นงนุช สิงหเดชะ/อาการ “ดิ้นพราด” กับคำถาม 4 ข้อ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

อาการ “ดิ้นพราด” กับคำถาม 4 ข้อ

เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่สามารถเรียกเสียงโวยวายดิ้นพราดปวดแสบปวดร้อนจากนักการเมืองทุกซีกทุกขั้วได้อย่างเกรียวกราวที่สุด

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคำถาม 4 ข้อ เพื่อให้ประชาชนนำไปคิดและตอบคำถามเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศ

คำถาม 4 ข้อดังกล่าวประกอบด้วย 1.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร 3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่ และ 4.คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

คำถามดังกล่าวมุ่งถามประชาชนทั่วไปเป็นหลัก แต่กลับปรากฏว่ากลุ่มที่ส่งเสียงตอบดังๆ ก่อนใครคือ (อดีตและอนาคต) นักการเมือง ที่ต่างพากันรุมขย้ำ พล.อ.ประยุทธ์ ราวกับนัดกันไว้

โดยประเด็นที่นำมาโจมตีก็คือกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคำถามชี้นำประชาชนเพราะต้องการสืบทอดอำนาจ

นักการเมืองบางคนบอกว่า ไม่ควรทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีชี้นำประชาชน ควรให้ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเอง เสร็จแล้วก็สรุปส่งท้ายเหมือนกันหมด (ซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา) คือให้รีบเลือกตั้ง

ส่วนบางคนก็โจมตีในประเด็นเดิมๆ ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงานอะไร โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

ในประเด็นเศรษฐกิจนี้มันเป็น “นิสัยน้ำเน่า” ที่ไม่ยอมตายและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงของนักการเมือง ที่จะนำมาใช้หากินโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ได้ละอายหรือสนใจว่าสมัยตัวเองเป็นรัฐบาลมีผลงานย่ำแย่ยังไง เรียกว่าพอถึงผลงานของตัวเองทำเป็นความจำสั้นเสียอย่างนั้น

ถ้าย้อนกลับไปดูทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระยะไม่กี่ปีมานี้ มีรัฐบาลไหนบ้างที่ประชาชนไม่โวยวายเรื่องเศรษฐกิจ

ถ้าความจำสั้นก็ลองย้อนไปดูแค่รัฐบาลที่บริหารประเทศช่วงก่อนรัฐประหารก็ได้ ปัญหาที่จำกันได้แม่นคือของแพงทั้งแผ่นดิน ร้องโอดโอยกันทั่วบ้านทั่วเมือง หากินก็ฝืดเคือง แถมประชาชนให้สอบตกด้านเศรษฐกิจทุกครั้งที่ทำโพล

แน่นอนว่า “นิสัยน้ำเน่า” ของนักการเมืองย่อมไม่พูดด้านบวกของฝ่ายตรงข้าม

เช่น เงียบเสียงทันทีเมื่อการส่งออกกลับมาเป็นบวก หรือเศรษฐกิจขยายตัวได้เกิน 3%

ไม่พูดเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยพุ่งขึ้นทุบสถิติมากกว่ารัฐบาลเลือกตั้งทุกรัฐบาล ไม่พูดเมื่อระดับหนี้ครัวเรือนลดลงจากที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากฝีมือรัฐบาลเลือกตั้ง (ที่แล้ว)

เอาเข้าจริงนักการเมืองเป็นกลุ่มที่ “ไม่เปลี่ยนแปลง-ไม่ปฏิรูป” ตัวเองมากที่สุด ถ้าปฏิรูปบ้านเมืองคงพัฒนามากกว่านี้ไปนานแล้ว

ผ่านมากี่สิบปี ยังกลับเข้าร่องเข้ารูเดิม คือขาดสามัญสำนึก ขาดจริยธรรม ขาดความซื่อสัตย์ สร้างระบบอุปถัมภ์แบบใหม่ผ่านอำนาจเงินและพวกพ้อง ยอมตนเป็นทาสหัวหน้าพรรคที่มีเงินมากจนสามารถสั่งซ้ายขวาได้

นักการเมืองอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรตั้งคำถามชี้นำประชาชน ไม่ควรทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ส่วนบางคนก็ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคำถามอย่างนี้แสดงว่าไม่มั่นใจในรัฐธรรมนูญใหม่ที่ตัวเองร่างขึ้นมา (แต่มองอีกแง่หนึ่งถ้านักการเมืองมั่นใจว่าตัวเองดีจริงก็จะกลัวไปทำไมกับคำถาม 4 ข้อนี้)

ที่ผ่านมานักการเมืองเหล่านี้อ้างประชาชนตลอด บอกว่าอย่าดูถูกประชาชน แต่ในเมื่อเชื่อมั่นว่าประชาชนมีความคิดเป็นของตัวเอง กำหนดอนาคตตัวเองได้แล้ว ทำไมจึงต้องสะดุ้งสะเทือนเดือดเนื้อร้อนใจกับคำถาม 4 ข้อว่าจะเป็นการชี้นำ เพราะถ้าเชื่อว่าประชาชนคิดเองได้ ก็ไม่เห็นนักการเมืองต้องกลัวว่าประชาชนจะถูกชี้นำ

ขณะเดียวกัน ประชาชนจะเชื่อใครนั้น เขาก็ต้องมีเหตุผลของเขา คือ คนคนนั้นน่านับถือ-น่าเชื่อถือไหม เหตุผลน่ารับฟังหรือไม่ พูดจริงทำจริงไหม

อันที่จริงพวกนักการเมืองน่าจะขัดเคืองใจกับคำถามข้อที่ 3 และ 4 มากที่สุด จะเห็นได้ว่าพวกที่ออกมาเกรี้ยวกราดเสียงดังที่สุดจัดเป็นนักการเมืองที่มีลักษณะเดียวกับข้อ 3 และ 4 (คือไม่ปฏิรูปตัวเองและเป็นพวกที่ก่อปัญหาเอาไว้)

คำถามนี้จึงเหมือนราดทิงเจอร์ลงบนแผล จึงแสบจนต้องดิ้นกระแด่ว

นักการเมืองบอกว่าชาวบ้านเอือมระอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าไปดูโพลล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ของกรุงเทพโพลล์ (สำรวจทุกภูมิภาคทั่วประเทศ) กลับพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 52.8 ตอบว่าหากวันนี้มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งแม้จะลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนมกราคม ร้อยละ 9 แต่ก็ยังนับว่าสอบผ่าน

หากเอือมระอาจริง คะแนนน่าจะรูดดิ่งเหลือแค่ 20-30%

ในโพลเดียวกันนี้ยังระบุว่าประชาชนร้อยละ 50.2 ตื่นตัวอยากให้มีการเลือกตั้ง ร้อยละ 24.6 รู้สึกเฉยๆ เลือกก็ได้ ไม่เลือกก็ได้ ร้อยละ 21.8 รู้สึกอยากอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะประเทศสงบดี มีเพียงร้อยละ 3.0 ไม่แน่ใจ

ถ้าเอาจำนวนคนที่รู้สึกเฉยๆ เลือกก็ได้ ไม่เลือกก็ได้มารวมกับคนที่อยากอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ (ไม่อยากเลือกตั้ง) รวมทั้งคนที่ไม่แน่ใจ (24.6+21.8+3) ก็จะได้ร้อยละ 49.4 (ซึ่งอาจจัดอยู่ในกลุ่มไม่อยากหรือไม่รีบร้อนเลือกตั้ง) นับว่าสูงใกล้เคียงกับกลุ่มที่อยากเลือกตั้ง

ถ้าเอือมระอาจริง ประชาชนกลุ่มที่ตอบแบบสอบถามนี้น่าจะมีถึง 80% ที่อยากเลือกตั้ง ซึ่งโพลนี้ก็น่าจะหักล้างคำกล่าวอ้างของนักการเมืองที่บอกว่าประชาชนเอือมระอารัฐบาลปัจจุบันมาก

ไม่เสียหายอะไรที่นักการเมืองจะนำคำถาม 4 ข้อนั้นไปเพ่งพิจารณาตัวเองแล้วดูว่าจะปฏิรูปตัวเองยังไง แทนที่จะเอาแต่โจมตี ส่วนประชาชนฟังแล้วฉุกคิดตามก็ไม่น่าเสียหายอะไร

หากพูดตามเนื้อผ้า ไม่ต้องสนใจประเด็นที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการหรือไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ (ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบไปแล้ว) การตั้งคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ไร้ประโยชน์อย่างที่นักการเมืองบางพรรคอ้าง

อาจเพราะนักการเมืองเหล่านี้หวั่นไหว เพราะเห็นแล้วว่า 3 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง เรตติ้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ดีกว่าผู้นำจากรัฐบาลเลือกตั้ง โดยเฉพาะในช่วงแรกเข้าและระยะกลาง แม้ช่วงปลายจะลดต่ำลงไปตามธรรมชาติของการเมือง แต่ก็ยังนับว่ารักษาคะแนนนิยมได้ต่อเนื่องนานกว่าผู้นำเลือกตั้ง

ไม่แน่ ยิ่งนักการเมืองรุมโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ มาก อาจจะยิ่งทำให้ประชาชนไม่อยากเลือกตั้งมากขึ้นก็ได้ เพราะเห็นชัดว่าพวกนักการเมืองยัง “น้ำเน่า” เหมือนเดิม คือเอาแต่ก่นด่าเรื่องรัฐประหาร แต่พวกเขากลับไม่พูดว่าที่ผ่านมาพวกเขาก่อปัญหาอะไรไว้ จนทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไม่ได้

ตั้งแต่เมษายน 2552 จนถึงพฤษภาคม 2557 พวกคุณทำอะไรกับประเทศชาติไว้ ใครยิงระเบิดเอ็ม 79 และอาวุธนานาชนิดสังหารฝ่ายตรงข้ามเพราะขัดแย้งทางการเมือง จนการลงทุนชะงักงัน นักท่องเที่ยวหดหาย คนในประเทศก็ทำมาหากินไม่ได้

อย่ามาพูดว่ารัฐประหารเท่านั้นที่ทำให้ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน ลองย้อนกลับไปดูว่าสมัยรัฐบาลเลือกตั้งของพวกคุณ ต่างชาติกล้ามาลงทุนหรือไม่ นักท่องเที่ยวกล้ามาไหม

จนถึงวันนี้ยังมีนิสัยเดิมคือ เอาดีใส่ตัว…ไม่เคยสำนึก