กองทัพกับรัฐประหาร / นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

กองทัพกับรัฐประหาร

 

การบิดเบี้ยวรัฐธรรมนูญเพื่อยึดอำนาจในพม่า ทำให้ผมนึกถึงการแทรกแซงการเมืองของกองทัพซึ่งเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้ชื่อว่ากองทัพแทรกแซงการเมืองอย่างหนัก (ร่วมกับแอฟริกา, ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา)

แม้ไม่ถึงกับยึดอำนาจอย่างออกหน้า แต่ก็แทรกเข้ามาล้มหรือผดุงรัฐบาลอยู่ตลอดมา ในปัจจุบันทั้งกองทัพไทย, พม่า และกัมพูชา ต่างกำกระดาษชำระเข้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้แก่รัฐบาลที่กองทัพพอใจทั้งสิ้น

ดูจากประวัติของการก่อกำเนิดกองทัพสมัยใหม่เฉพาะในภูมิภาคบ้านเรา อาจแบ่งออกอย่างหยาบๆ ได้เป็นสองหรือสามประเภท

 

ในพม่า, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ลาว และกัมพูชา กองทัพซึ่งมีมาก่อนได้เอกราช ล้วนเป็นกองทัพอาณานิคม สร้างขึ้นเพื่อใช้ปราบปรามศัตรูภายใน (อาณานิคมทุกแห่งในภูมิภาครักษาความมั่นคงภายนอกด้วยสนธิสัญญาและการเจรจา) แต่กองทัพที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อกอบกู้เอกราชและสร้างชาติขึ้นมา เป็นอีกกองทัพหนึ่งที่นักชาตินิยมและญี่ปุ่นร่วมกันสร้างขึ้นมา นี่คือกองทัพแห่งชาติ อาจผนวกเอาบางส่วนที่น้อยมากของกองทัพอาณานิคมเข้ามา เช่น กองทัพอินโดนีเซียในระยะแรกได้กลุ่มนายทหารไม่เกินระดับนายพันมาจากกลุ่มที่กองทัพอาณานิคมดัตช์ได้ฝึกเอาไว้ ส่วนพม่าแทบจะไม่ได้นายทหารจากกองทัพอาณานิคมอังกฤษเลย เพราะอังกฤษฝึกแต่กะเหรี่ยง, กะฉิ่น และฉิ่น เป็นทหารในกองทัพ

ในกลุ่มนี้ มีความต่างที่สำคัญรวมอยู่ด้วย นั่นคือกองทัพไทยเป็นกำลังหลักในการปฏิวัติชาตินิยม 2475 ฉะนั้น จะพูดว่ากองทัพไทยคือผู้สร้างชาติเช่นเดียวกับพม่าและอินโดนีเซียก็ได้ เพียงแต่กองทัพไทยถือกำเนิดขึ้นร่วมสมัยกับกองทัพอาณานิคม และยึดถือภารกิจหลักรวมทั้งการจัดองค์กรเหมือนกองทัพอาณานิคม (เช่น นายทหารระดับสูงถูกเลือกมาจากกำเนิด – ผิวขาวหรือเจ้า) ดังนั้น ไทยจึงแตกต่างตรงที่กองทัพซึ่งสร้างรัฐประชาชาติขึ้นคือกองทัพ “อาณานิคม”

กองทัพของสามประเทศอินโดจีนไม่เหมือนพม่าหรืออินโดนีเซียทีเดียวนัก แม้ว่ามีบทบาทในการสร้างชาติอย่างเด่นชัดก็ตาม เพราะกองทัพของทั้งสามประเทศนั้น เป็นเพียงเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็งมาก ดังนั้น เมื่อเกิดรัฐประชาชาติที่เป็นเอกราชขึ้น (ในเวียดนามเมื่อ ค.ศ.1955 ในลาวและกัมพูชาเมื่อ 1975) พรรคจึงยังกุมอำนาจไว้เหนือกองทัพได้

แม้กระนั้น กองทัพก็มีบทบาทสำคัญทางการเมือง เพราะการถือหรือแย่งอำนาจในพรรคจะประสบความสำเร็จได้เด็ดขาด ก็ต่อเมื่อผู้นำสามารถคุมกองทัพได้ด้วย เช่น ในช่วงที่นายกฯ ฟามวันดง ช่วงชิงอำนาจจากลุงโฮ หรือฮุน เซน เข้าไปถืออำนาจแทนเฮง สัมริน แต่เวทีการแข่งขันอยู่ในพรรค ไม่ได้อยู่ในกองทัพ ดังนั้น กองทัพจึงยังเป็นเครื่องมือของพรรค ไม่ใช่เป็นผู้เล่นเองโดยตรง

 

กองทัพสมัยใหม่ประเภทที่สองของภูมิภาคนี้ก็คือ กองทัพที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นเอกราชแล้ว และมักเป็นรัฐใหม่ที่ระบอบอาณานิคมรวบรวมขึ้นจากหลายรัฐ เช่น รัฐมลายูที่ถูกรวมเข้ามาเป็นมาเลเซีย, หมู่เกาะต่างๆ ที่ถูกรวมเป็นฟิลิปปินส์ หรือสิงคโปร์ซึ่งเคยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐอื่น

ในแหลมมลายูตอนล่าง อังกฤษแทบไม่ได้สร้างกองทัพขึ้นมาเลย นอกจากนำบางส่วนของกองทัพอินเดียเข้ามารักษาความสงบภายใน กองทัพมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่เกิดขึ้นในภายหลัง จึงถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลใหม่โดยแท้ (แม้ในการปราบกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายู ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากอังกฤษก็ตาม) ในฟิลิปปินส์ สหรัฐสร้างกองทัพอาณานิคมขึ้นเพื่อปราบปรามกบฏอย่างเหี้ยมโหดและทารุณ แต่กองทัพอาณานิคมไม่ได้มีส่วนในการสร้างรัฐประชาชาติเท่ากับเจ้าที่ดิน-นักการเมือง ที่ร่วมกันเจรจาต่อรองด้านเอกราชกับสหรัฐ ซึ่งไม่ต้องการรับผิดชอบอาณานิคมของตนอีกต่อไปแล้ว

ในประเทศเหล่านี้ กองทัพไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในฐานะผู้เล่นเองโดยตรง แต่อาจตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองซึ่งอยู่นอกกองทัพได้เป็นบางครั้ง

 

กองทัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็น”รัฐซ้อนรัฐ” มีเพียงสามกองทัพเท่านั้นคือไทย, พม่า และอินโดนีเซีย (ในสมัยหนึ่ง) และการแทรกแซงทางการเมืองของแต่ละกองทัพ ก็มีเงื่อนไขปัจจัยที่ต่างกัน

แม้ว่ากองทัพอินโดนีเซียมีส่วนอย่างสำคัญในการต่อสู้เพื่อเอกราช แต่กองทัพเต็มไปด้วยความแตกแยก เพราะทหารล้วนมาจากกองกำลังต่างชนิดกัน ดัตช์ฝึกมาบ้าง ญี่ปุ่นสร้างขึ้นบ้าง และกลุ่มหนุ่ม-สาวและนักศึกษารวมตัวกันเป็นกองกำลังบ้าง จนแม้องค์กรศาสนาและพรรคการเมืองต่างก็มีกองกำลังของตนเอง ถึงในที่สุดรวมตัวเป็นกองทัพที่มีโครงสร้างบริหารภายในเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่ความแตกแยกภายในก็ยังแฝงอยู่ตลอดมา จึงต้องยอมอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของนักการเมืองพลเรือนที่มีฐานมวลชนสนับสนุนอย่างกว้างขวางเช่นประธานาธิบดีซูการ์โน

จนเมื่อนายพลซูฮาร์โตสามารถรวมกำลังของกองทัพเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามใหญ่ของตน คือพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้สำเร็จในปี 1965 (ไม่ว่าภัยคุกคามดังกล่าวมีจริงหรือถูกกุขึ้นก็ตาม) และเถลิงอำนาจสืบมาอีกกว่า 30 ปี ความแตกแยกภายในของกองทัพจึงลดลงบ้าง แม้ไม่เป็นเอกภาพทีเดียวนัก

ยิ่งกว่านี้ ในระยะแรก กองทัพอินโดนีเซียไม่มีสมรรถนะในการวางยุทธศาสตร์ เพราะนายทหารที่ได้รับการฝึกปรือมาจากโรงเรียนนายทหารของดัตช์มียศไม่เกินนายพัน เคยคุมกำลังระดับกองพัน วางยุทธวิธีในการต่อสู้เป็นจุดๆ ได้ แต่วางยุทธศาสตร์ในสงครามไม่เป็น

คล้ายกองทัพไทย เพราะสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นายทหารสามัญชนมียศได้ไม่เกิน พ.อ. ยศสูงกว่านั้นสงวนไว้กับเจ้านายหรือเชื้อสายขุนนางอันน่าไว้วางใจแก่ราชบัลลังก์เท่านั้น การปฏิวัติ 2475 ทำให้นายพันเหล่านี้ขึ้นไปคุมกองทัพและเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายปฏิวัติ แต่เพราะมองภาพใหญ่ไม่เป็น จึงต้องปล่อยให้การขยายการปฏิวัติไปสู่สังคมวงกว้าง ตกอยู่ในมือของผู้นำสายพลเรือน

อย่างไรก็ตาม ทั้งกองทัพอินโดนีเซียและไทยก็เริ่มสั่งสมความรู้ด้านยุทธศาสตร์จากประสบการณ์ เช่น กองทัพอินโดนีเซียต้องปราบกบฏใหญ่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตลอดทศวรรษแรกที่อินโดนีเซียได้เอกราช กองทัพไทยก็ต้องเผชิญกบฏบวรเดชซึ่งเป็นกองกำลังขนาดใหญ่เช่นกัน ทั้งยังเข้าสงครามกับฝรั่งเศส และเคลื่อนเข้ายึดครองดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาลวิน สมรรถนะด้านยุทธศาสตร์ของทั้งสองกองทัพจึงเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์

กองทัพพม่าเป็นกองทัพที่ต้องเผชิญการรบ-ในรูปการรบเฉพาะถิ่นและสงคราม-มากที่สุด นับตั้งแต่การกบฏของกองทัพเอง ทั้งนายทหารกะเหรี่ยง, กองกำลังที่แยกไปสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ และกองกำลังของชนชาติส่วนน้อยอื่นๆ อีกทั้งยังต้องเผชิญสงครามกับกองทหารต่างชาติ นับตั้งแต่กองพลทหารจีนคณะชาติ ไปจนถึงกองกำลังของจีนคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาสนับสนุนกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

ดังนั้น ความชอบธรรมอันโดดเด่นที่สุดของกองทัพพม่าซึ่งกองทัพอินโดนีเซียและไทยไม่อาจอ้างได้ก็คือ ความเป็นรัฐเอกราชของพม่า (ไม่ว่าในรูปสหพันธรัฐหรือรัฐเดี่ยว) เป็นผลผลิตของกองทัพแต่ผู้เดียวโดยแท้ และตราบเท่าที่เสถียรภาพของรัฐพม่ายังไม่มั่นคงแล้ว กองทัพย่อมต้องมีบทบาทนำในทางการเมืองตลอดไป… ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับก็ตาม

 

เหตุผลอย่างหนึ่งที่ใช้กันมากในการอธิบายการแทรกแซงการเมืองของกองทัพในประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่ความทันสมัยก็คือ ในฐานะที่เป็นองค์กรสมัยใหม่ กองทัพก็ต้องแข่งขันกับองค์กรสมัยใหม่อื่นๆ ในสังคม เช่น รัฐสภา, ฝ่ายบริหารพลเรือน, ระบบราชการ, ตุลาการ, มหาวิทยาลัย, น.ส.พ. ฯลฯ แต่กองทัพมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากองค์กรสมัยใหม่อื่นๆ กล่าวคือ มีความเป็นปึกแผ่นภายในสูง (กินนอนในค่ายเดียวกัน ผ่านการศึกษาระบบเดียวกันและมักจะสถาบันเดียวกัน ฯลฯ) เน้นความสำเร็จเป็นรูปธรรมในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย มีความชำนาญ (โดยเปรียบเทียบ) ในวิทยาการแผนใหม่ เช่น วิศวกรรมศาสตร์, คณิตศาสตร์บางแขนง, ภูมิศาสตร์กายภาพ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้สังคมโดยรวมและตัวกองทัพเอง เชื่อว่ากองทัพย่อมมีสมรรถภาพสูงกว่าหน่วยงานอื่น หรือกลุ่มบุคคลอื่น และดึงให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองเสมอ

คำอธิบายเช่นนี้ดูจะฟังขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ด้วย การเข้ามาบริหารชั่วคราวของกองทัพภายใต้นายพลเนวินเป็นเวลา 18 เดือนระหว่าง 1958-1960 ทำให้ความสงบเรียบร้อยแบบอาณานิคมอังกฤษกลับคืนมาสู่พม่า สร้างความพอใจให้ประชาชนพอสมควรทีเดียว

เช่นเดียวกับการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน 1957 ทำให้เกิดความเป็นระเบียบบางประการที่ทำความพอใจแก่คนชั้นกลางในเขตเมือง (เช่น ไม่ทิ้งเศษขยะลงบนถนน) การขึ้นสู่อำนาจของนายพลซูฮาร์โตใน 1965 ก็เช่นกัน นอกจากเป็นที่พอใจแก่มหาอำนาจตะวันตกแล้ว การทุ่มความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการคลังของตะวันตกก็ดูจะทำให้สภาพเงินเฟ้ออย่างหนักชะลอตัวและยุติลงในที่สุดด้วย

 

แม้ว่าจะฟังขึ้นในทศวรรษ 1960 แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่สังคมของประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ความทันสมัยทั้งหลายหลังจากนั้น ทำให้คำอธิบายนี้ไร้พลังอธิบายลงไปจนแทบสิ้นเชิง

เป็นที่เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นทุกทีว่า กองทัพกลายเป็นองค์กรล้าสมัยและไร้สมรรถนะทางวิชาความรู้เพื่อการบริหารรัฐสมัยใหม่ แม้ในช่วงทศวรรษ 1960 กองทัพซึ่งยึดอำนาจได้ในสามรัฐสมัยใหม่ดังกล่าว ก็หาได้มีสมรรถนะในการบริหารเศรษฐกิจไม่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำเอาเทคโนแครตด้านเศรษฐศาสตร์เข้ามาเป็นผู้วางแผนพัฒนา ตลอดจนบริหารจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซูฮาร์โตมีกลุ่มที่เรียกกันว่า “เบิร์กเลย์มาเฟีย” ช่วยวางแผนและบริหารเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า “กำไร” ก้อนใหญ่ไม่น้อยทีเดียวซึ่งเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจใหม่ย่อมตกอยู่ในมือนายทหาร แต่การกำหนดแผนการทางเศรษฐกิจและการดำเนินการไม่ได้อยู่ในมือกองทัพ

นโยบาย “สังคมนิยมวิถีพม่า” ของเนวิน ซึ่งไม่มีนักเศรษฐศาสตร์เข้าร่วมด้วย นำพม่าซึ่งเคยเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคไปสู่ความเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด

สมรรถนะเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียวของกองทัพไม่เพียงพอจะบริหารรัฐสมัยใหม่ได้ ยิ่งสังคมเปลี่ยนไปมากเท่าไร สมรรถนะของกองทัพที่แคบมากเช่นนั้น ก็ยิ่งกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาของประเทศที่ถูกกองทัพปล้นอำนาจไป ความจริงข้อนี้ประจักษ์ชัดขึ้นแก่สังคมโดยรวม และให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ย่อมประจักษ์ชัดขึ้นแม้แต่แก่นายทหารบางกลุ่มในกองทัพด้วย แต่พวกเขาถูกขจัดออกไปในกรณีพม่าและอินโดนีเซีย และ “ไม่งอก” ในกรณีไทย

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกระทบต่อตัวกองทัพเองด้วย ในละตินอเมริกา กลุ่มคนที่เข้าโรงเรียนนายทหารเริ่มเปลี่ยนจากตระกูลชนชั้นสูงเจ้าที่ดินในชนบท มาเป็นลูกหลานของคนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะจากกลุ่มวิชาชีพ ทำให้นายทหารในกองทัพเริ่มมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ต่างออกไปจากกลุ่มนายทหารรุ่นเก่า และทำให้การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพเปลี่ยนไป เช่น อิงกับฐานมวลชนมากขึ้น (เช่น นายพันซึ่งยึดอำนาจได้ในหลายประเทศช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา)

 

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดในสามประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ผู้เขียนมีข้อมูลไม่พอจะบอกได้ แต่มีแนวโน้มอย่างหนึ่งที่เห็นได้ในไทยและพม่าก็คือ จำนวนมากของนายทหารในกองทัพปัจจุบันล้วนมาจากครอบครัวนายทหาร ความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมของกลุ่มนายทหารจึงมีสูง และทำให้กองทัพปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้ยาก ในขณะเดียวกัน โอกาสจะเกิดการรัฐประหารของนายพันคงเป็นไปได้ยากทั้งในพม่าและไทย

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในกองทัพไทยก็คือ ระดับการศึกษาของทหารเกณฑ์สูงขึ้น (ซึ่งในระยะยาวย่อมกระทบต่อปูมหลังของทหารชั้นประทวนด้วย) ก่อให้เกิดความตึงเครียดบางอย่างในกองทัพ ที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น การกราดยิงอย่างบ้าเลือดที่โคราช, การฟ้องร้องผู้บังคับบัญชา, การ “ฟ้องร้อง” ต่อสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในหน่วย ฯลฯ ทั้งหมดนี้คงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

เข้าใจว่า ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมมีในกองทัพอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน ส่วนในพม่า แม้การขยายตัวด้านการศึกษาไม่มากเท่า แต่เนื่องจากอาชีพทหารเป็นทางทำมาหากินที่ได้ผลตอบแทนสูง จึงดึงดูดคนหนุ่มให้เข้าไปแข่งขันเพื่อเป็นทหารมาก และผู้ได้รับการศึกษากว่าย่อมได้เปรียบ

ดังนั้น ในทั้งสามกองทัพ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังค