‘พิพัฒน์’ แย้มคลังรับข้อเสนอเอกชน ตั้งกองทุนช่วยธุรกิจท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าข้อเรียกร้องของภาคเอกชนท่องเที่ยว อาทิ การช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) กองทุนเยียวยาและพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะนั้น

นายพิพัฒน์ ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งผลตอบรับหลังจากหารือร่วมกันแล้วเสร็จถือว่าเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยเฉพาะกองทุนท่องเที่ยวที่คลังกำลังพิจารณาว่าจะออกมาในรูปแบบใด จึงจะมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการจัดตั้งหรือรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจบการอภิปรายน่าจะมีการหารือร่วมกันและมีความชัดเจนอีกครั้ง

“จากการที่ได้หารือร่วมกับคลัง ผลตอบรับถือว่าออกมาดูดีมาก หลังจากนี้คงต้องศึกษากระบวนการและหลักปฏิบัติว่าจะสามารถทำแบบใดได้บ้าง ส่วนนี้ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังเพราะเป็นเจ้าของเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการต่างๆ ที่เอกชนเรียกร้องไว้ รวมถึงการขยายการใช้โครงการเราเที่ยวด้วยกันผ่านการเพิ่มสิทธิประโยชน์ หรือความพิเศษเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ” นายพิพัฒน์กล่าว

ส่วน นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวในขณะนี้ เริ่มเห็นการออกเดินทางเพิ่มมากขึ้นแล้ว หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายข้อกำหนดต่างๆ มากกว่าเดิม ซึ่งแม้จะเริ่มมีการเดินทางเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อย เพราะในหลายจังหวัดยังไม่ได้อนุญาตให้คนนอกพื้นที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้อย่างสนิทใจ เพราะต้องยอมรับว่าคนในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ก็ยังไม่ได้มีความเชื่อมั่นมากเพียงพอ ส่วนการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ มองว่ารัฐบาลควรปลดล็อกธุรกิจหรือส่วนต่างๆ ที่ยังไม่ถูกปลดล็อกเพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการเดินทางเพิ่มเติมได้

“สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดในตอนนี้ คือ การร่วมกันทำงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเดินคู่ไปกับความปลอดภัย เนื่องจากที่ผ่านมายึดหลักความปลอดภัยเป็นหลัก แต่การท่องเที่ยวไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จึงอยากให้ทำประสานกันระหว่างความปลอดภัย และการช่วยให้ท่องเที่ยวขับเคลื่อนต่อไป ไม่หยุดชะงักลงเหมือนในขณะนี้ โดยยังมีความหวังว่าช่วงสงกรานต์ทุกอย่างจะดีขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวจะทำได้มากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนออกมาว่าในช่วงสงกรานต์เอกชนสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เพื่อเตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อน” นายภูริวัจน์กล่าว

ด้าน นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า คาดหวังว่าในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะเห็นชอบผ่อนปรนให้บริการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ที่ให้บริการออนเซ็นหลังจากสั่งปิดเพื่อต้องการควบคุมการระบาดโควิด-19 หากได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดอีกครั้งถือเป็นข่าวดีมากปัจจุบันธุรกิจนี้ใน กทม.มีประมาณ 10 แห่ง พร้อมปฏิบัติตามมาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดแล้ว ได้แก่ กำหนดอุณหภูมิของน้ำอุ่นแต่ละบ่อ 37-42 องศาเซลเซียส และน้ำเย็น16-17 องศาเซลเซียส แต่ละบ่อใช้เวลาแช่ตัว 5-6 นาที น้ำในบ่อมีการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน รวมถึงมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด อาทิ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ และเว้นระยะห่างระหว่างการแช่น้ำในบ่ออย่างน้อย 1-1.5 เมตร