จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 26 ก.พ. – 4 มี.ค. 2564

จดหมาย

0 ซักฟอก

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเฉพาะผู้ที่สนใจติดตามการอภิปราย กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,712 คน ระหว่างวันที่ 17-20 กุมภาพันธ์ 2564

พบว่า ส่วนใหญ่ติดตามผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 43.81

มองจุดเด่นของการอภิปรายคือ ภาพรวมการซักฟอกของฝ่ายค้าน ร้อยละ 52.64

จุดด้อยคือ การประท้วงบ่อย ทำให้เสียเวลา ร้อยละ 71.26

หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นคาดว่าการเมืองไทยจะเหมือนเดิม ร้อยละ 55.40

ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ร้อยละ 43.25

ภาพรวมให้คะแนนฝ่ายค้าน 6.90 คะแนน

ให้คะแนนฝ่ายรัฐบาล 5.01 คะแนน

ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล เพราะเห็นว่าภาพรวมทำงานได้ดี

มีเนื้อหาน่าสนใจ

เตรียมข้อมูลเชิงลึกมาอภิปรายให้เห็นภาพ

แต่มองว่าหลังจบอภิปรายครั้งนี้สถานการณ์การเมืองไทยก็น่าจะยังเหมือนเดิม

แม้ประชาชนนั้นรู้สึก “ไม่เชื่อมั่น” ต่อรัฐบาล

และถึงแม้ 10 รัฐมนตรีจะได้รับการไว้วางใจก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีมากกว่าการมองเพียง “ผลโหวต”

เนื่องจากผลนั้นอาจเกิดจากวิถีทางการเมือง เช่น การที่รัฐบาลมีฐานเสียงมากกว่า ฝ่ายค้านมีหลักฐานไม่เพียงพอ หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม

หากแต่ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” มีความสำคัญในการที่จะสามารถเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมการเมืองที่ดี

นั่นคือ การทำหน้าที่ในการใช้อำนาจของประชาชนในการอภิปรายและชี้แจงด้วยวุฒิภาวะของผู้นำทางการเมือง

การนำประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงมาอภิปราย

การใช้หลักฐานข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ การเชื่อมต่อการตรวจสอบกับภาคประชาชน

เหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดกลไกในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง

นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดังนภสร ณ ป้อมเพชร

หลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

แม้ประชาชน

จะเชื่อว่าหลังซักฟอก

สถานการณ์การเมืองไทยน่าจะยังเหมือนเดิม

แต่หลายข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในการอภิปรายครั้งนี้

น่าจะทำให้เข้าใจ “การเมืองพันลึก” มากขึ้น

จริงไหม

 

0 รัฐธรรมนูญ

สวัสดีครับ บก.

จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ‘ไพบูลย์-สมชาย’ ที่ขอให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

พร้อมให้ ‘มีชัย-บวรศักดิ์-สมคิด-อุดม’ ผู้เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แจงเพื่อประกอบการพิจารณา

ผมไม่สามารถทำความเข้าใจตรรกะ-ความคิดขององค์กร ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ได้

การที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

ก็เนื่องจากได้มีการพิสูจน์เชิงประจักษ์ให้เห็นจากการใช้แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา

เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศให้เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยแบบสากล

เกิดจากคณะผู้ร่างที่มีปัญหา

แต่การเรียกคณะผู้ร่างที่สร้างปัญหา และเป็นต้นตอของปัญหากลุ่มนี้ มาให้ความเห็น

ผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้

กลุ่มคนที่ควรจะเรียกมาให้ความเห็น ควรเป็นนักกฎหมาย นักวิชาการ ที่อยู่ในฝ่าย เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

เพื่อให้ความเห็น ให้ข้อมูลอีกด้าน

จึงกังวลถึงผลการตัดสิน

ตอนนี้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน หรือมีจุดยืนทางการเมืองแบบใด ต่างคาดเดาผลของการพิจารณาอำนาจของสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทิศทางเดียวกัน

ผมได้แต่หวังด้วยความหวังอันน้อยนิดว่า ผลการพิจารณาเรื่องนี้จะเป็นในทางตรงกันข้ามกับที่คาดไว้

น่าเศร้าที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ได้รู้สึกผิดปกติ ที่เห็นประเทศอันเป็นที่รักของเราทุกคน มีระบอบที่เป็นแบบนี้

ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย รักชาติ อยากได้ผู้บริหารชาติที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความยุติธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพ ความเท่าเทียม

จะต้องเหนื่อย จะต้องท้อ ต้องอดทนอดกลั้นกับระบอบประชาธิปไตยที่ผิดเพี้ยน ออกแบบโดยคณะเนติบริกรรับจ้าง ปกครองโดยกลุ่มบุคคลที่มาจากกฎหมายที่ผิดเพี้ยน

ไปถึงเมื่อไหร่…

เจ

 

ขออนุญาต “เจ”

ตัดทอนและดัดแปลงหลายถ้อยความ

ที่อาจหมิ่นเหม่ไปละเมิดบางองค์กรเข้า

สิ่งที่ “เจ” มองเห็นและสะท้อนออกมา

ถึงจะมากด้วยความท้อและเหนื่อย

แต่ไม่สูญเปล่าดอก

ส่งเสียง ส่งความรู้สึกกันต่อไป