10 ปี สึนามิญี่ปุ่นกับการฟื้นฟู / บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

10 ปี สึนามิญี่ปุ่นกับการฟื้นฟู

 

นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ภาคตะวันออกของญี่ปุ่น(東日本大震災 )เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เวลา 14.46 น. เป็นเวลาครบ 10 ปีแล้ว เป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดขนาด 9.0 แม็กนิจูด ก่อให้เกิดความเสียหายตลอดแนวชายฝั่งตะวันออก และเกิดอุบัติเหตุสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะแห่งที่ 1 มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 22,193 คน ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลัง 121,193 หลัง และมีผู้อพยพลี้ภัยมากที่สุด 470,000 คน

รายงานข่าวจากเอนเอชเคญี่ปุ่น ได้สรุปจำนวนเงินงบประมาณที่ใช้ในการฟื้นฟูเขตภัยพิบัติใน3 จังหวัดหลัก คือ ฟุคุชิมะ มิยางิ และ อิวาเตะ เป็นจำนวน 32 ล้านล้านเยน (ประมาณ 9.6 ล้านล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาได้ใช้เงินงบประมาณนี้ดำเนินการด้านใดไปแล้วบ้าง

สร้างแนวป้องกันคลื่น ถนนหนทาง และฟื้นฟูที่อยู่อาศัย ใช้งบประมาณ 13.3 ล้านล้านเยน โดยทำแนวป้องกันคลื่นสูงระยะทาง 432 ก.ม. ตลอดแนวชายฝั่ง แล้วเสร็จไปแล้ว 80% ซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยมีเหตุผลว่าแนวป้องกันนี้มีความสูงมาก บดบังทัศนียภาพทางทะเลไปหมดสิ้น ส่วนผู้เห็นด้วยก็มีเหตุผลว่า ขอรักษาชีวิตและความปลอดภัยไว้ก่อนการชมทัศนียภาพจะดีกว่า นอกจากนี้มีการสร้างเส้นทางด่วนรวมระยะทาง 236 ก.ม. ทำให้การเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นสะดวกขึ้น เป็นการฟื้นฟูเส้นทางการขนส่งสินค้า ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมด้วย

ด้านที่อยู่อาศัย มีการก่อสร้างบ้านพักผู้ประสบภัย ถมที่ดินยกบ้านขึ้นที่สูง เป็นต้น ผู้ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า ใช้เวลาก่อสร้างนาน รอไม่ไหว ย้ายไปอยู่ที่อื่นกันแล้ว ส่วนผู้เห็นด้วยก็บอกว่าคุ้นเคยกับถิ่นที่อยู่เดิม ไม่อยากปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประชากรใน 3 จังหวัด ลดลงกว่า 380,000 คน ผู้คนพากันย้ายถิ่นฐานเพราะสิ้นเนื้อประดาตัว หรือไม่อาจทนเห็นภาพที่เตือนความทรงจำอันโหดร้ายได้ ในเมืองเล็กๆบางแห่งแทบร้างผู้คนเลยทีเดียว

งบประมาณฟื้นฟูการประมง การเกษตร และธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ให้ความช่วยเหลือด้านการจ้างงาน เป็นต้น รวม 4.4 ล้านล้านเยน หลังเกิดเหตุการณ์ ผลิตผลทางอาหารทั้งพืชผัก และอาหารทะเลจากภูมิภาคนี้ถูกปฏิเสธจากคนทั่วประเทศ เนื่องจากกลัวการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี รัฐมนตรีกระทรวงผู้บริโภคกล่าวว่า “หลังเกิดภัยพิบัติ มีมาตรการเคร่งครัดด้านความปลอดภัยของอาหารที่กระจายออกจากภูมิภาคนี้ ขอให้ช่วยกันอุดหนุนสินค้าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่” จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งจัดเทศกาลอาหารจากภูมิภาคนี้ด้วย

งบประมาณความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ จำนวน 2.3 ล้านล้านเยน ผ่านทางองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรในท้องถิ่นทั้ง 3 จังหวัด ดำเนินการช่วยเหลือด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และความช่วยเหลือด้านการดำรงชีวิต ให้คำปรึกษาด้านจิตใจ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีงบประมาณต่างหากอีกจำนวน 21.5 ล้านล้านเยน เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อซ่อมเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี การกำจัดขยะปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี การบำบัดน้ำเสียจากโรงไฟฟ้า เป็นต้น

จำนวนเงินงบประมาณดังกล่าว มีส่วนที่ได้จากการขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 12.4 ล้านล้านเยน กล่าวคือ พนักงานบริษัทผู้มีเงินได้ 5 ล้านเยนต่อปี (ประมาณ1.5 ล้านบาท) มีภรรยาและ ลูก 2 คน เสียภาษีเพิ่มปีละ 2,660 เยน ผู้มีรายได้มากกว่า 8 ล้านเยนต่อปี (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) เสียภาษีเพิ่มปีละ 12,300 เยน เป็นต้น

มีเงินช่วยเหลือแบบสมัครใจจากคนในประเทศอีก 4 แสนล้านเยน อย่างไรก็ตาม งานฟื้นฟูผ่านไปแล้ว 10 ปี แต่ยังไม่จบลงง่ายๆ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 5 ปี นานกว่าที่กำหนดไว้ เพื่อเร่งให้ประชาชนกลับเข้ามาอาศัยในถิ่นฐานเดิม เนื่องจากยังมีหลายเขตเป็นเขตอันตรายห้ามประชาชนเข้า เร่งสร้างงาน สร้างอุตสาหรรม และ จัดการระบบพลังงานต่างๆ เป็นต้น

ด้านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัตินี้ กระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน ระบุว่าหลังเกิดภัยพิบัติ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ต้องสูญเสียบิดา หรือ มารดาไป จำนวน 1554 คน และต้องสูญเสียทั้งบิดาและมารดา จำนวน 243 คน

หนังสือพิมพ์ไมนิชิ ทำการสำรวจรายได้ของครอบครัวคนในพื้นที่ ครอบครัวรายได้น้อย ต่ำกว่า 2 ล้านเยนต่อปี ก่อนการเกิดภัยพิบัติ มีจำนวน 6% ปัจจุบันมี 45% นับว่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 7 เท่าทีเดียว ในทางกลับกัน ครอบครัวที่มีรายได้สูง มีจำนวนลดลงจาก 51% เหลือเพียง 18% คนที่ตกงานเพิ่มสูงขึ้นจาก 13% เป็น 20% ในปัจจุบัน

แม้ภาครัฐจะมิได้ละเลยในการฟื้นฟู และให้ความช่วยเหลือ แต่ด้านจิตใจของผู้คนที่ได้รับผลกระทบยังต้องกินเวลาอีกยาวนานเท่าใดกว่าจะเยียวยาได้ เด็กที่กำพร้าพ่อ หรือ แม่ หรือทั้งสองคน และยังสูญเสียบ้านที่เคยอยู่อย่างอบอุ่น บางคนต้องไปอาศัยบ้านญาติ หรือไปอยู่ต่างถิ่นที่ไม่คุ้นเคย บางคนเงียบขรึม ซึมเศร้า ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันก็มีไม่น้อย ความทุกข์แสนสาหัสเช่นเดียวกันนี้ แม้ผู้ใหญ่บางคนก็ยังทำใจกับความสูญเสียได้ยาก บางคนบอกว่าหลังเกิดเหตุการณ์ เมื่อครบรอบแต่ละปี สื่อมวลชนนำเสนอภาพข่าวซ้ำๆในแต่ละปี เขาทนดูไม่ได้เลย…

ไม่แต่เพียงเท่านี้ ผู้คนในภูมิภาคนี้ยังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นเดียวกับคนทั้งประเทศ และได้รับผลกระทบไม่น้อย หญิงวัย 57 ปี พนักงานจ้าง ผู้สูญเสียสามี บอกว่า “ถูกเลิกจ้างตั้งแต่มิถุนายนปีที่แล้ว ไม่มีรายได้เลย” ชายวัย 46 ปี เจ้าของร้านอาหาร ผู้สูญเสียภรรยา บอกว่า “ยอดขายลดลงมาก ขาดเงินทุนหมุนเวียนอย่างหนัก”

ความหวาดผวาเมื่อ 10 ปีก่อน ยังไม่ทันจางหาย กลางดึกคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด7.1 นอกชายฝั่งตะวันออกอีกครั้ง เกิดความสั่นสะเทือนเป็นวงกว้าง แต่ไม่เกิดคลื่นสึนามิ จึงไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายมากเท่าครั้งก่อน

เรารับรู้ถึงความทุกข์ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ แต่การต้องเผชิญภัยที่ไม่อาจป้องกันหรือเตรียมการล่วงหน้าได้อย่างที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลา 10 ปี ของคนญี่ปุ่นในภาคตะวันออก 3 จังหวัด ก็สะเทือนใจยิ่งนัก… ขอเป็นกำลังใจให้เขาเข้มแข็งและได้พบฟ้าหลังฝนโดยเร็ว..