On History : การเดินทาง 3,000 ปี จาก ‘สีม่วงราชวงศ์’ มาเป็น ‘สีเหลืองจีวรพระ’ / ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ชิ้นส่วนผ้าย้อมสีม่วงราชวงศ์ อายุ 3,000 ปี ที่เพิ่งค้นพบในหุบเขาทิมนา ประเทศอิสราเอล (ภาพจาก : www.xinhuathai.com)

การเดินทาง 3,000 ปี

จาก ‘สีม่วงราชวงศ์’

มาเป็น ‘สีเหลืองจีวรพระ’

เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ คณะนักโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ประเทศอิสราเอล นำโดย ดร.นาอ์มา ซูคีนิก (Naama Sukenik) ได้เปิดเผยว่า ทีมวิจัยของพวกเขาได้ค้นพบ “ผ้าย้อมสีม่วงราชวงศ์” (royal purple) หลายผืน ที่หุบเขาทิมนา (Timna valley) ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตอนใต้ของกรุงเยรูซาเลม เมืองหลวงของอิสราเอล ประมาณ 220 กิโลเมตร

ส่วนที่สีม่วงแบบนี้ ถูกเรียกว่า “สีม่วงราชวงศ์” ก็เพราะว่าเมื่อโบราณกาลนานมา ในพื้นที่ประเทศอิสราเอลนั้น สีม่วงแบบนี้ถือเป็นของมีราคา ว่ากันว่ามูลค่าของมันเมื่อครั้งกระโน้นสูงยิ่งกว่าทองคำเสียอีก

เหตุที่ผ้าย้อมสีม่วงราชวงศ์มีราคาสูงลิบลิ่วขนาดนี้ก็เป็นเพราะการจะได้มาซึ่งสีที่ว่านี้ จำต้องใช้วัตถุดิบที่หายากในท้องที่

เพราะสีม่วงที่ว่านี้ได้ว่าจากมอลลัสก์ (Mollusk) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกหอยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่อยู่ห่างจากหุบเขาทิมนาไปถึง 300 กิโลเมตร แถมมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน แต่ก็จะได้ผ้าที่มีสีม่วงติดทนนาน

และก็เป็นที่แน่นอนว่า เมื่อเป็นของที่สูงทั้งคุณค่าและมูลค่าอย่างนี้แล้ว ผ้าที่ย้อมสีม่วงอย่างนี้จึงได้กลายเป็นของหวงห้าม ที่สังคมอิสราเอลโบราณนั้นจะอนุญาตให้ใช้กันเฉพาะในกลุ่มของชนชั้นสูง, นักบวช และพวกเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาให้มีการเรียกสีม่วงเฉดนี้ว่า “สีม่วงราชวงศ์” นั่นแหละครับ

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นักโบราณคดีกลุ่มนี้ได้นำชิ้นส่วนของผ้าย้อมสีม่วงราชวงศ์หลายผืนที่ว่านี้ไปกำหนดอายุด้วยการหาค่าคาร์บอน ซึ่งก็ได้ตัวเลขที่เก่าแก่ถึง 3,000 ปีเลยทีเดียว

เจ้าตัวเลข 3,000 ปีที่ว่านี้น่าสนใจทีเดียวนะครับ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับหลักฐานในพระคัมภีร์ (ไบเบิล แปลตรงตัวว่าพระคัมภีร์) ไม่ว่าจะเป็นของพวกยิว (พันธสัญญาเดิม) หรือของชาวคริสต์ (พันธสัญญาใหม่) ก็ตาม ต่างก็ระบุเอาไว้ตรงกันว่าเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับสมัยของกษัตริย์เดวิดและกษัตริย์โซโลมอน ผู้เป็นลูกชายของเดวิด

แถมในพระคัมภีร์ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า กษัตริย์องค์สำคัญของทั้งชาวยิวและคริสต์ศาสนิกชนทั้ง 2 พระองค์นี้ฉลองพระองค์ด้วยชุดสีม่วงราชวงศ์เสียด้วย

แต่ผู้ที่ฉลองพระองค์ด้วยชุดสีม่วงราชวงศ์อย่างนี้ ในพระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่ามีเพียงเฉพาะกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ข้างต้นเท่านั้นเสียหน่อย

ใครอีกคนหนึ่งที่เคยสวมผ้าย้อมสีม่วงอย่างนี้เช่นกัน แต่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมากกว่าน่าจะเป็นใครคนที่ถูกรู้จักกันในชื่อของ “พระเยซู”

ชาวคริสต์คงนึกภาพฉากตอนที่เหล่าทหารโรมันทรมานพระเยซูที่ถูกตรึงอยู่บนกางเขนได้ และคงจะจำกันได้ดีว่า พวกทหารแห่งโรมสวมมงกุฎหนามและคลุม “ผ้าสีแดง” ให้กับพระองค์ เพื่อเป็นการเย้ยหยันว่าพระองค์เป็นราชาแห่งพวกยิว

ที่คลุมผ้า “สีแดง” ให้นี้ก็หมายถึง “สีม่วงราชวงศ์” นี่แหละนะครับ เพราะว่าสีม่วงเดียวกันนี้ได้ถูกใช้เป็นผ้าคลุมสีเฉพาะของจักรพรรดิแห่งโรมด้วย โดยในยุคที่พวกโรมันเรืองอำนาจนั้น สีม่วงแบบนี้ถูมองว่าเป็นสีม่วงอมแดง ที่เรียกกันในปัจจุบันว่าสีมาเจนต้า (magenta) ซึ่งก็ไม่นับว่าแปลกอะไร เพราะในพระคัมภีร์ฉบับแปลก็เลือกที่จะใช้คำว่า “purple” ซึ่งหมายถึงสีม่วงที่ออกโทนแดง ไม่ใช่ “violet” ที่หมายถึงสีม่วงโทนน้ำเงินมาตั้งแต่ต้นแล้ว

แต่ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสีแดงเป็นเพราะพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานที่ชาวคริสต์ใช้กันมากที่สุดคือฉบับคิง เจมส์ แปลฉากตอนนี้ว่าเป็นผ้า “สีแดง” จนทำให้ใครต่อใครโดยเฉพาะบรรดาศิลปินทั้งหลายมักจะวาดภาพพระเยซูครองอาภรณ์ผ้าสีแดงไปเสียหมด อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์บางสำนวนที่ไม่ใช่ฉบับคิง เจมส์ ก็ได้แปลฉากนี้เป็นผ้า “สีม่วง” ด้วยเช่นกัน

และก็แน่นอนด้วยว่าพวกยิวนั้นแต่งกายไม่เหมือนกับชาวโรมัน ดังนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ การที่พวกโรมันนั้นใช้ผ้าผืนสีม่วงอมแดงที่ว่านี้ กับผ้าผ่อนผืนเฉพาะในวัฒนธรรมของพวกเขา

ชาวโรมันมีเสื้อผ้าที่ประกอบขึ้นมาจากชิ้นส่วนหลักๆ สองชิ้น (ซึ่งรับเอารูปแบบจากกรีกมาอีกทอด) ได้แก่ “โทก้า” (toga) คือผืนผ้ายาวประมาณ 6 เมตร ใช้ห่มคลุมร่างกายที่มีชุดที่เรียกว่า “ทูนิก” (tunic) สวมอยู่ภายใน ส่วนใหญ่ผ้าผ่อนเหล่านี้จะทอขึ้นจากขนแกะ ที่สำคัญคือในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล คือราว พ.ศ.350 ลงมา ชาวโรมันถือว่าผ้าโทก้าเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะสำหรับ “ผู้ชาย” ซ้ำยังต้องเป็นชายชาว “โรมัน” เสียด้วย

“ผ้าโทก้า” ผืนเดียวกันนี้เองที่ในวัฒนธรรมอินเดียเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาสันสกฤตยาวๆ ยากๆ จนไม่รู้จะเปลี่ยนไปเรียกให้ลำบากกันทำไมว่า “อาศารยปริวฤติ” และคลุมอยู่บนร่างของพระพุทธรูปยุคเริ่มแรกของโลก ช่วงปลายๆ ศตวรรษของ พ.ศ.500 ในศิลปะที่เรียกว่า “คันธาระ” ทางตอนเหนือของชมพูทวีป เพราะถือว่าเป็นของสูง ที่แสดงถึงอำนาจและบารมีนั่นเอง

(ส่วนที่ผ้าจีวรของพระสงฆ์องค์เจ้ามีอิทธิพลของผ้าผ่อนจากชาวโรมมาผสมนั้น ก็เป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่บริเวณที่ว่า อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวกรีกลูกหลานนายพลที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์นำมาทิ้งไว้ ชาวกรีกเหล่านี้หันมานับถือพระบวรศาสนาของพระพุทธเจ้าจนมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น ใครไม่เชื่อผมขอให้ไปเถียงกับปกรณ์สำคัญในพระศาสนาอย่างปัญหาพระยามิลินท์เอาเองนะครับ)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอีกเหมือนกันที่ผ้าไตรจีวรทั้งสามผืน ซึ่งหมายรวมถึงสังฆาฏิ ที่ก็คือผ้ายาวอาศารยปริวฤติ ในพระพุทธรูปคันธาระนั่นเอง จะถูกแปลความเป็น “สีเหลือง” บ้างอย่างในไทย และอีกสารพัดแห่งทั่วไปในอุษาคเนย์

ในขณะที่จีน ทิเบต หรือพม่าบางส่วนจะเข้าใจว่าผ้าผืนนี้เป็น “สีแดง” เพราะอันที่จริงในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้บอกเอาไว้เสียหน่อยว่าเป็นผ้าเหลือง

ในพระวินัยปิฎกมีระบุไว้แค่ว่า พระพุทธเจ้าอนุญาตให้นุ่งห่มผ้าจีวรที่ย้อมสีมาจากวัตถุดิบอะไรบ้าง แต่การที่สีจีวรเหล่านี้จะออกมาอยู่ในโทนสีใกล้ๆ กันก็แสดงให้เห็นว่ามีสีตัวอย่างร่วมกันอยู่ ซึ่งก็คงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเสียจนบัญญัติได้เสียด้วยว่าต้องใช้อะไรย้อมผ้าจึงจะได้สีที่ว่านั้น

แต่การแปลความสีของจีวรอาจต่างไปในแต่ละสังคมวัฒนธรรม? (ลองนึกตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ในบ้านเราทุกวันนี้ผู้สูงอายุหลายคนยังเรียกสีน้ำเงินเข้มว่าสีเขียวกันอยู่เลยด้วยซ้ำ)

เอาเข้าจริงแล้ว “สีม่วงราชวงศ์” ที่นักโบราณคดีอิสราเอลเพิ่งจะค้นพบ จึงเป็นสีเดียวกันกับ “สีม่วงอมแดง” ของจักรพรรดิแห่งโรม แล้วค่อยส่งทอดมาเป็นจีวร “ผ้าเหลือง” ในสยามบ้านเราไปในที่สุดนั่นเอง