คดี กปปส. เปิด…ความยุติธรรม และแผนล้มประชาธิปไตย (1) / หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

คดี กปปส. เปิด…ความยุติธรรม

และแผนล้มประชาธิปไตย (1)

 

กรณีที่ศาลตัดสินความผิดของแกนนำ กปปส. ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าไม่ยุติธรรมเพราะได้รับโทษน้อยเกินไป หลายคนรอลงอาญา บางคนก็ถูกยกฟ้อง

แต่ฝ่ายที่อยู่พวกเดียวกับ กปปส.ก็มองว่าไม่ยุติธรรม เพราะนี่คือการทำความดีช่วยประเทศชาติ กลับได้รับผลตอบแทนที่ต้องติดคุกติดตะราง

เรื่องแบบนี้คงต้องทบทวนเหตุการณ์ย้อนหลังกันอีกสักครั้งว่า พวกเขาได้ก่อกรรมดี กรรมชั่ว อะไรบ้าง

และมีผลกระทบต่อประเทศอย่างไร

แผนล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

 

2554 รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเลือกตั้งจากประชาชน พรรคเพื่อไทยได้เสียงในสภาเกินครึ่ง คือ 265 เสียง จาก 500 จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งฝ่ายรัฐประหาร คมช.เป็นคนร่างขึ้นมาเอง

เมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์รับตำแหน่งก็เกิดน้ำท่วม หลายคนก็คิดว่าอยู่ไม่นานก็คงต้องลาออกหรือล้ม เพราะขนาดรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเล่นการเมืองนาน 40 ปียังอยู่ได้ไม่ถึงปีก็ไปแล้ว

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับเดินฝ่ากระแสน้ำไปได้

ปี 2555 ก็เริ่มบินออกไปประชาสัมพันธ์ทั่วโลก มีนโยบายโครงการใหม่ๆ แม้หลายนโยบายจะมีทั้งด้านบวกด้านลบ เช่น การขึ้นค่าแรงรายวันเป็น 300 บาท หรือการรับจำนำข้าว

กลุ่มอำนาจเก่าประเมินว่าถ้าปล่อยให้บริหารไปเรื่อยๆ ครบ 4 ปี คะแนนเสียงน่าจะท่วมท้นอีกครั้ง

ดังนั้น จึงเริ่มมีการต่อต้านจากกลุ่มคนเล็กๆ ตั้งแต่ม็อบแช่แข็งปี 2555 มีม็อบดาวแดง ม็อบหน้ากากสารพัดม็อบ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนอยู่ 2 ปีก็มาเจอกับการต่อต้านครั้งใหญ่เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ ครั้งแรก ไม่ได้ใช้ชื่อ กปปส. แต่เมื่อได้สัญญาณจากกลุ่มอำนาจเก่าที่สนับสนุน จึงให้เดินหน้าเต็มที่

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 สุเทพจึงนำ ส.ส.ปชป.อีก 8 คนลาออก มีการนำ ส.ส.ไปไหว้พระแม่ธรณี พร้อมชักชวนประชาชนให้หยุดงาน งดจ่ายภาษีโดยคาดหมายว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะล้มลงภายในไม่เกิน 29 พฤศจิกายน แน่นอน

มีการระดมกำลังตามเส้นสายกลุ่มอำนาจเก่า ทั้งสถานศึกษา สถานพยาบาล รัฐวิสาหกิจ ค่ายธุรกิจใหญ่ๆ ฯลฯ

25 พฤศจิกายน 2556 มีการยกระดับด้วยการทำม็อบดาวกระจาย 13 เส้นทาง บุกยึดสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง ตั้งเป็นเวทีชุมนุมซึ่งจะทำให้การเบิกงบประมาณมีปัญหา

27 พฤศจิกายน จึงเข้ายึดศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ และตั้งเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกแห่งหนึ่ง

29 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มม็อบซึ่งมีสัญลักษณ์นกหวีดก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กปปส. มีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยมีสุเทพเป็นเลขาธิการ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นประธาน

แม้มาจากพรรคการเมือง

แต่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

 

3 ธันวาคม กปปส.ประกาศแนวทางจัดตั้งสภาประชาชนและเสนอนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่ได้เลือก

8 ธันวาคม ส.ส.ประชาธิปัตย์ 153 คนประกาศลาออก

9 ธันวาคม ผู้ชุมนุมล้อมทำเนียบ เรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ

รัฐบาลประกาศยุบสภาและเตรียมเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส.ไม่ยอม กลัวแพ้

สรุปว่าไม่ยอมทำอะไรตามรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างทั้งสิ้น

ตลอดเดือนธันวาคม 2556 มีการชุมนุมอีกหลายครั้ง หลายจุด ตั้งเวทีใหญ่ 5 จุด และเวทีย่อย 10 จุด

วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2556 กลุ่มขัดขวางการเลือกตั้งปะทะกับตำรวจ ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ปะทะกับตำรวจ มีตำรวจสองนายและประชาชนทั่วไปหนึ่งรายเสียชีวิต (ไม่มีใครต้องรับโทษ)

จากนั้นก็มีการประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม 2557

สุเทพยืนยันว่าการปฏิบัติการชัดดาวน์กรุงเทพฯ “จะสู้จนจบไม่มีการกลับบ้าน ถ้าแพ้ก็ต้องเข้าคุก ไม่ชนะไม่เลิก” มีการชุมนุมในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้สามารถปิดกรุงเทพฯ ได้จริง ผู้คนเดินทางยากลำบากขึ้น มีเสียงด่ามากขึ้น คนร่วมน้อยลง แนวร่วมที่คิดเป็นก็เริ่มถอยฉากออกมา

21 มกราคม 2557 แม้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่ไม่มีอำนาจบังคับอะไรจริงจัง เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่หลงกลใช้กำลังรุนแรงกับม็อบ

ฝ่ายทหารก็ตั้งบังเกอร์กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ทำอะไร

(ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เหตุผล)

ขัดขวางการเลือกตั้งอย่างเปิดเผย

และศาลก็สั่งให้เป็นโมฆะ

 

23 มกราคม 2557 สุเทพประกาศให้มวลชนขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2557 ทุกรูปแบบ กปปส. การขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้ามีผลให้หลายเขตไม่สามารถเลือกตั้งล่วงหน้าได้

แต่การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยังคงดำเนินต่อไป แม้หลายเขตจะถูกขัดขวางปิดล้อมหน่วยทำให้การเลือกตั้งทำไม่ได้ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การขัดขวางการเลือกตั้งทำให้เกิดการปะทะ ในการขนบัตรขนหีบบัตรที่สี่แยกหลักสี่ จึงมีภาพกลุ่มมือปืนป๊อปคอร์น และการสนับสนุนจากกองกำลังอาวุธ ซึ่งทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 1 คน

แม้ในม็อบ กปปส.จะปราศรัยขอบคุณกลุ่มมือปืนกลุ่มนั้นแต่ก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายและต้องถูกดำเนินคดีต่อไป ในการเลือกตั้งภาคใต้ก็ถูกขัดขวางหลายเขต

สุดท้ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีผู้มาลงคะแนนร้อยละ 47.72 คือ 20.5 ล้านคน แต่ใน กทม.มีคนสามารถไปลงคะแนนเพียงแค่ร้อยละ 26

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ปชป.ยื่นคำร้องให้ศาลรับคำวินิจฉัยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

28 กุมภาพันธ์ 2557 มีการเปลี่ยนยุทธวิธี เพราะปฏิบัติการการเคลื่อนไหวทุกอย่างของ กปปส.ตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างเต็มที่ ชื่อเสียงของการ์ด กปปส.น่าเกรงขามมาก จนไม่เหลือแนวร่วม สุเทพประกาศคืนพื้นที่ เช่น ปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก และสีลม ถอยกลับไปตั้งเวทีในสวนลุมฯ เพียงเวทีเดียว เพราะคนเหลือน้อยแล้ว

21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ปชป.เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กปปส.ก็บอกว่ายอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ตามแผน

ข้อที่น่าสังเกตคือหลังจาก 10 ธันวาคม 2556 รัฐบาลถูกม็อบรุก 3 เดือน แต่สถานะทางการเมืองไม่เปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของม็อบ กปปส. เพราะสภาถูกยุบไปแล้ว นายกฯ ก็ลาออกแล้ว แต่ยังรักษาการอยู่ (และอยู่ในสถานะนั้นกว่า 5 เดือน)

ถ้ายอมให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ก็จะมีสภาใหม่ มีรัฐบาลใหม่ แต่กลัวแพ้ จึงต้องทำทุกอย่างตามแผนทั้งที่ขัดกฎหมาย

กปปส.ประกาศจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์

แต่เปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้

 

จะเห็นว่าการเปิดเกมมาเล่นบท กปปส.จนยุบสภา เป็นการเริ่มที่สำคัญ และต้องเล่นต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลก็ไม่ล้ม 4 เดือนแล้ว กปปส.ทำไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนยุทธวิธี เพราะหลังจากปิดกรุงเทพฯ ความนิยมก็เสื่อมลง แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าทำอะไร จะสลายการชุมนุมก็ไม่ได้ เพราะมีคำสั่งศาล 9 ข้อการคุ้มครองการชุมนุมของม็อบ กปปส. ชนิดที่ไม่ให้รัฐบาลแตะต้องอะไรเลย ให้ม็อบ กปปส.ชุมนุมกันตามสบาย

4 เมษายน 2557 กปปส.คิดว่าทหารไม่ยุ่งแล้ว แต่จะใช้ตุลาการภิวัฒน์จัดการรัฐบาลรักษาการเร็วๆ นี้ สุเทพประกาศบนเวทีว่า กปปส.จะเป็นผู้มีอำนาจที่สุด จะประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้อย่างเหมาะสม และคำสั่งของคนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็จะถือเป็นกฎหมาย…

…เราจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นของประชาชน จากนั้นจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชน โดยตนจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง พร้อมยกตัวอย่างอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังรัฐประหาร

วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 สุเทพแกนนำ กปปส.ประกาศว่าจะมีการต่อสู้ครั้งสุดท้าย โดยจะนำผู้ชุมนุมเดินขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 โมเดิร์นไนน์ทีวี NBT เพื่อขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์เหล่านั้นให้แพร่คำแถลงชัยชนะของตน

แต่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และสมาคมวิทยุโทรทัศน์ได้แถลงการณ์ประณามการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็นการคุกคามสื่อ

ตุลาการภิวัฒน์ก็ยังล้มรัฐบาลไม่ได้

 

17 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกถอดถอนจากตำแหน่งซึ่งขณะนั้นรักษาการนายกฯ อยู่ในข้อหาที่โยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ…ถวิล เปลี่ยนศรี นายกฯ ยิ่งลักษณ์ออกมาแถลงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

มีการตั้งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีต่อไป

การใช้ตุลาการภิวัฒน์ครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ผล ไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหารแบบปี 2551ได้ เพราะเพื่อไทยสามารถเปลี่ยนนายกฯ รักษาการ (แทน) ไปได้เรื่อยๆ ถ้าจะประกาศชัยชนะครั้งที่ 8 ก็จะต้องมีครั้งที่ 9…

ถ้าจะวิเคราะห์ให้ถึงที่สุด คดี กปปส.ไม่เพียงเปิดว่าความยุติธรรมมีแค่ไหน? แต่จะพบกับการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีคนวางแผนอยู่เบื้องหลัง ทำให้มีทั้งคนหลงผิด และตั้งใจเพราะอยากเป็นรัฐบาล…(ต่อตอนหน้า)