ของอันตราย! รู้จักอานุภาพ “กระสุนยาง” แรงเท่ากระสุนจริง ไม่ได้ใช้ยิงคนตรงๆ

กระสุนยาง หรือ Rubber Bullets หรือ Baton Rounds นั้นเป็นกระสุนทางเลือกที่มีอันตรายน้อยกว่ากระสุนปืนโลหะ เพราะหัวกระสุนมักทำจากยางพาราไม่ใช่ตะกั่ว หรือทองแดง ถึงแม้ว่าจะถูกเรียกว่ากระสุนยาง แต่กระสุนเหล่านี้ก็คือแกนเหล็กที่มียางห่อหุ้มด้านนอก หรือกระสุนแบบอื่นในกลุ่มของ Baton Rounds เช่น พลาสติก ,ขี้ผึ้ง หรือไม้ก็จะมีเหล็กหรือตะกั่วเป็นส่วนผสมอยู่ดี

ทั้งนี้ผู้ยิงจะต้องผ่านการฝึกอบรม โดยไม่ยิงในระยะใกล้เกินกว่า 15 เมตร และไม่เล็งที่จุดสำคัญเนื่องจากประชาชนหรือเป้าหมายอาจได้รับอันตราย ซึ่งหากเล็งหรือใช้งานผิดวิธี ก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส เช่น ตาบอด พิการถาวรและเสียชีวิตได้

“กระสุนยาง” ถูกคิดค้นขึ้นโดยกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน และถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2513 เพื่อใช้ในการควบคุมผู้ก่อการจลาจลชาตินิยมในไอร์แลนด์เหนือ ในชื่อว่า Baton Rounds ซึ่งได้ไอเดียมาจากการใช้ไม้กระบองฟาดในระยะไกล ที่สร้างขึ้นมาเป็นลักษณะกระสุนแทน

ก่อนจะคิดค้นกระสุนแบบใหม่และใช้ชื่อว่า Rubber Bullets แทน ซึ่งชื่อนี้จะช่วยลดภาพความอันตรายจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อ ทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจว่าอาวุธชนิดนี้ไม่มีความรุนแรง จากนั้นกระสุนยางก็กลายเป็นกระสุนซ้อมรบของทหารทั่วโลก เพราะด้วยการที่มันทำมาจากยางพารา ทำให้มีราคาถูกกว่ากระสุนจริงที่ทำจากตะกั่วหรือทองแดง และกระสุนยางมักถูกนำมาใช้ควบคุมฝูงชนหรือสลายการชุมนุมเรื่อยมา

ที่ผ่านมานั้นได้มีผลการวิจัยออกมาอย่างมากมายว่าไม่ควรใช้กระสุนยางหรือกระสุนพลาสติก รวมทั้งกระสุนชนิดอื่น ๆ ที่ได้ชื่อว่าไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เข้าปราบปรามฝูงชนในเหตุจลาจลหรือเหตุอาชญากรรมอื่น ๆ เนื่องจากพบว่ามีโอกาสทำให้บาดเจ็บสาหัส เกิดความพิการอย่างถาวร หรือกระทั่งเสียชีวิตได้สูงกว่าที่คาดกันไว้

แพทย์หญิงโรหิณี ฮาร์ ผู้นำทีมวิจัยและสมาชิกขององค์การแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุว่า “การยิงกระสุนยางในระยะประชิด แม้จะเล็งเป้าหมายได้ดีกว่า แต่กระสุนก็จะมีพลังรุนแรงเท่ากับกระสุนจริง จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่หากเล็งยิงกระสุนยางในระยะที่ห่างออกไป ความแม่นยำจะลดลงอย่างมาก” และสามารถเบี่ยงเบนพลาดเป้าได้ง่ายกว่ากระสุนจริง บ่อยครั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตคือคนรอบข้างที่ถูกลูกหลง มากกว่าจะเป็นเป้าหมาย

และผลการวิเคราะห์งานวิจัย 26 ชิ้น ที่ได้ศึกษาผู้ถูกยิงด้วยกระสุนยาง กระสุนพลาสติก กระสุนยางผสมโลหะ และกระสุนโพลียูรีเทนปลายกลวง รวม 1,984 คน นับแต่ปี 1990 เป็นต้นมา พบว่า 15% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกลายเป็นผู้พิการถาวรโดยส่วนใหญ่มักตาบอด โดยคนกลุ่มนี้ 80% ถูกยิงด้วยกระสุนยางผสมโลหะ นอกจากนี้ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางส่วนใหญ่จะบาดเจ็บสาหัส และในจำนวนนี้ 3% (ราว 51 คน) เสียชีวิต

ซึ่งระยะการยิงที่ปลอดภัยนั้น มีความแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ผู้ผลิต ไปจนถึงรุ่นของอาวุธปืนที่ใช้ยิงทำให้เป็นการยากที่จะคาดคะเนหรือประมาณระยะการยิงที่ปลอดภัยนี้ได้อย่างถูกต้อง จึงไม่ควรนำมาใช้ในการควบคุมฝูงชน ศาสตราจารย์ดักลาส ลาซซา ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาของ สถาบัน NYU Langone Health กล่าวว่า “การยิงกระสุนยางเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในที่กว้างถือเป็นเรื่องประมาท และอันตรายอย่างยิ่ง”

The Bloody Toll Of Rubber Bullets In Georgia's Street Protests

ที่มา : bbc / abc