ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

หลัง “คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “กสทช.” ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก 14 คนเพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหารอบสุดท้ายให้เหลือ 7 คน

ตามช่องทางการสรรหามาตรา 15 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

คัดเลือกผู้สมัครจาก 80 คน จาก 7 ด้าน ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคมที่ผ่านมา เหลือด้านละ 2 คน โดย 14 คนที่ผ่านการสรรหาในรอบแรก ประกอบด้วย

1. ด้านกิจการกระจายเสียง “พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์-นางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ดี้”

2. ด้านกิจการโทรทัศน์ “ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต-นางสาวจินตนันท์ ชาต์ร ศุภมิตร”

3. ด้านกิจการโทรคมนาคม “นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ-อธิคม ฤกษบุตร”

4. ด้านวิศวกรรม “นายอานนท์ ทับเที่ยง-นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์”

5. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน “พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์-นายต่อพงศ์ เสลานนท์”

6. ด้านกฎหมาย “นายจิตรนรา นวรัตน์-ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยตยะ”

7. ด้านเศรษฐศาสตร์ “ดร.ภักดี มานะเวศ-ศ.อารยะ ปรีชาเมตตา”

สำหรับขั้นตอนต่อไป ทางเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กสทช. จะนำรายชื่อทั้ง 14 คน พร้อมประวัติและเอกสารหลักฐานเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อมีมติเลือกเหลือ 7 อรหันต์ ในลำดับสุดท้ายต่อไป

ต้องยอมรับว่า ภายหลังโผ กสทช.คลอด มีการแตกประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรงล้นหลามในหลายปมเงื่อน ประการแรก พลันที่เสร็จสิ้นการสัมภาษณ์แสดงวิสัยทัศน์ปุ๊บ ประกาศชื่อผู้เข้ารอบปั๊บ ง่ายยังกะตบยุง ตีแมลงวัน

ไหงถึงโป้งเดียวปิดบัญชี เพราะการคัดเลือกบุคลากรมาเป็นบอร์ด กสทช. มาดูแลกำกับธุรกิจมูลค่าเป็นแสนๆ ล้าน รายชื่อเบ็ดเสร็จรวดเร็ว ประเด็นนี้ กรรมการสรรหาแก้ต่างพอฟังได้ว่า เหตุที่ต้องเร่งประกาศชื่อ เลือกผู้ผ่านเข้ารอบรวดเร็ว “เพื่อต้องการสกัดการวิ่งเต้น กดดัน”

คำถามต่อมา เมื่อย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์การเปิดรับสมัคร “กสทช.” ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 14-28 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการสรรหามีเวลาตรวจสอบคุณสมบัติ 2 เดือนโดยประมาณ ก่อนจะทำจดหมายเชิญผู้สมัครมาสัมภาษณ์แสดงวิสัยทัศน์

หากกรรมการสรรหาใช้เวลาช่วงดังกล่าวตรวจสอบคุณสมบัติ เอ็กซเรย์ด้วยความรอบคอบถี่ถ้วน จะทำได้วันละ 2 คน แค่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเช็กประวัติย้อนหลังก็จะกระจ่าง ไม่ว่าผู้สมัครคนไหนถือหุ้นในกลุ่มไหน โทรคมนาคม สื่อสารเท่าไหร่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ก็สามารถกดถามคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงคลิกเดียวรู้ผลทันที

หรืออยากรู้ผลข้อที่ 2 ว่าใครมีประวัติอาชญากรรม เคยต้องโทษร้ายแรงติดติ่ง ก็สอบถามไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพียงพิมพ์ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน ข้อมูลจะตอบโจทย์ได้ภายในไม่กี่อึดใจ เพราะอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงทั่วประเทศ ไม่ต้องชักตะพานแหงนรอเป็นเดือนๆ

แต่เครื่องกรองยี่ห้อกรรมการสรรหา กลับไม่ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงเกิดเสียงยี้ดังกึกก้อง ผิดหวังเชิงกติกา สองมาตรฐาน ขาดความเป็นกลาง ไม่ปังอย่างที่คาดหวัง การสรรหาทำท่าจะเป็นเชือกเส้นเล็กๆ ลากโยงให้ “ไม่จบ” ง่ายๆ นำไปสู่การล้มโต๊ะ

ข้อสงสัย คำถาม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ กระบวนการสรรหา ที่ดังกระหึ่มทุกซอกซอย ส่วนใหญ่ฉงนสงสัยเกี่ยวกับ “หลักเกณฑ์-มาตรฐาน” ไม่เกี่ยวกับ “ตัวบุคคล” โดยเฉพาะที่ชื่อ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ผู้รังสรรค์ประโยชน์ให้กับองค์กร กสทช.มามากมายมหาศาล กับสมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาฯ กสทช. 8 ปีเศษ

หรือ “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โทรโข่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ล้วนเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา

ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องทำท่าจะยืดเยื้อ ไม่จบ ค่อยๆ ยกระดับ อย่างล่าสุด “พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์” หนึ่งในจำนวนผู้สมัครด้านกฎหมาย เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน หอบหลักฐานยื่นต่อ “นายพรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ให้ตรวจสอบกระบวนการสรรหา ไม่สองมาตรฐาน

โดย พล.ต.สุพิชาติระบุว่า ผู้ผ่านการสรรหา 10 คนจาก 14 คนขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

มีผู้สมัครที่ผ่านการสรรหาอย่างน้อย 2 คน มีประวัติเกี่ยวโยงกับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านกระจายเสียงโทรคมนาคม ซึ่งต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช.โดยตรง

คนหนึ่งเขียนในใบสมัครยื่นเข้าชิง กสทช.ปี 2561 ระบุว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมของบริษัทดังกล่าว

อีกคนเคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าเสียหายในการเรียกคืนคลื่นของ อสมท. และเสนอเรื่องให้บอร์ด กสทช.จ่ายเงินก้อนโตเป็นจำนวน 13,000 ล้านบาท แต่บอร์ด กสทช.ไม่เห็นชอบ พร้อมลงมติให้ชดเชย อสมท. 3,200 ล้านบาทเศษๆ แบ่งเป็นงวดๆ อีกต่างหาก

และยังมีผู้เข้ารอบอีกคนเพิ่งลาออกจากกรรมการบริษัทที่ทำงานด้านกิจการโทรคมนาคม เพียงไม่กี่วันก่อนได้รับการโหวตให้ผ่าน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเกี่ยวพันกับองค์กร กสทช.อย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อข้อกฎหมาย

นอกจาก “พล.ต.สุพิชาติ” แล้ว ยังมีข่าวว่า ผู้สมัครอีกหลายรายรอคิวขยับเข้ายื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เปิดเผยที่มาและที่ไปว่า การสรรหา กสทช.ครั้งนี้ โปร่งใส เป็นธรรมกับผู้สมัครรายอื่นๆ หรือไม่ เพราะหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเองโดนเช็กปูมหลังละเอียดยิบ

ซึ่งเหล่านี้ผู้สมัครที่ไม่ผ่านการสรรหาสามารถยื่นต่อศาลปกครองกลางตามสิทธิแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา พ.ศ.2542 ได้

จากนี้ไปต้องจับตาดูกันว่า ชื่อผู้ผ่านการสรรหาทั้ง 14 คน เมื่อถึงมือวุฒิสภาแล้ว คณะกรรมการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. จะทำอย่างไร

โปรดติดตามกันตาอย่ากะพริบ