วัคซีนโควิด “แอสตร้าเซเนก้า” 1.17 แสนโดส ถึงไทยแล้ว ผอ.สถาบันวัคซีนยันล็อตเดียวกันกับผลิตในไทย

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย วัคซีนโควิด 19 ที่ประเทศไทยจัดหาจากแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรก มาถึงไทยแล้วจำนวน 117,600 โด๊ส ในวันที่ 24 ก.พ. 2564 ทั้งนี้ การส่งมอบวัคซีนเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ โดยกระทรวงสาธารณสุขและแอสตร้าเซนเนก้ามีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อเร่งบรรเทาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ และเพื่อให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยเร็ว

“กำหนดการเดิมในการส่งมอบวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าให้กับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเกิดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งประเทศไทยจะได้รับวัคซีนที่ผลิตจากโรงงาน สยามไบโอไซเอนซ์ จำนวน 61 ล้านโด๊ส โดยการทยอยส่งมอบ เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุข สามารถดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการดำเนินการผลิตวัคซีนโควิด 19 ของสยามไบโอไซน์ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ในประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้วัคซีนเพื่อเสริมกำลังให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และใช้เพื่อป้องกันการเกิดอาการป่วยที่รุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วกว่ากำหนดเดิม โดยวัคซีนที่ส่งมอบดังกล่าว มาจากสายการผลิตในระดับโลกของแอสตร้าเซนเนก้า และเป็นไปตามพันธกิจในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างเท่าเทียมของบริษัท”

นายแพทย์นคร กล่าวอีกว่า “วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าล็อตที่มาถึงนี้ จะต้องผ่านการตรวจรับรองคุณภาพและผ่านการรับรองรุ่นการผลิต (Lot Release) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน จึงจะสามารถขนส่งและกระจายวัคซีนไปให้บริการกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายระยะแรกตามแผน ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้”

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นวัคซีนโควิด 19 ชนิดแรก ที่ได้รับการอนุมัติทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในประเทศไทย และยังได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ต่อมา ในวันที่ 15 ก.พ. 2564 วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการรับรอง Emergency Use Listing (EUL) จากองค์การอนามัยโลก ซึ่ง EUL เป็นขั้นตอนในการประเมินวัคซีนในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์วัคซีนได้ในวงกว้าง เนื่องจากระบบควบคุมกำกับของบางประเทศอาจไม่มีความพร้อมและไม่มีมาตรฐานเพียงพอ จึงให้ใช้การอ้างอิงจาก EUL ได้ โดยการประเมินจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ภายหลังจากมีการใช้วัคซีนในวงกว้าง ยังไม่พบการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแต่อย่างใด

“อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันจะแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 สามารถลดอาการป่วยที่รุนแรงของผู้ติดเชื้อ แต่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่บ่งชี้ว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนั้น แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว มาตรการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย” นายแพทย์นคร กล่าวย้ำ