ก็นั่นแหละ “ประชาธิปัตย์” ที่หล่อหลอมทัศนคติที่ถูกวิจารณ์ว่า “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” มายาวนาน จนแทบเป็นผลสรุปว่า “เป็นพรรคการเมืองที่หล่อหลอมทัศนคติโทษคนอื่น” ไว้ให้ถูกพรรค

ทำให้ทั้งที่นาทีนี้ควรวิเคราะห์อย่างยิ่งว่า “อะไรเป็นเหตุแห่งความเบื่อของประชาชน” เพื่อให้กำหนดวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้

แต่ทัศนคติดังกล่าว ให้ยากจะทำใจยอมรับสาเหตุที่ทำให้เกิดความตกต่ำอย่างถึงที่สุดนั้น

ยิ่งความพ่ายแพ้ ไม่กระทบต่อการมีส่วนร่วมในอำนาจในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใส่ใจ

ทั้งที่ความใส่ใจนั้น มีผลต่ออนาคต

แต่ “กำอำนาจในปัจจุบันไว้ในมือ” ยังดีกว่า “กำความหวังในอนาคตที่ยังไม่มีอยู่จริง” ดูจะเป็นความคิดของพรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้มากกว่า