Neuroarchitecture : เมื่อสถาปัตยกรรมส่งผลต่อสมอง และทิศทางใหม่ในการออกแบบเมือง? (จบ) / พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Neuroarchitecture

: เมื่อสถาปัตยกรรมส่งผลต่อสมอง

และทิศทางใหม่ในการออกแบบเมือง? (จบ)

 

เราจะออกแบบสถาปัตยกรรมตลอดจนสิ่งแวดล้อมในเมืองอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มความสุข ความสบาย และความพึงพอใจให้แก่มนุษย์

สิ่งนี้คือคำถามที่สำคัญที่สุดคำถามหนึ่งที่สถาปนิกและนักออกแบบเมืองทั่วโลกล้วนมีอยู่ในใจเสมอเมื่อต้องทำการออกแบบ

คำตอบในอดีตส่วนใหญ่เน้นไปที่ความสุขสบายทางกายเป็นด้านหลัก

เช่น การสร้างสภาวะน่าสบายของอุณหภูมิและแสงแดดที่เหมาะสมในตัวอาคาร ความกว้างยาวของพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้องค์ความรู้ด้าน Neuro-arch พัฒนาอย่างก้าวกระโดด

การสร้างความสุขทางใจอันเกิดจากปฏิกิริยาของสมองและระบบประสาทเมื่อมนุษย์เราเข้าไปใช้สอยพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมเริ่มพิสูจน์ได้ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

และเริ่มกลายเป็นหัวข้อที่พูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน

 

เป็นที่รับรู้มายาวนานแล้วนะครับว่า ฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์มีหลายตัวซึ่งแต่ละตัวจะส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายที่แตกต่างกันไป

ซึ่งในบรรดาฮอร์โมนทั้งหมด มีอยู่หลายตัวที่สัมพันธ์โดยตรงกับความสุข หรือที่เรียกกันว่า “ฮอร์โมนกลุ่มความสุข”

เช่น Oxytocin ที่รู้จักกันในชื่อ ฮอร์โมนแห่งความรักหรือความเชื่อใจ

Endorphin คือฮอร์โมนที่เปรียบเสมือนมอร์ฟีนธรรมชาติที่ร่างกายหลั่งขึ้นมาเมื่อมนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจ ผ่อนคลาย

และ DHEA คือฮอร์โมนต้านความเครียด เป็นต้น

คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์หลั่งฮอร์โมนกลุ่มความสุขออกมา ซึ่งจะส่งผลทางบวกต่ออารมณ์ ความรู้สึก และสุขภาพจิตใจของมนุษย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พื้นที่เมือง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผู้คน อาคารขนาดใหญ่ แหล่งรวมมลพิษและความเครียดนานัปการ

 

จากการตามอ่านงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ Neuro-arch มาบ้าง ทำให้พบว่า แม้องค์ความรู้ทางด้านนี้ยังห่างไกลจากเป้าหมายในอุดมคติอยู่ แต่สถานภาพทางความรู้ในปัจจุบันก็ทำให้ค้นพบเงื่อนไขการออกแบบบางประการที่ทำให้มนุษย์เราเกิดความพึงพอใจมากขึ้นเมื่อต้องอาศัยอยู่นพื้นที่เมือง

ในงานศึกษาของ Donald H. Ruggles เรื่อง Beauty, Neuroscience, and Architecture : Timeless Patterns and Their Impact on Our Well-Being เสนอไว้น่าสนใจว่า สมองของมนุษย์จะตอบสนองในด้านความรู้สึกพึงพอใจหรือความสุขเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่หรือวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่มีลักษณะหรือคุณสมบัติที่เชื่อมโยงกับการเพิ่มโอกาสในการเอาชีวิตรอด ซึ่งเป็นมรดกตกทอดทางธรรมชาติและสัญชาตญาณอันเก่าแก่ของเราทุกคน

สมองของมนุษย์มีพัฒนาการอย่างสัมพันธ์กับสัญชาตญาณดังกล่าวโดยตลอดจนกลายเป็นรหัสที่ฝังอยู่ในการทำงานของร่างกาย ระบบประสาท และสมอง

แม้สิ่งแวดล้อมและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จะมีความเปลี่ยนแปลงตลอดประวัติศาสตร์หลายพันปีของมนุษย์ แต่คุณสมบัติพื้นฐานดังกล่าวยังไม่เปลี่ยนแปลง

สถาปัตยกรรมหรือพื้นที่เมืองใดๆ ก็ตามที่ออกแบบอย่างสัมพันธ์กับ “แบบแผน” (pattern) ที่เอื้อต่อการเอาชีวิตรอด จะสร้างความรู้สึกพึงพอใจ ความปลอดภัย และความสุขให้เกิดขึ้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

คําตอบคือ เพราะ “แบบแผน” เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความคงเส้นคงวา คาดเดาได้ ปราศจากความสับสนยุ่งเหยิง แบบแผนจะทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต และความสามารถในการคาดการณ์ที่ดีจะทำให้โอกาสในการอยู่รอดเพิ่มขึ้น

ดังนั้น สมองของบรรพบุรุษเราจึงถูกฝึกฝนที่จะต้องเรียนรู้และมองหาแบบแผนจากสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ แบบแผน ความอยู่รอด ความรู้สึกพึงพอใจ และความสุข จึงเป็นเรื่องเดียวกัน

มรดกของความรักในสิ่งที่เป็นแบบแผนยังฝังอยู่ในตัวเราจนปัจจุบัน ดังนั้น สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นหากมีคุณลักษณะดังกล่าวก็จะส่งผลให้มนุษย์มีความสุข ในทางกลับกัน หากอาคารเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงอันคาดเดาไม่ได้ และเมืองออกแบบมาแล้วทำให้หลงทิศทาง สิ่งนี้จะสร้างความรู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด และความเครียดให้เกิดขึ้น

แบบแผนข้างต้นส่วนหนึ่งจะสะท้อนออกมาผ่านสิ่งที่เรียกว่า “จังหวะ” (rhythm) ของรูปทรงและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งมีหลายรูปแบบ

เช่น การใช้รูปทรงและองค์ประกอบแบบเดียวกันซ้ำๆ กันต่อเนื่องกันไป (repetition) อย่างพอประมาณไม่น่าเบื่อ

การสลับกันไปมาแบบคงที่ (alternation)

การเปลี่ยนจังหวะรูปทรงและองค์ประกอบที่ค่อยๆ เปลี่ยนขนาดให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง (progression)

และการสร้างจังหวะในแบบที่สายตาเราสามารถมองแล้วเกิดความรู้สึกไหลเลื่อนต่อเนื่องจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งโดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาขัดขวาง (transition)

ซึ่งหากสถาปัตยกรรมและผังเมืองถูกออกแบบอย่างสอดคล้องกับจังหวะเหล่านี้ก็จะสร้างความรู้สึกสบายใจให้เกิดขึ้น

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในงานของ Natalie Ricci เรื่อง The Psychological Impact of Architectural Design ยังเสนอว่า “แบบแผน” ในการออกแบบมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกของมนุษย์ในการมองงานสถาปัตยกรรมว่าชิ้นไหนสวยงามชิ้นไหนไม่สวยงามด้วย

หรืออาจพูดในอีกทางหนึ่งก็คือ สิ่งที่เรียกว่าสวยงามนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องรสนิยมเฉพาะของแต่ละบุคคล แต่เป็นความรู้สึกร่วมที่มีรากอันยาวนานโยงกลับไปสู่ “แบบแผน” ที่ทำให้มนุษย์รู้สึกคาดการณ์ได้ ปลอดภัย และอยู่รอด ซึ่งเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากๆ

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า ผมไม่ได้เห็นด้วยกับความพยายามอธิบายทุกอย่างโดยโยงกลับไปหาสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอดทั้งหมดนะครับ

เพราะชีวิตมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น สังคมวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ตลอดจนบริบททางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยตลอดระยะเวลาหลายพันปีคงไม่สามารถลดทอนพฤติกรรมมนุษย์ลงเหลือเพียงเงื่อนไขอะไรเพียงอย่างเดียวได้

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญในชุดการอธิบายแบบนี้คือ การนำเสนอประเด็นที่เรามักมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถชั่งตวงวัดและใช้เหตุผลได้ หรือเป็นเรื่องของรสนิยม (เช่น ความงามและความไม่งาม) ว่าสามารถศึกษาและอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้

 

กลับมาที่ประเด็นพื้นที่เมือง มีงานศึกษาอีกหลายชิ้นเลยนะครับที่พบตรงกันว่า มนุษย์จะมีความรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย และสุขภาพจิตดี หากตึกอาคารที่ตั้งอยู่เรียงรายสองข้างทางในพื้นที่เมืองมีรูปแบบหน้าตาที่หลากหลาย ไม่ซ้ำจนเกินไป มองเห็นช่องเปิดของประตูหน้าต่างเป็นจำนวนมาก และมีอาคารตลอดจนพื้นที่ที่มีลักษณะโดดเด่นแทรกอยู่เป็นระยะๆ

ในขณะที่เมืองที่มีตึกสองข้างทางขนาดใหญ่ หน้าตาเหมือนๆ กัน ไร้ช่องเปิด และมีจำนวนซ้ำกันเป็นแนวยาวมากๆ จะส่งผลในทิศทางตรงกันข้าม และเพิ่มสภาวะความเครียดให้เกิดขึ้นได้ง่าย

ไม่ปฏิเสธนะครับ ในวงการออกแบบรู้อยู่แล้วว่าเมืองที่เต็มไปด้วยตึกหน้าตาซ้ำๆ อันแสนน่าเบื่อนั้นเป็นการออกแบบเมืองที่ไม่ดี แต่ความไม่ดีดังกล่าวก็ไม่เคยถูกอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์มาก่อน

แต่เมื่อความรู้ทาง Neuro-arch ก้าวหน้าขึ้นก็ทำให้เรารู้ว่า หน้าตาอาคารและสภาพแวดล้อมของเมืองส่งผลโดยตรงไม่มากก็น้อยกับระดับ “ฮอร์โมนกลุ่มความสุข” ในร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็น Oxytocin, Endorphin และ DHEA

ในสภาวะโลกยุคปัจจุบันที่ความป่วยไข้ทางจิตใจกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น โรคเครียด โรคซึมเศร้า และอัตราการฆ่าตัวตายที่สูง

น่าสังเกตว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในเมืองมากกว่าอย่างชัดเจน

ซึ่งเงื่อนไขส่วนหนึ่งของปัญหานี้หากมองตามแนวคิดแบบ Neuro-arch คงหนีไม่พ้นสิ่งแวดล้อมของเมืองที่ถูกออกแบบขึ้นอย่างไม่เอื้อต่อการสร้างความสุขแก่ผู้อยู่อาศัย

ดังนั้น หากเราประยุกต์ใช้ความรู้ด้านนี้ในการออกแบบพื้นที่เมืองให้มากขึ้นก็อาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

 

ปัจจุบันกระแสการออกแบบสถาปัตยกรรมและเมืองบนแนวคิดเรื่อง “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล” (Universal Design) กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก

จากในอดีตที่การออกแบบล้วนตั้งอยู่บนมนุษย์วัยทำงาน สุขภาพดีที่มีร่างกายครบ 32 ประการ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทอดทิ้งคนเป็นจำนวนมากไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ คนป่วย ฯลฯ

มาสู่การออกแบบที่ทุกคนไม่ว่าจะเพศ วัย และร่างกายแบบใดก็สามารถใช้งานร่วมกันอย่างเท่าเทียมได้

ซึ่งแน่นอน ผมเห็นว่าทิศทางดังกล่าวเป็นเรื่องดีอย่างไม่ต้องสงสัยนะครับ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังคงตั้งอยู่บนการตอบสนองความต้องการในมิติทางกายภาพเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางลาด, ราวจับลิฟต์, การติดตั้งอักษรเบล, เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดและสัดส่วนที่เอื้อสำหรับการใช้งานของคนทุกวัย ฯลฯ โดยทั้งหมดยังคงละเลยมิติทางจิตใจไป ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญมาก

ดังนั้น ในทัศนะผม หากเราอยากบรรลุเป้าหมายของการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลอย่างแท้จริง นอกจากจะต้องเอื้อต่อการใช้สอยทางกายภาพของคนทุกประเภทแล้ว การออกแบบเมืองก็ควรที่จะต้องเอื้อต่อการเพิ่ม “ฮอร์โมนกลุ่มความสุข” ให้แก่ร่างกายของเราด้วยไปพร้อมกัน

ซึ่งการจะบรรลุผลสำเร็จดังกล่าวได้คงหนีไม่พ้นที่จะต้องหันมาสนใจสิ่งที่เรียกว่า Neuroarchitecture กันอย่างจริงจังเสียที