ฝ่ายค้าน : ตั้งคณะกก.กม.ร่วมลุยยื่นร้อง รมต.หลังศึกซักฟอก จ่อขอศาลรธน.เชิญผู้ทรงวุฒิร่วมถกแก้รธน.

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเวลา 11.20 น.ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านประจำสัปดาห์ โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคพท.ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า จากการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราได้พิจารณาเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาล และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐมนตรีหลายคนอยู่ในข่ายที่เราพิจารณาส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยฝ่ายค้านมีมติตั้งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายขึ้นมาคณะหนึ่ง ซึ่งเป็นนักกฎหมายจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค เพื่อพิจารณาความผิดของรัฐมนตรีแต่ละบุคคลว่าจะยื่นในลักษณะใด โดยเราพิจารณา 2 กรณี คือ 1.ความผิดทางอาญา และ 2.ความผิดทางจริยธรรม ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการประชุมรัฐสภาวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์นี้ พรรคฝ่ายค้านพร้อมดำเนินการตามสิ่งที่ได้แปรญัตติไว้ ส่วนแนวทางอื่นๆคงต้องปรึกษากันว่าจะร่วมลงมติกันอย่างไร

ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรคพท. กล่าวว่า แต่ละพรรคมีเจ้าภาพหลักในการอภิปรายแต่รัฐมนตรีละกระทรวง ดังนั้น จะแบ่งกันรับผิดชอบเรื่องรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่ตัวเองอภิปรายก่อยื่นไปยังองค์กรอิสระร่วมกัน ในส่วนของพรรคพท. มี 3 คน ที่จะถูกยื่นร้องแน่นอน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะจบแค่นี้ รัฐมนตรีบางท่านที่อาจไม่ถูกยื่นไปยังองค์กรอิสระ เราจะมีมาตรการทางการเมืองในการดำเนินการกับรัฐมนตรีทั้ง 10 คน และทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบ

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะติดตามเอาข้อเท็จจริงมาตีแผ่ให้ประชาชนได้ทราบต่อ และจะลงพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 2 – 3 เดือนนี้

ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุเพิ่มเติมว่าคนเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นส.ส. ต้องมีจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากป.ป.ช. พิจารณาว่ารัฐมนตรีท่านใดที่ถูกอภิปรายแล้วส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าศาลรับไว้รัฐมนตรีท่านนั้นต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนๆ แม้จะได้รับการยกมือให้ผ่านควมมไว้วางใจในสภา แต่เมื่อส่งเรื่องไปป.ป.ช.ก็ติดคุกติดตาราง และออกจากตำแหน่งมากันแล้วหลายคน

เมื่อถามถึงกรณีงูเห่าของแต่ละพรรคในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีมาตรการอย่างไร นายสมพงษ์ กล่าวว่า เราพิจารณาดูแล้วว่าเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. เพราะไม่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งถือเป็นเรื่องภายในแต่ละพรรคต้องไปดำเนินการ

พรรคเพื่อชาติ (พช.) ออกมายอมรับว่า ปล่อยให้ส.ส.ของพรรคฟรีโหวตได้กรณีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะผิดมารยาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เราไม่ได้มีการคุยกันในเรื่องนี้เลย และวันนี้พรรคเพื่อชาติก็ไม่ได้มาร่วมประชุม ซึ่งในอนาคตคงมีการคุยกัน ทั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องภายในที่แต่ละพรรคจะไปดูเรื่องจริยธรรมของพรรคตัวเอง

จ่อเผชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมให้ความเห็นแก้รธน.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคพท. กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง โดยที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยรัฐสภามีมตินำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา และจะมีการพิจารณาในวันที่ 4 มีนาคมนี้ จะเราตั้งข้อสังเกตว่า

1.การที่ศาลจะรับฟังความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม 4 – 5 ท่าน เช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายอุดม รัฐอมฤต กรรมการฯ เป็นต้น บุคคลคต่างๆ เหล่านี้มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งสิ้น ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงมีมติมอบหมายให้คณะทำงานยกร่างหนังสือส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้ฟังความเห็นผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมายมหาชนให้กว้างขวางกว่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยจะยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (23 กุมภาพันธ์)

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ ฝ่ายค้านจะมีแนวทางแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคต แต่ที่ฝ่ายค้านคุยกันเราเชื่อว่าศาลไม่น่าจะมีคำวินิจฉัยไปในแนวทางนั้น

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอยากให้ช่วยจับตา 3 ประเด็น ที่สำคัญมากต่อประเทศ คือ 1.ในร่างนี้ท้ายที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะมีการตั้งขึ้นในอนาคตจะมีหมวด 1 และหมวด 2 ที่ไม่สามารถไปแก้ไขปรับปรุงได้ แต่หากดูข้อเรียกร้องจากการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเขาก็เรียกร้องประเด็นนี้ ดังนั้น อาจนำไปสู่การสร้างชนวนความขัดแย้งใหม่ เพราะไม่ได้เป็นทางออกแท้จริง

2.ระหว่างที่มีส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปกติเราจะแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็นระหว่างนี้ได้ แต่ปัญหาคือร่างของกมธ.เสียงข้างมาก กำหนดว่าหากจะแก้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งโอกาสในทางปฏิบัติเป็นไปยากมากที่จะสามารถแก้ไขได้ ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นฉันทามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตเรื่องรัฐธรรมนูญขึ้นในอนาคตคตสภาจะฝ่าวิกฤตไปยากมาก

และ 3.กรณีที่ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้ว และต้องนำไปลงประชามติ หากร่างที่ออกมาประชาชนไม่เห็นด้วยต้องขีดเส้นใต้ว่าได้หมายความว่าประชาชนจะอยากทนอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อาจหมายถึงส.ส.ร. ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดีกว่าเดิม ดังนั้น จึงเป็นการบีบให้เราอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ไปตลอดกาล สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ในอนาคตอาจต้องใช้วิธีการรัฐประหารเท่านั้น การแก้ไขจึงต้องระมัดระวังมาก สะดุดไม่ได้เลย ถ้าสะดุดอาจจะให้ใบอนุญาตกองทัพในการทำรัฐประหารต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรอื่นพิจารณาแทน

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า แม้แต่คนร่างรัฐธรรมนูญอย่างนายมีชัย ยังบอกว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ เราจึงไม่อยากให้อำนาจของรัฐสภาที่มีอำนาจในการแก้ไขถูกยกไปให้หน่วยงานอื่นตีความ ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่าการแก่รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งเป็นเรื่องยาก ดังนั้น เมื่อถึงการโหวตวาระ 3 คงต้องขอชั่งน้ำหนักดูก่อนว่าจะโหวตอย่างไร