Hear the Voice of Myanmar : เสียงของการต่อต้านและเสียงของเพื่อนร่วม “ชาติ”

Hear the Voice of Myanmar เสียงของการต่อต้านและเสียงของเพื่อนร่วม “ชาติ”

: อรดี อินทร์คง นักศึกษาปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์

ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ความเคลื่อนไหวของประชาชนในประเทศเมียนมาที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารได้ขยายวงกว้างและเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 รัฐ

กลุ่มชาติพันธุ์ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงร่วมกับชาวพม่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่โหวตให้กับพรรค NLD หรือสนับสนุนนางอองซาน ซูจี

ปรากฏการณ์ในการรวมพลังเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และส่ง “เสียง” ขับไล่เผด็จการ ยิ่งน่าสนใจเมื่อการใช้แนวรบทางวัฒนธรรม “เสียงและบทเพลง” ได้สะท้อนให้เห็นนัยของการต่อต้านและความจำเป็นในการวาดพรมแดนให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

นี่ไม่เพียงเป็นการสร้างแนวร่วมเฉพาะกิจ แต่มันยังสำคัญต่อการสร้างอนาคตทางการเมืองในเมียนมาด้วย

แฮชแท็ก #HearTheVoiceOfMyanmar ยังคงติดเทรนด์ทวิตเตอร์นับตั้งแต่วันแรกที่เกิดรัฐประหาร เมื่อตามเข้าไปสำรวจจะได้ยิน “เสียง” ที่ผู้คนในเมียนมาต้องการสื่อสารให้ประชาคมโลกรับรู้

หากตั้งใจ “ฟัง” จะพบว่าในสรรพเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนถึงความดังที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเกิดจากระดับของการเข้าร่วมของผู้คนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย

ทุกคืนในเวลา 2 ทุ่ม เสียงเคาะหม้อ กระทะ กะละมัง เครื่องครัวหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จะดังขึ้นมาพร้อมกันทุกบ้าน นี่เป็นยุทธวิธีที่ผู้คนในเมียนมาใช้เป็นการเปิดแนวรบกับกองทัพ เสียงเคาะหม้อที่ดังโหวกเหวกโวยวายชวนให้น่ารำคาญนี้ถูกใช้แทนการก่นด่า แสดงความไม่พอใจต่อการทำรัฐประหาร

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านเสียงเคาะหม้อนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการประท้วงที่สามารถย้อนกลับไปค้นหาที่มาได้อย่างน้อยในช่วงกลางศตวรรษที่ 19

เมื่อกลุ่มผู้หญิงในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ออกมาร่วมชุมนุมและส่งเสียงเคาะหม้อ เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมที่พวกเธอควรได้รับในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและภาวะขาดแคลนอาหาร

การออกมาเคาะหม้อกลายเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการประท้วง ซึ่งส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปรวมถึงอเมริกา สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเคาะหม้อหรือข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน รวมถึงการทำให้เกิดเสียงหนวกหูน่ารำคาญยังมีความหมายถึงการขับไล่ปิศาจหรือสิ่งอัปมงคลออกไปจากชุมชนด้วย

ในยุคหนึ่งความหมายของหม้อหรือเครื่องครัว เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพศหญิง แต่สำหรับเวลานี้อุปกรณ์เหล่านี้คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่มีอยู่ในครัวของทุกบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่คนสามัญธรรมดาเข้าถึงและสามารถจะหยิบฉวยขึ้นมาเคาะเพื่อแสดงความไม่พอใจ

หม้อ ไห กระทะ กะละมัง เป็นความธรรมดาที่จับต้องได้ และในขณะนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียงที่ส่งสารให้คนทั้งโลกได้รับรู้ถึงความอัดอั้นตันใจ ความโกรธแค้นชิงชังของชาวเมียนมาที่มีต่อเผด็จการทหาร

นอกจากเสียงเคาะหม้อที่ยังคงดังต่อเนื่องทุกคืนนับตั้งแต่วันแรกที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ ชาวเมียนมายังเลือกบทเพลง ကမ္ဘာမကြေဘူး (กะบามะเจ่บู) ขึ้นมาเป็นบทเพลงแห่งการต่อต้านเผด็จการด้วย

ชื่อเพลง กะบามะเจ่บู มีความหมายว่า เราจะไม่ยอมยกโทษให้แม้ตราบโลกสลาย เพลงนี้เป็นเพลงหลักที่ใช้ในเหตุการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในเมียนมา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 8888 Uprising

การประท้วงในครั้งนั้นเกิดขึ้นยาวนานร่วม 6 สัปดาห์ และจบลงด้วยเหตุการณ์นองเลือด เมื่อรัฐบาลทหารภายใต้การนำของนายพลเนวินใช้อาวุธเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา

เพลงนี้แต่งขึ้นโดยชาวพม่าซึ่งใช้นามแฝงว่า Naing Myanmar เขาเป็นหนึ่งในแกนนำการประท้วงในปี 1988 Naing เล่าว่าได้ใช้ทำนองเพลง Dust in the Wind ของวง Kansas วงดนตรีร็อคชื่อดังของอเมริกา

ในช่วงเวลานั้น Dust in the Wind เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมาก เขาคิดว่าการเลือกใช้ทำนองเพลงที่ทุกคนคุ้นเคยดีอยู่แล้ว น่าจะทำให้เพลงกะบามะเจ่บูติดหูได้อย่างรวดเร็ว

Naing แต่งคำร้องขึ้นเพียงแค่ 2 ท่อนเพื่อให้คนที่ได้ยินเพลงนี้สามารถจดจำและร้องตามได้โดยง่าย ทว่าความหมายในเนื้อร้องเพียง 2 ท่อนนั้นกลับทรงพลังและทำให้ผู้คนที่ร่วมในการประท้วงครั้งนั้นเกิดความรู้สึกฮึกเหิมไปตามเพลง

There is no pardon for you till the end of the world
Cause that’s the bloody record written by the people’s lives
The strong revolution
On the brave heroes died for democracy
Our country, Myanmar, is a place built with Martrys
And with strong affirmation and lack of fears to fight against the monsters, our people
Dear grandpa Ko Daw Hmaing who fought against colonies with pen, our history was shamefully destroyed by our Myanmar military themselves
Oh our leader Tha Khin Aung San, who tried to get the independence, please look us back from the heaven – our country is bloody now
What the hell! No mercy, just bullies
Dead bodies are here and there
Helplessly lying on the road
Hey! My brothers, sisters and friends
Those blood bath can be still felt
And so, don’t confuse it
As the fallen heros
Let’s bravely fight against for our democracy
Cause we are the ones who unconditionally love our country
We swear, we will never forgive what you’ve done!
(Translate by English Major Students, Yangon University of Foreign Languages)

ยืนหยัดตราบโลกสลาย
ประวัติศาสตร์จะเขียนขึ้นใหม่ด้วยเลือดเรา
တော်လှန်ရေး ตอลาเย่ ลุกขึ้นสู้!
ประชาชนมากมายล้มตายทอดร่างเพื่อก่อเกิดประชาธิปไตย
โอ้ เหล่าผู้กล้า
นี่คือประเทศซึ่งเธอได้พลีชีพให้
ကမ္ဘာမကြေဘူး กะบา มา เจ่ บู้
ยืนหยัดตราบโลกสลาย
ประวัติศาสตร์จะเขียนขึ้นใหม่ด้วยเลือดเรา
တော်လှန်ရေး ตอลาเย่ ลุกขึ้นสู้!
โกดอไม
(บิดาแห่งชาตินิยมพม่าและสันติภาพ)
โอ ท่านปู่ ประวัติศาสตร์ของเราช่างเต็มไปด้วยขวากหนาม
ตะแค อองซา
(ท่านอองซาน บิดาซูจี บางเวอร์ชั่นเปลี่ยนเป็น แม่อองซาน หมายถึงตัวซูจีเอง)
โอ ท่านพ่อ ประเทศนี้หลั่งรดด้วยเลือดมากมายเหลือเกิน
เพราะเหตุใดกันหนอ?
ถนนสายยาว ถมทับด้วยศพประชาชน
ประชาธิปไตยร่วงหล่น…สูญสลาย…
พี่น้องเอ๋ย
เลือดของเราที่หลั่งทาถนนสายนั้นยังไม่ทันแห้ง
อย่าได้ลังเลเลย
เหมือนดั่งเช่นผู้มาก่อนเรา
พวกเขาได้สู้รบทอดร่างปูถนนประชาธิปไตยสายนี้
ให้เราได้มีที่หยัดยืนต่อต้าน
พี่น้องเอ๋ย
เลือดของเราที่หลั่งทาถนนสายนั้นไม่เคยได้ทันเหือดแห้ง
มาเถิดเหล่าผู้กล้า
ยืนหยัดสู้ไปด้วยกันตราบวันโลกสลาย!
(คำร้องฉบับภาษาไทย โดยเพจเฟซบุ๊ก Design for Life ออกแบบเพื่อชีวิต)

เสียงเพลงกะบามะเจ่บูที่กลับมาดังขึ้นอีกครั้งในช่วงเวลานี้ ได้ปลุกเอาภาพความทรงจำของเหตุการณ์ 8888 กลับมาอีกครั้ง สำหรับคนในยุคที่มีประสบการณ์ตรงจากเหตุการณ์ครั้งนั้น การปลุกความทรงจำร่วม (collective memory) ผ่านบทเพลงนี้อาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และทำให้พวกเขามีความรู้สึกฮึกเหิมเข้มข้นในขณะที่ร้องเพลงนี้

กะบามะเจ่บูในเวอร์ชั่น 2021 มีการปรับเปลี่ยนคำร้องในท่อนที่กล่าวถึงนายพลอองซาน ในฐานะบิดาแห่งชาติ มาเป็นนางอองซาน ซูจี ในฐานะแม่แห่งชาติ ซึ่งทำให้คนกลุ่มที่ไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงจากเหตุการณ์ 8888 สามารถเชื่อมโยงตนเองกับบทเพลงได้

การเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการขับร้องเพลงนี้ ร่วมกับการตะโกน “Long live mother Su” พร้อมกับการก่นด่าสาปแช่งเผด็จการทหาร

อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มคนที่ไม่ได้สนับสนุนนางอองซาน ซูจี โดยเฉพาะบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมจากรัฐบาลของพรรค NLD ภายใต้การนำของนางซูจีที่ผ่านมา การร่วมร้องเพลงนี้หรือร้องตะโกนถ้อยคำสรรเสริญนางซูจี ในฐานะแม่แห่งชาติ กลายเป็นความกระอักกระอ่วนใจ

บทเพลงและเสียงในขบวนประท้วงจึงไม่ได้มีความเป็นเอกภาพหรือดังเท่ากันในทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับความเสมอภาคเท่าเทียมที่คนแต่ละชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงได้ในระดับที่เท่ากัน

“เสียง” รวมถึงสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น สีแดง หรือผืนธงที่ใช้สัญลักษณ์ของพรรค NLD หรือสื่อถึงนางอองซาน ซูจี จึงกลายเป็นพรมแดนที่คนหลากกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกระทั่งผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนพรรค NLD ไม่สามารถก้าวข้ามไปได้

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงร่วมกับชาวพม่าในหลายเมืองใหญ่ แต่พวกเขาก็ได้ส่ง “เสียง” ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า การเข้าร่วมประท้วงเป็นไปเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องอนาคตของพวกเขากลับคืนมา มากกว่าการทำเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือเพื่อคนใดคนหนึ่ง

กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวไทใหญ่ในเมืองต่างๆ ได้แชร์ภาพการเข้าร่วมประท้วงในช่วงสุดสัปดาห์ และในขณะเดียวกันได้สะท้อนเสียงของพวกเขาผ่านข้อความที่คัดลอกและแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ ในช่วงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันชาติของชาวไทใหญ่

Today is our day.
It’s Shan National Day.
On behalf of the Tai (Shan) nationality, who have been persecuted by military dictators and whose education, economy, and society have been oppressed, we strongly oppose the military dictatorship that took power by force rather than by partisan or public support.

(วันนี้คือวันของเรา นี่คือวันชาติไทใหญ่ ในนามของกลุ่มชาติพันธุ์ไต ซึ่งถูกลงทัณฑ์โดยระบอบเผด็จการทหาร รวมถึงถูกกดขี่ข่มเหงโดยระบบการศึกษา, ระบบเศรษฐกิจ และระบบทางสังคมของพวกเขา พวกเราขอต่อต้านอย่างถึงที่สุดต่อระบอบเผด็จการทหารที่ฉวยชิงอำนาจด้วยกำลังพล มิใช่การดำเนินการผ่านพรรคการเมืองและการแสวงหาเสียงสนับสนุนจากสาธารณชน)

ข้อความต้นฉบับถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาพม่าแทนที่จะเป็นภาษาไต เพื่อส่ง “เสียง” นี้ไปสู่ชาวพม่า ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศเมียนมา

จายแสงวัน ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การที่เขาและเพื่อนออกมาร่วมต่อสู้ไปกับชาวพม่า เป็นการออกมาส่งเสียงเพื่อขับไล่เผด็จการ และเพื่ออนาคตของพวกเขาเอง

ส่วนข้อความที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก คือเสียงในใจที่พวกเขาที่ไม่เคยพูดออกมาให้ชัดเจน ในเวลานี้ผู้ที่เป็นศัตรูต่อขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนคือเผด็จการทหาร

จายแสงวันเล่าว่า เขาและเพื่อนๆ ที่มีทั้งชาวไทใหญ่และชาวปะโอได้ขับรถไปตามท้องถนนและบีบแตร พร้อมทั้งชูสามนิ้ว เพื่อแสดงจุดยืนในการต่อต้านรัฐประหาร และในเวลา 2 ทุ่มของทุกคืนจะร่วมเคาะหม้อ เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจและความไม่พอใจต่อสิ่งที่ทหารกระทำกับประชาชน

สำหรับเขาเสียงเหล่านี้กลายเป็นความอุ่นใจอย่างที่สุด เสียงที่ดังมากขึ้น มากขึ้นทุกคืน เป็นทั้งความหวังและเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความกังวล เพราะอย่างน้อยมันแสดงถึงการมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน

ในขณะที่ “เสียง” จากประชาชนในเมียนมาที่ดังมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังส่งสารออกไปให้คนทั่วโลกรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และความต้องการประชาธิปไตยของพวกเขา

ในขณะเดียวกันสำหรับการสร้างอนาคตทางการเมืองด้วยแนวทางประชาธิปไตย นี่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมากให้ผู้คนในเมียนมาเองต้องตั้งใจฟัง “เสียง” ที่เพื่อนร่วมจินตนากรรม “ชาติ” กำลังสื่อสารออกมา