ทิศทาง การเมือง ใต้ร่มธง แห่ง REDEM ม็อบ ไร้ ‘แกนนำ’ / กรองกระแส

กรองกระแส

 

ทิศทาง การเมือง

ใต้ร่มธง แห่ง REDEM

ม็อบ ไร้ ‘แกนนำ’

 

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวไปกับสถานการณ์ #ม็อบ9มีนาคม ไม่ว่าการเคลื่อนไหวไปกับสถานการณ์ #ม็อบ10มีนาคม

เด่นชัดว่าเป็นม็อบ “ไร้แกนนำ”

แม้ #ม็อบ9มีนาคม จะประกาศผ่านเว็บเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แม้ #ม็อบ10มีนาคม จะประกาศผ่านเว็บเพจ “คณะจุฬา”

กระนั้น ก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่เคยเคลื่อนไหวในอดีต

ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563

เพราะที่หน้าศาลอาญาไม่มี “เวที” เพราะที่จุฬาฯ มีแต่ “หรีดดำ”

ทุกอย่างอนุวัตไปตามสภาพความเป็นจริงที่ไม่ว่านายอานนท์ นำภา ไม่ว่านายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ไม่ว่า น.ส.รุ้ง-ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ล้วนอยู่ในที่จำขัง

เด่นชัดว่า ทิศทางในแบบ REDEM กำลังกลายเป็น “ทางเลือก”

 

ความจริง ทิศทางของ REDEM ก็เหมือนกับทิศทางของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อแรกปรากฏตัวผ่านการชุมนุม ณ บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

นั่นก็คือ ไม่มีเวที ไม่มีแกนนำ ไม่มีการปราศรัย

แต่แล้วโดยสถานการณ์บังคับเมื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมากจนต้องลงไปอยู่บนถนนราชดำเนินจึงต้องมีการจัดตั้งเวที จึงต้องมีคนปราศรัย

เมื่อมีการปราศรัยสถานะของ “แกนนำ” จึงค่อยได้รับการสถาปนา

การสถาปนาแกนนำ การจัดอย่างมีการตระเตรียมจึงเห็นได้ชัดจากการชุมนุมข้ามคืนเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ณ ท้องสนามหลวง

ลงเอยด้วยการปักหมุด “คณะราษฎร” ขึ้นมาใหม่

จากนั้นที่เคยปรากฏผ่านกระบวนการ “เยาวชนปลดแอก” ก็ยกระดับขึ้นเป็น “คณะราษฎร 2563” ในเดือนตุลาคม และก่อการเคลื่อนไหวอย่างครึกโครมต่อเนื่อง

ต่อเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จึงมีการปรับ “ขบวน” ใหม่ผ่าน REDEM

 

การประกาศตัวของ REDEM ผ่านเว็บเพจ “เยาวชนปลดแอก” สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์และต่อเนื่องในทางความคิด

เพียงแต่ “เยาวชนปลดแอก” แยกตัวออกมา

สิ่งที่ REDEM เสนอคือสิ่งที่ “เยาวชนปลดแอก” เคยคิดแต่มิได้ลงมือปฏิบัติ ดังนั้น ภาระหน้าที่ของ REDEM คือการลงมือปฏิบัติตามความคิด ความเชื่อ

นั่นก็คือ การชุมนุมโดยไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีการปราศรัย ไม่มีการ์ด

ตัวอย่างที่ REDEM เสนอขึ้นมาสัมผัสได้จากสถานการณ์ #ม็อบ28กุมภาพันธ์ และตามมมาด้วยสถานการณ์ #ม็อบ6มีนาคม

ต้องยอมรับว่ามิใช่อยู่ๆ REDEM ก็กำหนดและกะเกณฑ์

ตรงกันข้าม ก่อนการชุมนุมได้มีการสำรวจความเรียกร้องต้องการของสมาชิกผ่านเครือข่ายเทเลแกรมเป็นความต้องการของเนื้อหา จุดนัดพบ จุดขับเคลื่อน

#ม็อบ28กุมภาพันธ์ เริ่มที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วไปหน้าราบ 1

ต่อมาเมื่อตกลงปลงใจไปสู่สถานการณ์ #ม็อบ6มีนาคม ก็เริ่มต้นที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวแล้วเคลื่อนขบวนไปหน้าบริเวณศาลอาญา รัชดาภิเษก

ทั้ง #ม็อบ28กุมภาพันธ์ ทั้ง #ม็อบ6มีนาคม ล้วนอยู่ในความสนใจ

 

ท่ามกลางการเกิดขึ้นของ #ม็อบ6มีนาคม การดำรงอยู่ของ “ม็อบ” ในแบบเดิมก็ยังมี เห็นได้จากการเคลื่อนไหวผ่าน “เดินทะลุฟ้า” ซึ่งมาลงเอยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

นั่นเป็นม็อบที่มี “เวที” มี “แกนนำ” ครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ไผ่ ดาวดิน ไมค์ ภาณุพงศ์ ถูกอัยการส่งฟ้องต่อศาลและศาลได้ยอมรับการฝากขังที่เสนอมาโดยโจทก์

บทบาทของม็อบที่มี “เวที” มี “แกนนำ” ก็ค่อยๆ โรยรา

เพราะว่าหน่วยพะรุงพะรังที่มาพร้อมกับเวที มาพร้อมกับการ์ด นั่นย่อมเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ทั้งในเชิงวัสดุอุปกรณ์และการหาอยู่หากิน

ขณะที่ม็อบในแบบ REDEM ไม่ต้องแบกภาระตรงนี้

REDEM ประกาศว่าการเคลื่อนไหวของ REDEM คือเงาสะท้อนแห่งประชาธิปไตย “ทางตรง” เป็นจิตอาสาของมวลชนอย่างเต็มเปี่ยม

ทุกอย่างมวลชนกำหนดและขับเคลื่อน

 

ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าความเป็นจริงที่จะตามมาจะเป็นอย่างไรในท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองเนื่องจากทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสุกงอม

ความสุกงอมของ “สถานการณ์” ความสุกงอมของ “มวลชน”

นับแต่ REDEM ได้ปรากฏตัวและนำเสนอรูปแบบใหม่ของการเคลื่อนไหวที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีการปราศัย นวัตกรรมก็เริ่มขึ้น

หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่เป็นจริง