จาก Alois Alzheimer ถึง Maiken Nedergaard ‘อาบน้ำให้สมอง’ แนวคิดใหม่ รักษา ‘อัลไซเมอร์’ / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก Alois Alzheimer

ถึง Maiken Nedergaard

‘อาบน้ำให้สมอง’ แนวคิดใหม่ รักษา ‘อัลไซเมอร์’

 

หลายท่านอาจไม่ทราบ ว่าโรค “อัลไซเมอร์” เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นจากนามของศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer ผู้ค้นพบ “โรคผิดปกติในสมองส่วนซีรีบรัม” (Unusual Disease of the Cerebral Cortex)

ที่ก่อให้เกิด “โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ”

ศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปี ค.ศ.1864 ที่เมือง Marktbreit แคว้น Bavaria รัฐ Bayern ประเทศ Germany เป็นบุตรชายของ Eduard Alzheimer กับ Barbara Theresia Busch

จบแพทยศาสตร์จาก University of W?rzburg เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นผู้ช่วยแพทย์ที่สถาบันดูแลผู้ป่วยทางจิตและระบบประสาท (The St?dtische Anstalt f?r Irre und Epileptische) ใน Frankfurt

ณ สถาบันแห่งนี้เอง ที่ทำให้เขาได้พบกับบุคคลสำคัญ 2 ท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร. Franz Nissl จิตแพทย์อาวุโส ที่ได้ร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาทสมองส่วนซีรีบรัม และศาสตราจารย์ ดร. Emil Kraepelin จิตแพทย์ผู้โด่งดังของเยอรมนี ที่คอยให้คำชี้แนะแก่เขาอยู่เสมอ

ปี ค.ศ.1901 ศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer ได้ให้การรักษา Auguste Deter หญิงอายุ 51 ปี ที่มีพฤติกรรมประหลาดหลายอย่าง ทั้งเห็นภาพหลอน และ “สูญเสียความทรงจำระยะสั้น” ได้ง่าย

เขาทุ่มเทรักษา Auguste Deter และทำการทดลองทางห้องปฏิบัติการนานถึง 4 ปี แต่ในที่สุดเธอก็เสียชีวิต

ศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer นำข้อมูลการรักษา และ “สมอง” ของ Auguste Deter ไปที่ M?nchen และสามารถระบุการก่อตัวของโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมอง

ซึ่งชี้ว่า Auguste Deter เป็น “โรคผิดปกติในสมองส่วนซีรีบรัม” ครั้งแรกของโลกในปี ค.ศ.1906

ดร. Alois Alzheimer

3 พฤศจิกายน ค.ศ.1907 ศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer ตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยบันลือโลก Concerning a Unique Disease of the Cerebral Cortex ในที่ประชุมวิชาการด้านจิตแพทย์ของเยอรมนี แต่กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก

ทว่าต่อมา ศาสตราจารย์ ดร. Emil Kraepelin ได้ทำให้ผลงานวิจัยชิ้นนั้น เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยการตั้งชื่อ “โรคผิดปกติในสมองส่วนซีรีบรัม” ว่า “อัลไซเมอร์” ตามชื่อของผู้ค้นพบ คือศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer

ก่อนที่ศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer จะเสียชีวิตในปี ค.ศ.1912

 

กล่าวโดยสรุป “อัลไซเมอร์” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เนื่องจากการสะสมของโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau ในสมองมากเกินไป

เมื่อโปรตีนทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว เข้าไปจับกับ Cell สมองจะเกิดเป็นหินปูน ส่งผลให้ Cell สมองเสื่อม และฝ่อลง จนสมองไม่สามารถทำงานส่งสัญญาณไฟฟ้าด้วยเคมีตามปกติได้

โดยระบบสื่อสารภายใน Cell สมอง ก็จะได้รับความเสียหาย จากการลดลงของสารสื่อประสาท Acetylcholine ที่ส่งผลโดยตรงกับความจำ

นับตั้งแต่วันที่ศาสตราจารย์ ดร. Alois Alzheimer เขียนบทความ Concerning a Unique Disease of the Cerebral Cortex ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน วงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด “อัลไซเมอร์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ ยังไม่มีใครรู้วิธีรักษา แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายมาหลายสิบปีก็ตาม

อย่างไรก็ดี ในห้วงปี-สองปีมานี้ เกิดแนวคิดใหม่ในรักษา “อัลไซเมอร์” ขึ้นมาวิธีหนึ่งครับ

ดร. Maiken Nedergaard

ศาสตราจารย์ ดร. Maiken Nedergaard แห่งมหาวิทยาลัย Rochester รัฐ New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการรักษา “อัลไซเมอร์” ด้วยการ “อาบน้ำให้สมอง” หรือ Glymphatic System

ศาสตราจารย์ ดร. Maiken Nedergaard บอกว่า จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการกับหนูทดลอง พบว่า หนูมีกระบวนการ “อาบน้ำสมอง” หรือ Glymphatic System

“กระบวนการดังกล่าว มีองค์ประกอบสำคัญคือ Glial Cells หรือ ‘ถุงขยะ’ และ Cerebrospinal Fluid หรือ ‘น้ำอาบสมอง'” ศาสตราจารย์ ดร. Maiken Nedergaard กระชุ่น

“โดย Glial Cells จะทำหน้าที่เก็บกวาดสิ่งสกปรกในสมองระหว่างวัน และ Cerebrospinal Fluid ก็มีภารกิจ ‘อาบน้ำสมอง’ ในตอนกลางคืน” ศาสตราจารย์ ดร. Maiken Nedergaard กล่าว และว่า

กระบวนการ “อาบน้ำสมอง” หรือ Glymphatic System จะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพช่วงที่เรา “หลับลึก”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ช่วงกลางวันเป็นภารกิจของ Glial Cells

ขณะที่ตอนกลางคืน Glial Cells จะหดตัวลงราว 60% ทำให้ Cerebrospinal Fluid ปฏิบัติหน้าที่ Night Time Power Cleanse หรือ Big Cleaning ได้ดี

เพราะในตอนดึก Cerebrospinal Fluid จะเพิ่ม “ปริมาณน้ำ” เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก ให้สมองของเราสะอาดหมดจด!

แน่นอน ในส่วนที่เกี่ยวพันกับปัญหา “อัลไซเมอร์” นั้น Cerebrospinal Fluid ได้ช่วยขจัด Beta-Amyloid และ Tau โปรตีนเจ้าปัญหา ต้นเหตุของ “อัลไซเมอร์” ออกไปด้วย!

อย่างไรก็ตาม หากเอ่ยถึงคำว่า “หลับลึก” แล้ว มีข้อควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมเล็กน้อยดังนี้ครับ

 

โดยทั่วไปแล้ว “การนอน” ในแต่ละคืน จะแบ่งออกเป็น 2 วงจรสลับกัน นั่นคือ

1. Non-REM Sleep หรือห้วง “หลับตื้น” ไปสู่ “หลับลึก”

2. REM Sleep หรือช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายหยุดการทำงาน ยกเว้นหัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ

REM ย่อมาจาก Rapid Eye Movement หรือช่วงที่ร่างกายจะทำการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ระบบการทำงานในร่างกาย และอวัยวะต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นช่วงที่ Anti-Aging Hormone (ชะลอวัย) และ Growth Hormone (ฟื้นฟู) จะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาในปริมาณมากที่สุด

เป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ ว่าการนอนที่ดีนั้นจะต้องมีทั้ง Non-REM Sleep และ REM Sleep สลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละคืน

โดยค่าเฉลี่ยที่ดีที่สุดสำหรับการนอน จะอยู่ที่ประมาณ 6-8 ชั่วโมง อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้กันมานาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการ “นอนไม่หลับ” หรือ “นอนกรนมากผิดปกติ” อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานาได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า หรือโรค “อัลไซเมอร์” ที่เรากำลังพูดถึงครับ

เพราะสำหรับแวดวง “อัลไซเมอร์” แล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า หากเราไม่สามารถ “หลับลึก” ได้มากเพียงพอ จะเกิดการก่อตัวของโปรตีน Beta-Amyloid และ Tau มากขึ้น

จนเกิดปัญหา “งูกินหาง”

เนื่องจาก เจ้า Beta-Amyloid และ Tau จะส่งผลให้

1. เรา “หลับลึก” ได้น้อยลง

2. เมื่อเรา “หลับลึก” น้อย ก็จะยิ่งทำให้เกิดการสะสมของ Beta-Amyloid และ Tau เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้สมองลดขีดความสามารถในการขจัด Beta-Amyloid และ Tau ลงไป ทำให้ “อัลไซเมอร์” ยิ่งลุกลาม!

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ

1. การพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด “อัลไซเมอร์”

2. เพราะข้อมูลจากการวิจัยยืนยันว่า 60% ของผู้ที่เป็นโรค “อัลไซเมอร์” มีปัญหาด้านการนอน

3. ยิ่งหากใครมีปัญหาด้านการนอนมากเท่าไหร่ ก็รังแต่จะทำให้อาการของโรค “อัลไซเมอร์” ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตามไปด้วย

นำไปสู่ปัญหา “งูกินหาง” ดังได้กล่าวไป

คือ “อัลไซเมอร์” จะย้อนกลับมาส่งผลให้เรา “นอนไม่หลับ” ทำให้ความรุนแรงของทั้งโรค “นอนไม่หลับ” และโรค “อัลไซเมอร์” เสริมส่งซึ่งกันและกัน!

ข้อสรุปสุดท้ายจากการวิจัยชิ้นนี้ก็คือ คนเราควรจะ “หลับลึก” ให้ได้คืนละ 1 ชั่วโมง 45 นาทีเป็นอย่างน้อย

เพื่อป้องกันปัญหา “อัลไซเมอร์” นั่นเอง ศาสตราจารย์ ดร. Maiken Nedergaard ทิ้งท้าย