‘สภาปัญญาสมาพันธ์’ เผยโพลประสิทธิผลภาครัฐ ชี้ทหาร มืออาชีพ-ปลอดโกงมากสุด

วันที่ 7 มิถุนายน ดร. อมรศักดิ์ กิจธนานันท์ หัวหน้าคณะทำงานสภาปัญญาสมาพันธ์ และผู้อำนวยการสถาบันการสร้างชาติ กล่าวว่า สภาปัญญาสมาพันธ์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศกว่า 1,200 คน ที่มีต่อดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index – PBE Index) ในช่วงต้น ปี 2560 โดยแบ่งการสำรวจ ผ่านด้านประสิทธิผลภาครัฐ และด้านการดำเนินงานของภาครัฐ  โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ด้านประสิทธิผลภาครัฐ 3 อันดับ ได้แก่ ประชาชนให้คะแนนร้อยละ 68.27 เรื่องการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นคะแนนร้อยละ 66.42เรื่องการปฏิบัติงานตอบสนองต่อประชาชน สามารถแก้ไขปัญหาได้ฉับไว และทันเหตุการณ์ และร้อยละ 64.77 เป็นเรื่องความสามารถในการควบคุม กำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตให้ดำเนินการทำภารกิจเป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด
  • ด้านการดำเนินงานของภาครัฐ 6 อันดับ ได้แก่ ประชาชนให้คะแนนร้อยละ 66.59 เรื่องที่ภาครัฐมีความสามารถสร้างพันธมิตรและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้อย่างราบรื่น รองลงมาร้อยละ 65.85 เป็นเรื่องความรับผิดชอบในผลการดำเนินงานของตน ตลอดจนชดใช้และเยียวยาเมื่อทำผิดพลาด ลำดับถัดมาให้คะแนนร้อยละ 65.39 เรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินงานของภาครัฐ ร้อยละ 64.59 เรื่องความเป็นมืออาชีพด้านการทำงาน  ร้อยละ 63.16 เป็นเรื่องความโปร่งใส และอันดับสุดท้ายร้อยละ 60.08 ให้เรื่องการปลอดคอร์รัปชั่น

ทั้งนี้ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ผ่านการวัดผล  ด้านประสิทธิภาพ ด้านความเป็นมืออาชีพ ด้านความรับผิดชอบ และด้านการปลอดคอร์รัปชั่น พบว่าประชาชนให้คะแนนหน่วยงานทหาร สูงถึง ร้อยละ 73.24 รองลงมาคือ อำเภอ ร้อยละ 71.44 และท้ายสุด ร้อยละ 67.73 เป็นหน่วยงานตำรวจ

ด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย กล่าวว่า การสำรวจดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย(Thailand’s Effectiveness Index) เป็นการสำรวจการรับรู้ของประชาชน (perception survey) โดย “สภาปัญญาสมาพันธ์” (WISDOM COUNCIL) ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง นอกเมือง ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและครบถ้วน โดยผลสำรวจจะสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ ตลอดจนความคาดหวังของประชาชน ที่มีต่อทุกภาคส่วนที่มีสำคัญต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งการทำแบบสำรวจอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เห็นมุมมองความคิดของประชาชนที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาต่อทั้งสามภาคส่วนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปแก้ไขหรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและต่อประเทศชาติได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย