2503 สงครามลับ สงครามลาว (15) / พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (15)

 

การเริ่มต้นที่ดี…

ตอนเช้าของวันที่สี่ วังเปานำลูกน้องผู้ผ่านการฝึกออกไปนอกเขตที่มั่น จัดการติดตั้งลวดสะดุด จากนั้นวางตำแหน่งคนของเขาหลังโขดหินและต้นไม้ใหญ่เตรียมการซุ่มโจมตีตามที่เรียนมา

พวกทหารประเทศลาวฝ่ายซ้ายพากันดาหน้ากันขึ้นเขามาโดยไม่ระมัดระวัง ทหารประเทศลาวเหล่านี้ประสิทธิภาพไม่ได้ดีกว่าทหารฝ่ายรัฐบาลเท่าไหร่นัก ข้าศึกเหล่านี้เคลื่อนที่ตรงเข้ามายังตำแหน่งซุ่มโจมตีใน “พื้นที่สังหาร” ทหารประเทศลาวแตกกระจัดกระจาย ทิ้งศพเพื่อนๆ นอนตายเกลื่อนอยู่บริเวณไหล่เขา

มันเป็นชัยชนะเด็ดขาดครั้งแรกของพวกม้ง

บิลล์ แลร์ ยินดีอย่างมาก ทั้งพวกครูฝึกพารูคนไทยและเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบครั้งนี้ พวกเขาเพียงมาเริ่มดำเนินการฝึกและพวกม้งก็ทำทุกอย่างที่เหลือเองทั้งหมด ชาวม้งเป็นนักรบกองโจรโดยธรรมชาติ และวังเปาก็เป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบสามารถไว้วางใจได้ในการรบเขตภูเขา

แลร์คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือทุกคนในพื้นที่ผาขาวล้วนเป็นชาวเอเชียผมดำ จะยกเว้นก็เพียงตัวเขาเท่านั้น แลร์เป็น “ฝรั่ง” เพียงคนเดียว และก็กำลังจะจากไป เพราะเขาไม่มีความจำเป็นอะไรสำหรับที่นั่นอีกต่อไป

มันเป็นปฏิบัติการในสนามที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีเรื่องต้องรับผิดชอบมากนักและสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ทุกเมื่อ

นอกจากนั้น แทบไม่มีใครรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการโมเมนตัม เหมือนมันไม่มีตัวตนอยู่จริง

 

ฐานฝึกในไทย

เหตุการณ์ที่ตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรซึ่งมี พ.ต.ท.ประเนตร ฤทธิฤๅชัย ผบ.ค่าย และ ส.ต.ท.สุเทพ ต้นเถา หัวหน้าพารูทีม D ทำหน้าที่เป็นครูฝึกให้ทหารม้งของวังเปาเมื่อต้นมกราคม พ.ศ.2503 ครั้งนั้น ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติของค่ายนเรศวรว่าเป็นจุดกำเนิดในการเตรียมการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในลาวครั้งแรก

ทหารม้งรุ่นแรกจำนวน 300 คนเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทดลอง 1,000 คนแรก จากเป้าหมายสุดท้ายที่ตกลงกันไว้ 10,000 คน

หลังจากฝึกทหารม้ง 300 คนแรกเสร็จสิ้นแล้ว พ.ต.อ.เจมส์ วิลเลียม แลร์ “บิลล์ แลร์” ได้ขอให้วังเปาคัดเลือกทหารม้งจำนวน 20 คนจาก 300 คนนี้เพื่อส่งไปฝึกการใช้วิทยุสื่อสารที่ค่ายมฤคทายวัน หัวหิน ซึ่งในระบบการสื่อสารที่ทหารม้งได้ไปเรียนรู้จากครูอเมริกันและตำรวจพลร่มไทยนี้จะทำให้การติดต่อสื่อสารซึ่งใช้การเข้ารหัสผ่านเครื่องรับส่งวิทยุสนามระหว่างฝ่ายวังเปาและตำรวจพลร่มรวมถึงซีไอเอ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ทหารม้งทั้ง 20 คนนี้เป็นชุดแรกซึ่งมาทำการฝึกที่ค่ายมฤคทายวันตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2504 จากนั้นก็จะติดตามมาอีกหลายรุ่น ในวิชาเกี่ยวกับยุทธวิธีทางทหารที่ก้าวหน้าและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

การเข้ามาของ “กรีนแบเรต์”

ขณะที่ปฏิบัติการโมเมนตัมตามแนวความคิดของแลร์ดำเนินไปด้วยดีนั้น ก็ปรากฏว่าวอชิงตันได้ดำเนินการบางอย่างซึ่งมิได้เป็นไปตามแนวความคิดเบื้องต้นของแลร์ที่ต้องการให้ชาวม้งต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยตนเองโดยยุทธวิธีสงครามกองโจรตามธรรมชาติและความถนัดของพวกเขา

หลักการสำคัญประการหนึ่งคือ แลร์ไม่ต้องการให้ทหารหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่อเมริกันเข้าไปยุ่มย่ามในหมู่ชาวม้ง ยกเว้นพารูชาวไทยซึ่งกลมกลืนกับชาวม้งมากกว่า แต่ปรากฏว่า มีการส่งทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ซีไอเอเข้ามาโดยที่ไม่ได้ปรึกษาเขาก่อน

ยิ่งนานวัน พวกอเมริกันก็ยิ่งหลั่งไหลเข้ามาโดยที่แลร์ไม่ได้ร้องขอ เจ้าหน้าที่รบพิเศษของซีไอเอ ตามมาด้วยกรีนแบเรต์จากกองทัพบกในเวียงจันทน์ แลร์ต้องงัดข้อกับ ร.ท.กรีนแบเรต์ที่ควบคุมค่ายฝึกอยู่ทางตอนใต้ของลาวและต้องการเข้ามาควบคุมการฝึกของพวกม้งทางตอนเหนือด้วย

สุดท้ายก็ประนีประนอมกัน โดยทีมฝึกของกรีนแบเรต์เข้าไปยังกองบัญชาการใหญ่ของวังเปาที่ทุ่งไหหินเพื่อปฏิบัติงานร่วมกับคนของซีไอเอและทีมฝึกพารู

ทหารหน่วยกรีนแบเรต์มีความเป็นทหารทุกกระเบียดนิ้ว ตัดผมสั้นเกรียนติดหนังหัว ผิวซีดขาว ร่างกายสูงใหญ่ แต่สวมกางเกงขาก๊วยสีดำตามแบบพวกม้ง โดยหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะช่วยให้พวกเขาดูกลมกลืนกับคนท้องถิ่น

 

ความหวาดหวั่นของแลร์

โดยส่วนตัวแล้ว แลร์ชื่นชมพวกกรีนแบเรต์เหมือนอย่างที่เขารู้สึกกับพวกลูกน้องซีไอเอของเขา

มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขาที่มีสีผิวไม่เหมาะกับภารกิจลับบนแผ่นดินเอเชีย มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกอเมริกันไม่เหมาะจะปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบทของลาว พวกเขาถูกสังเกตเห็นได้โดยง่ายแม้จะอยู่ห่างไปเป็นกิโล และพวกเขาก็ไม่สามารถพูดภาษาใดๆ ที่พวกชาวเขาฟังรู้เรื่อง

แลร์ยังเชื่อว่าการโน้มเอียงมาพึ่งพาฝรั่งของพวกม้งโดยที่ไม่มีหลักประกันแน่นอนเป็นสิ่งที่อันตราย ยิ่งมีชาวม้งไม่กี่คนที่เคยเห็นคนขาวหรือเครื่องบินในระยะใกล้ๆ มาก่อน ในชีวิตพวกเขาไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับชาวตะวันตกหรือเทคโนโลยีตะวันตก

การได้อเมริกันมาช่วยเหลืออาจจะทำให้พวกเขามีความมั่นใจจนเกินขอบเขตและอาจเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาเสี่ยงทำในสิ่งที่พวกเขาจะไม่ทำหากมีที่ปรึกษาเป็นคนในซีกโลกเดียวกันกับเขา

 

พารูเหมาะสมกว่า

สําหรับพวกม้ง พารูเป็นที่ปรึกษาที่เหมาะสมกว่า พารูมีประสบการณ์ มีความชำนาญการฝึกชาวเอเชียด้วยกันมาเป็นเวลาหลายปี สามารถกลมกลืนกับคนท้องถิ่นจนแทบแยกไม่ออกด้วยสายตา ไม่ต้องใช้ล่ามในการติดต่อสื่อสาร และรู้จักการใช้ชีวิตในป่าเขา

หากจะวัดกันด้วยวุฒิการศึกษา พวกพารูก็ไม่ได้น้อยหน้าอเมริกันสักเท่าไหร่ ในช่วงปี พ.ศ.2503 ทั้งแลร์และเจ้าหน้าที่พารูจำนวนไม่น้อยถูกคัดเลือกส่งตัวไปสหรัฐ ได้ผ่านหลักสูตรเรนเจอร์จากฟอร์ต เบนนิ่ง จอร์เจีย และยังผ่านหลักสูตรชั้นสูงทางยุทธวิธีในระดับกองร้อยและกองพัน พวกพารูต่างประดับปีกพลร่มทั้งของอเมริกันและไทย

พารูมีอะไรที่ด้อยกว่ากรีนแบเรต์อเมริกันบ้าง?

ต้นปี พ.ศ.2504 ไม่มีใครเข้าใจว่าเหตุใดแลร์จึงหวาดหวั่นนักในการนำอเมริกันมาปฏิบัติงานในลาว

แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป โศกนาฏกรรมของวังเปาและชนเผ่าม้งในฉากสุดท้ายของสงคราม จะพิสูจน์ความหวาดหวั่นที่เป็นจริงนี้ของแลร์

 

บรรลุเป้าหมื่นคน

ปฏิบัติการโมเมนตัม ดำเนินไปด้วยดีและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทันทีที่ม้ง 1,000 คนแรกสิ้นสุดการฝึก ก็มีการอนุมัติให้ดำเนินการฝึกพวกที่เหลือต่อไปทันที ในไม่ช้าผู้ผ่านการฝึกก็มีจำนวนหลักหมื่นตามเป้าหมาย

ที่กองบัญชาการใหญ่ของพวกพารู อำเภอหัวหินในประเทศไทย หนุ่มชาวม้งชั้นหัวกะทิได้เข้าอบรมในหลักสูตรผู้นำหน่วยในระดับต่างๆ รวมทั้งยุทธวิธีการรบที่สูงขึ้นกว่าการรบแบบกองโจรพื้นฐาน

กองกำลังชาวม้งของวังเปาพัฒนาขึ้นตามลำดับทั้งปริมาณและคุณภาพ

พารูกลายเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกองกำลังลับนี้ ภายใต้การดูแลใกล้ชิดร่วมเป็นร่วมตายของ พ.ต.ท.ประเนตร ฤทธิ์ฤๅชัย และ พ.ต.อ.เจมส์ วิลเลียม แลร์ “บิลล์ แลร์”