อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : LIGHT BEINGS สำรวจสภาวะแห่งอารมณ์ ด้วยภาพวาดนามธรรม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

LIGHT BEINGS

สำรวจสภาวะแห่งอารมณ์

ด้วยภาพวาดนามธรรม

 

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า LIGHT BEINGS

โดย เกศ ชวนะลิขิกร ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้อาศัยและทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

เขาทำงานศิลปะที่สำรวจสภาวะของมนุษย์ท่ามกลางกระแสของเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันที่สร้างเครือข่ายครอบคลุมและกำหนดให้โลกของเราดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

เขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราสูญเสียคุณค่าที่แท้จริงของความแตกต่างหลากหลายอันเป็นความงามอันลึกซึ้งที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างยาวนาน

เกศพยายามทำความเข้าใจสภาวะภายนอกและศึกษาสภาวะจิตใจภายในของตัวเองผ่านการพินิจพิจารณาด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของความเป็นมนุษย์

“งานของผมได้แรงบันดาลใจจากเรื่องของคน จากการที่คนเรามักจะมีความรู้สึกสองอย่างในตัวเอง อย่างแรกคือมีความต้องการ อยากได้ อยากมี แต่ในขณะเดียวกันก็อยากปล่อยวาง ในฐานะชาวพุทธ ผมพยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรารู้สึกยังไงกันแน่? อย่างการปล่อยวาง เราก็ลองพยายามทำ แต่ก็ทำได้ยาก หรือแม้แต่การทำงานศิลปะด้วยความปล่อยวาง เราจะทำได้ยังไง นี่เป็นเหมือนปัญหาที่ผมตั้งโจทย์เอาไว้ให้กับตัวเอง”

โดยปกติการทำงานศิลปะที่สื่อสารประเด็นหรือเนื้อหาบางอย่าง มักจะถูกทำออกมาในลักษณะของผลงานที่บอกเล่าประเด็นหรือเนื้อหาเหล่านั้นออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม หากแต่ผลงานของเกศกลับถูกทำออกมาในลักษณะที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

นั่นก็คืองานศิลปะแบบนามธรรม (Abstract art) นั่นเอง

“ผมถ่ายทอดเรื่องราวออกมาในรูปแบบนามธรรมโดยไม่ได้เป็นภาพแทนหรือสัญลักษณ์อะไรทั้งนั้น โดยปกติ คนดูงานศิลปะส่วนมากมักจะคิดถึงสัญลักษณ์ ภาพแทน หรือความหมายต่างๆ ในภาพวาด แต่ผลงานของผมไม่ได้มีความหมาย ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แทนอะไร แต่เป็นตัวแทนของรูปแบบทางอารมณ์มากกว่า”

 

“ผลงานแต่ละชิ้นแทนอาการของอารมณ์ความรู้สึกของตัวผมเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ความรู้สึกสองอย่างในตัว อย่างที่บอก คือความต้องการอยากได้อยากมี และความอยากปล่อยวางของคน สำหรับคนอื่นผมไม่รู้ว่าเขาเป็นยังไง แต่ก็เดาว่าเขาก็น่าจะมีอารมณ์สองแบบนี้ โดยแทนจากตัวข

องเราเอง”

นอกจากความไร้รูปลักษณ์ เรื่องราว และไม่ได้เป็นสัญลักษณ์หรือภาพแทนของสิ่งใดโดยตรงแล้ว ลักษณะพิเศษอีกอย่างของการทำงานศิลปะแบบนามธรรมคือความเป็นอิสรเสรี ไม่มุ่งเน้นในการควบคุม แม้แต่ในการทำงานของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเองก็ตาม

“เวลาทำงานศิลปะนามธรรม ด้วยความที่เราใช้อารมณ์ความรู้สึกในการทำงาน บางครั้งสิ่งที่ได้ก็เกิดจากความตั้งใจ จากเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ แต่บางครั้งสิ่งที่ได้ก็เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เหมือนการด้นสด (Improvisation) ในการเล่นดนตรี ดังนั้น ในการทำงานก็จะมีทั้งการควบคุมและไม่ควบคุมในเวลาเดียวกัน บางครั้งร่องรอยสีสันที่เห็นก็อาจจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ หรือเกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ เพราะฉะนั้น ในการทำงานก็จะมีลักษณะตรงข้ามทั้งสองอย่างอยู่ร่วมกัน เหมือนความรู้สึกสอ

งอย่างที่ตรงข้ามกันในตัวของคน”

เช่นเดียวกับลักษณะตรงข้ามในธรรมชาติของธรรมะอย่างการปล่อยวาง ความไม่ยึดติดกับธรรมชาติของศิลปินที่ต้องอาศัยความลุ่มหลง กิเลส และอัตตา เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและแรงขับในการสร้างสรรค์ผลงาน

ผลงานของเกศก็เป็นการถ่วงดุลระหว่างธรรมชาติทั้งสองแบบนี้เช่นเดียวกัน

“ปกติผมเป็นคนไม่ค่อยมีอัตตาเท่าไร ผมไม่คิดว่าตัวเองต้องถูกเสมอไป ดังนั้น ผมจึงพยายามปล่อยวาง

และไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน ในการทำงานศิลปะเราก็ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึก และความลุ่มหลงในอะไรบางอย่าง สิ่งนี้ก็เลยเป็นโจทย์ที่ผมตั้งเอาไว้ว่าเราจะสามารถทำให้สองสิ่งนี้สามารถ

อยู่ในงานศิลปะของเราได้ไหม”

โดยปกติจิตรกรนามธรรมส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้สีน้ำมันในกา

รทำงานจิตรกรรม แต่เกศกลับเลือกใช้สีอะครีลิกในการทำงาน

“ที่ผมเลือกใช้สีอะครีลิก เพราะเป็นสีเชื้อน้ำ

ใช้งานง่าย แห้งเร็ว และสามารถล้างออกได้ในขณะที่สียังไม่แห้ง แต่ก็ยังมีร่องรอยบางอย่างเหลืออยู่ อีกอย่าง สีอะครีลิกไม่มีกลิ่นเหมือนสีน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของผม”

“ธรรมชาติของสีอะครีลิกกับสีน้ำมันเองก็มีความแตกต่างกัน สีน้ำมันจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า ในขณะที่สีอะครีลิกจะดูละเอียดอ่อนกว่า ผมก็พยายามหาวิธีทำให้สีอะครีลิกมีความเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับสีน้ำมันให้มากที่สุด ด้วยเทคนิคต่างๆ ทั้งความโปร่งแสง การทับซ้อนกันของสี”

หลายๆ ครั้งในการทำงานศิลปะ ศิลปินนามธรรมมักจะทำงานจากสัญชาตญาณของตัวเอง โดยละวางการควบคุมกระบวนการทำงานให้น้อยที่สุด ปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกเติมแต่งสีสันและพื้นผิวบนผืนผ้าใบ และนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย เช่นเดียวกับการเดินทาง

“เวลาทำงาน ถึงเราจะมีเป้าหมายและรู้ว่าสิ่งที่เราทำจะเกิดผลลัพธ์แบบไหน แต่ผลลัพธ์ที่ว่านั้นจะเกิดมากหรือน้อยขนาดไหน เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นความสนุกในการทำงานอย่างหนึ่ง เหมือนเป็นการเดินทางไปพร้อมๆ กับงาน พอถึงจุดหมายแล้วเราถึงจะรู้ว่าจบแล้ว บางทีระหว่างทำงานเราก็ต้องหยุด ทิ้งเอาไว้สักพักค่อยมาดู แล้วทำต่อ แต่ถ้าเราพอใจแล้วก็หยุด พอ เพราะเราทำงานเรื่องการปล่อยวาง ถ้าทำมากเกินไปก็จะไม่ใช่”

เวลาทำงาน ผมมักตั้งคำถามว่าผลงานแต่ละชิ้นนั้นเป็นตัวแทนของเราหรือเปล่า เวลาเราทำงานซ้อนๆ กันหลายๆ สี แล้วอาจจะเกิดสีใหม่ คำถามที่เกิดขึ้นคือ สีสันเหล่านี้เป็นตัวเราไหม เป็นอาการของอารมณ์ของเราหรือเปล่า?”

ดังถ้อยแถลงประกอบนิทรรศการของศิลปินที่กล่าวว่า “องค์ประกอบแบบตามจริง คือตามธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง ไม่อยาก จัดแบบไม่จัด มืดกับสว่าง น้อยกลับมาก ง่ายคือยาก ยากกลับง่าย ศิลปะสามารถเป็นการแสดงกิเลสตัณหา และช่วยลดกิเลสตัณหาพร้อมกันในคราวเดียวได้หรือไม่”

คำถามที่ว่านี้ นอกจากศิลปินจะเป็นผู้ค้นหาคำตอบให้กับตัวเองแล้ว ผู้ชมงานอย่างเราเองก็สามารถร่วมพินิจพิจารณาและค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กับการชมงานได้เช่นเดียวกัน

นิทรรศการ LIGHT BEINGS โดยเกศ ชวนะลิขิกร เปิดให้เข้าชมที่ ARTIST+RUN ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ จนถึงวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 13:00-18:00 น. หรือตามนัดหมาย

โทรศัพท์ 09-9454-5955 (ปิดวันจันทร์-อังคาร)

ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ศิลปิน, เว็บไซต์ http://rama9art.org/kade/

ขอบคุณภาพจาก ARTIST+RUN ถ่ายภาพโดยปรีชา ภัทรอมรชัย