ส่อง ‘ร่าง กม.’ อากาศสะอาด มีอะไรอยู่ในนั้น ?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

ส่อง ‘ร่าง กม.’ อากาศสะอาด

 

ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าร่างกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งสภาหอการค้าฯ และภาคประชาชนร่วมกันเข้าชื่อสนับสนุน เสนอต่อประธานรัฐสภาเพราะเห็นว่าปัญหาฝุ่นพิษส่งผลกระทบขยายวงกว้างไปถึงบรรยากาศการท่องเที่ยว แม้มีกฎหมายจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วแต่ยังไม่ชัดเจน และไม่บูรณาการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ถึงมือคุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะนี้ยังไม่มีข่าวแน่ชัดว่าทางรัฐสภาจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันเมื่อไหร่

แต่ที่แน่ๆ สมัยประชุมสภานี้จะปิดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม

 

สําหรับเนื้อหาสาระสำคัญๆ ของร่างกฎหมายอากาศสะอาดแบ่งออกเป็น 9 หมวดด้วยกัน

หมวด 1 บททั่วไป แบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 เป็นการกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด รัฐจะต้องจัดให้มีนโยบายระดับชาติเพื่อจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

ส่วนที่ 2 ว่าด้วยสิทธิในอากาศสะอาด กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการได้รับอากาศสะอาดและได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ประชาชน องค์กรกลุ่ม หรือชุมชนรวมกันใช้สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐ ทั้งการกำหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน กำหนดแผน

นอกจากนี้ การใช้สิทธิทางศาลเพื่อคุ้มครองหรือป้องกันตนเองหรือบุคคลอื่นจากมลพิษทางอากาศย่อมได้รับการคุ้มครอง และฟ้องร้องต่อบุคคลผู้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

หมวด 2 การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด จัดให้มีคณะกรรมการอากาศสะอาดระดับชาติ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน และคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจจัดทำแผนปฏิบัติการขจัดมลพิษทางอากาศ

หมวด 3 มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด คณะกรรมการอากาศสะอาดอาจกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนา ติดตามและประเมินความเหมาะสมของหลักเกณฑ์และข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดที่ได้กำหนดไว้แล้วให้เหมาะสมตามความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทุกสองปีต่อคณะกรรมการอากาศสะอาด

หมวด 4 ระบบการตรวจคุณภาพอากาศและระบบฐานข้อมูล ในหมวดนี้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงจุดที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพอากาศ ชั้นบรรยากาศ และการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดคุณภาพอากาศ หรือจีไอเอส (Geographic Information System-GIS) การเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลสามารถรายงานผลได้ทันทีและตลอดเวลา

ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีอำนาจเรียกข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่จัดเก็บโดยหน่วยงานของรัฐและข้อมูลที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการหรือผู้ครอบครองทรัพย์จะต้องจัดทำเป็นบันทึกหรือต้องจัดเก็บเพื่อเป็นระบบฐานข้อมูลพื้นฐานของคุณภาพอากาศบรรยากาศของประเทศ

ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จัดทำรายงานสถานการณ์ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยูในระดับวิกฤตที่เกิดจากแหล่งมลพิษต่างๆ ในท้องที่ต่อคณะกรรมการอากาศสะอาด และให้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง

หมวด 5 ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ โดยให้กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่จัดทำรายงานสถานการณ์ประจำปีเพื่อเป็นฐานข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อมีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศแล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่นำไปจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพของจังหวัด กลุ่มจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการอากาศสะอาด

 

หมวด 6 มลพิษทางอากาศ แบ่งเป็น 3 ส่วน

ในส่วนที่ 1 ว่าด้วยคณะกรรมการมลพิษทางอากาศ ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดประเภทและลักษณะของมลพิษจากแหล่งมลพิษต่างๆ กำหนดค่าความเป็นพิษขั้นสูงและขั้นต่ำของมลพิษในแต่ละประเภทตามมาตรฐานสากล

ส่วนที่ 2 แหล่งมลพิษทางอากาศ ให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศระบุแหล่งมลพิษที่ตั้งอยู่ในระดับจังหวัดหรือในระดับอำเภอไว้ในแผนที่ข้อมูลสารสนเทศ พร้อมกับให้จัดประเภทแหล่งมลพิษทางอากาศเป็น 6 แหล่ง ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง รถยนต์ แหล่งมลพิษทางอากาศจากเพื่อนบ้าน และแหล่งมลพิษทางอากาศอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ส่วนที่ 3 เขตมลพิษทางอากาศ กำหนดไว้ว่าถ้าพื้นที่ใดมีแนวโน้มว่าเกิดมลพิษร้ายแรงเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศเสนอต่อคณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พื้นที่นั้นๆ เป็นเขตมลพิษทางอากาศ

หมวด 7 เจ้าพนักงานอากาศสะอาด กำหนดให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษทางอากาศ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศ จัดส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศ เรียกบุคคล ตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

นอกจากนี้ เจ้าพนักงานอากาศสะอาดยังมีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ใดๆ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของอาคารหรือสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

หมวด 8 ค่าปรับและบทกำหนดโทษ สำหรับการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

หมวด 9 บทเฉพาะกาล กำหนดระยะเวลาในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด การกำหนดมาตรฐานคุณภาพ การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศ

การจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

 

ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาโดยสรุปร่างกฎหมายอากาศสะอาดของภาคประชาชนที่อยู่ในมือประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว

ประธานรัฐสภาจะนำเสนอเข้าที่ประชุมและสมาชิกรัฐสภาปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในเนื้อหาสาระหรือไม่อย่างไร

คงต้องติดตามดูกันต่อไป