ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (16) : ปิยบุตร แสงกนกกุล

ย้อนอ่านตอน 15  14  13  12

การเปลี่ยนสถานะจากสภาฐานันดรให้เป็นสภาแห่งชาติ นอกจากช่วยยืนยันความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ ไม่ใช่ของกษัตริย์แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายความคิดใหม่ในเรื่องประชาธิปไตยแบบผู้แทนด้วย

พวกฐานันดรที่สามต้องการให้ผู้แทนแต่ละฐานันดรเข้าประชุมร่วมกัน ลงมติร่วมกัน และนับคะแนนเป็นรายหัว

ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้พวกเขาได้เปรียบและกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และชีวิตทางการเมืองของฝรั่งเศสได้

ดังนั้น สมาชิกฐานันดรที่สามจึงต้องหาคำอธิบายมาสนับสนุนความคิดดังกล่าว

Sieyes ให้เหตุผลว่า ความเป็นผู้แทนของชาติต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวและไม่อาจแบ่งแยกได้

ดังนั้น จึงไม่อาจมีสมาชิกสภาคนใดที่กล่าวอ้างความเป็นผู้แทนของชนชั้น ความเป็นผู้แทนของฐานันดร หรือความเป็นผู้แทนของเขตพื้นที่ใด

ผู้แทนทั้งหลายจึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยการประชุมแยกกัน

ผู้แทนที่ได้รับเลือกจากประชาชนตามเขตพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้รับมอบอาณัติมาจากประชาชนผู้เลือก และไม่ได้เป็นผู้แทนในเขตพื้นที่ แต่เป็นผู้แทนของชาติทั้งหมด

การแสดงออกของผู้แทนคือการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไปร่วมกันทั้งหมดของชาติ

ความคิดของ Sieyes ในเรื่องดังกล่าว เป็นต้นกำเนิดของหลักการเรื่อง Free Mandate

กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนมีอิสระในการตัดสินใจลงมติในเรื่องใดๆ ในฐานะผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ

ซึ่งตรงกันข้ามกับ Imperative Mandate ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนจำต้องผูกมัดตามอาณัติของประชาชนที่เลือกตนและตามเขตพื้นที่ที่ตนลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทน

ในวันที่ 8 กรกฎาคม 1789 สภาแห่งชาติได้ยืนยันภารกิจในการใช้อำนาจอธิปไตยของตนว่า

“ชาติฝรั่งเศสอันชอบธรรมทั้งมวลแสดงออกทางผู้แทนผ่านสมาชิกสภาแห่งชาติทั้งหลาย อาณัติบังคับใด สมาชิกกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เสียงส่วนน้อยใด ไม่อาจหยุดยั้งกิจกรรมของสภาแห่งชาติ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเสรีภาพของสภาแห่งชาติ ไม่อาจตัดทอนกำลัง และไม่อาจจำกัดอำนาจนิติบัญญัติซึ่งครอบคลุมทุกส่วนของชาติและเป็นของชาวฝรั่งเศสทั้งมวล”

เพียงช่วงเวลาเดือนเศษนับตั้งแต่เปิดประชุมสภาฐานันดร ระบบการเมืองฝรั่งเศสก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างถึงราก

เริ่มจากการยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ มิใช่ของกษัตริย์

ต่อด้วยการอธิบายว่าอำนาจอธิปไตยของชาตินั้นแสดงออกโดยสภาแห่งชาติ (แปลงสภาพมาจากสภาฐานันดรที่สาม) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนของชาติ

จนอาจกล่าวได้ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ได้ปักหมุดหลักการเรื่อง “อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ” และ “ประชาธิปไตยทางผู้แทน” ให้แก่การเมืองสมัยใหม่

สภาแห่งชาติได้เปลี่ยนแปลงหลักความเป็นผู้แทนไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่สภาฐานันดรเป็นเพียงสภาผู้แทนที่กษัตริย์เรียกประชุมเพื่อปรึกษาหารือในราชการแผ่นดิน

กลายเป็นสภาที่เป็นสภาผู้แทนของชาติ มีและใช้อำนาจอธิปไตยอย่างทั่วไปผ่านการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับในรัฐ ในชื่อของ “สภาแห่งชาติ” (Assemblee nationale)

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดปัญหาตามมาว่า สภาแห่งชาติมีความสัมพันธ์ทางอำนาจกับกษัตริย์เช่นใด?

จะจัดวางโครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่ของฝรั่งเศสอย่างไร?

กล่าวให้ถึงที่สุด ฝรั่งเศสจะกำหนดรัฐธรรมนูญตามระบบใหม่อย่างไร?

สภาแห่งชาติซึ่งกำเนิดจากการประกาศเปลี่ยนสถานะตนเองของสภาฐานันดรที่สาม ได้กำหนดภารกิจของตนไว้ ได้แก่ การกำหนดรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักร การจัดวางระเบียบโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่ และการรักษาหลักการอันถูกต้องของสถาบันกษัตริย์

โดยสมาชิกสภาแห่งชาติได้รวมตัวกันในวันที่ 20 มิถุนายน 1789 เพื่อสาบานตนที่สนามเทนนิส Jeu de Paume ว่า สมาชิกสภาแห่งชาติจะประชุมร่วมกันเพื่อทำภารกิจนี้ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรยังไม่ถูกก่อตั้งขึ้นและยังไม่ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง พวกเขาจะไม่มีวันแยกหนีจากกัน

หากพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์แล้ว การสาบานตนของสมาชิกสภาแห่งชาติที่สนามเทนนิสยิ่งทำให้เห็นถึงความคิดเรื่องความเป็นผู้แทนของชาติทั้งหมด มิใช่ผู้แทนของประชาชนคนใดคนหนึ่ง

กล่าวคือ การสาบานตนในครั้งนี้เป็นการผูกมัดตนเองร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาแห่งชาติ มิใช่การตกลงหรือให้คำมั่นสัญญากับประชาชนผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ

สมาชิกแต่ละคนต่างก็รับผิดชอบต่อกันและกันอย่างเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกันในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยพันธะผูกพันนี้ สภาแห่งชาติจึงต้องสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับอย่างมั่นคงถาวร

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสจึงเป็นเป้าประสงค์และดอกผลของการปฏิวัติ

เมื่อสภาแห่งชาติไม่ได้ทำหน้าที่ตรากฎหมายเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่สถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ด้วย

ดังนั้น เพื่อยืนยันถึงภารกิจของสภาแห่งชาติให้แน่นอนชัดเจน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 1789 สภาแห่งชาติจึงมีมติเพิ่มเติมสถานะของตนจากเดิมที่เป็น “สภาแห่งชาติ” (Assemblee nationale) ให้กลายเป็น “สภาแห่งชาติสถาปนารัฐธรรมนูญ” (Assemblee nationale constituante)

เมื่อพูดถึงวันหรือเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้คนจำนวนมากมักคิดถึงเหตุการณ์ทลายคุก Bastille เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวันชาติฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดตามที่กล่าวมาในตอนนี้กับตอนที่แล้ว จะเห็นได้ว่า วันอันเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองฝรั่งเศสแบบ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” ไม่ใช่วันที่ 14 กรกฎาคม 1789

แต่เป็นสี่วันอันสำคัญในสภาแห่งชาติ ได้แก่

5 พฤษภาคม 1789 วันเปิดประชุมสภาฐานันดร เริ่มต้นโอกาสของฐานันดรที่สามในการเดินหน้าสู่การปฏิวัติ

17 มิถุนายน 1789 วันที่สภาฐานันดรที่สามลงมติประกาศตนเป็นสภาแห่งชาติ และยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ มิใช่ของกษัตริย์ โดยมีสภาแห่งชาติเป็นผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตย

20 มิถุนายน 1789 วันที่สมาชิกสภาแห่งชาติสาบานตนที่สนามเทนนิสว่าจะประชุมร่วมกันจนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญ

9 กรกฎาคม 1789 วันที่สภาแห่งชาติลงมติเพิ่มเติมภารกิจเข้าไปเป็น “สภาแห่งชาติสถาปนารัฐธรรมนูญ”

เหตุการณ์สำคัญในสภาแห่งชาติเหล่านี้ คือ ห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติ

อาจกล่าวได้ว่า การรื้อถอนทำลายระบบรัฐธรรมนูญของระบอบเก่า กระทำโดยสภาฐานันดรที่สาม พาไปสู่สภาวะปลอดระบบรัฐธรรมนูญ และมุ่งหน้าสู่การสถาปนาระบบรัฐธรรมนูญใหม่

หากพิจารณาจากระบบกฎหมายของระบบเก่า การกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายและไม่ชอบธรรมตามฐานของระบบเก่า

แต่มันจะมีปัญหาอะไรหลงเหลืออีกเล่า ในเมื่อการกระทำนี้คือการปฏิวัติ

ในตอนหน้า จะมากล่าวถึงข้อถกเถียงประเด็นสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส