อย่าล้อเล่นกับความทุกข์ยากของประชาชน /จัตวา กลิ่นสุนทร

หน้าพระลาน

จัตวา กลิ่นสุนทร

 

อย่าล้อเล่นกับความทุกข์ยากของประชาชน

 

รัฐบาลบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จเพราะสืบทอดมาจากรัฐบาล “เผด็จการ” ซึ่งเข้ามาได้จากการลากเอากองทัพไป “ยึดอำนาจ” รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

บริหารงานแบบ “เผด็จการ” อยู่ราว 5 ปีเต็ม จัดให้มีการเลือกตั้งแบบเป็นพิธีตามกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นสากล ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อเข้าสู่อำนาจตามแนวทางที่วางเอาไว้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามประสงค์โดยได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่บอกว่านิยมประชาธิปไตย แต่เป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีว่าล้วนเป็นนักแสวงหาประโยชน์ เป็นนักประชาธิปไตยปลอมๆ นักการเมืองพวกนี้คนรุ่นเดิมๆ เรียกว่า (ส.ส.) “น้ำเน่า”

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้รับการยอมรับว่าบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย แต่บริหารงานไม่แตกต่าง “เผด็จการ” โดยไม่เกรงใจประชาชน และไม่ให้ความสนใจฟังเสียงท้วงติงคัดค้านจากสมาชิกพรรคซีกฝ่ายค้าน โดยถือว่ารัฐบาลมีเสียงข้างมาก

ไม่ได้ยินเสียงร้องด้วยความทุกข์ยากของประชาชน รัฐบาลไม่คิดจะแก้ไขความบกพร่องผิดพลาด และคณะรัฐมนตรีที่ไร้ฝีมืออ่อนด้อยประสบการณ์บริหารประเทศมากว่าปีกลับไม่มีผลงานอะไรปรากฏ

นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนจำนวนมากจึงไม่ยอมทนกันอีกต่อไป รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก คืนประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เหตุการณ์บ้านเมืองมันยังไม่เป็นใจ เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) จำเป็นต้องเว้นระยะงานการกดดันขับไล่รัฐบาล

พรรคร่วมรัฐบาลที่เคยหาเสียงกับประชาชนว่าไม่สนับสนุนเผด็จการและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจ แต่รัฐบาลปัจจุบันมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็ก พรรคจิ๋ว ต่างได้รับตำแหน่งลดหลั่นกันไปตามสัดส่วนของจำนวนเสียงในรัฐบาลซึ่งมีแกนนำที่เรียกกันว่า 3 ป. (พล.อ.ประยุทธ์+พล.อ.ประวิตร+พล.อ.อนุพงษ์)

พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่รู้หรอกหรือว่าพวกเขามาได้ยังไง?

ไม่อยากวิเคราะห์ ไม่ต้องการทำนายว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่จนครบเทอม 4 ปีหรือเปล่า? แต่ถ้าหากบังเอิญเกิดการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งต้องทำการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ต้องขอร้องให้ประชาชนมีภาพจำของพรรคการเมือง และนักการเมืองเหล่านี้ไว้ให้ชัดเจน จะได้พิจารณาตัดสินใจอย่างถูกต้องอีกที เพราะใครพูดอะไรๆ สัญญาอะไรๆ กับประชาชนแล้ว (มัน) ไม่เคยทำ

ขี้เกียจจะพูดย้อนกลับไปอีกแล้วว่าภายหลังการยึดอำนาจปี พ.ศ.2557 พล.อ.ประยุทธ์และคณะสัญญาอะไรไว้กับประชาชนบ้าง และประชาชนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตามคำสัญญาดังกล่าวปรากฏขึ้นบ้างหรือยัง ตอบแทนให้ได้ว่าไม่เคยทำตามสัญญา

จึงไม่ค่อยมีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2563 ว่าจะไม่ลาออกตามคำเรียกร้อง เพราะท่านบอกไม่ได้ทำอะไรผิด ทั้งๆ ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยลงความเห็นกันว่ารัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวในการบริหารงานแทบทุกด้าน

แต่ยังยืนยันอยู่บริหารแบบสะเปะสะปะต่อไป

การต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ได้รับการชื่นชมว่าสามารถจัดการได้ดีในระดับต้นๆ ของประเทศที่มีการระบาดในครั้งแรก แต่ถ้าหันกลับมามองเรื่องเศรษฐกิจแล้วต้องบอกว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนกล่าวกันว่าจัดการกับโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง แต่เศรษฐกิจล้มพับทั้งประเทศจนยากจะฟื้นคืนกลับในเวลาอันสั้นๆ

เมื่อจะต้องดูแลเยียวยาให้กับประชาชนเพราะมันเป็นเงินของของพวกเขา รัฐบาลกลับดำเนินการเหมือนไม่อยากจะให้ ทำแบบขี้เหนียวจ่ายให้ 3,500 จำนวน 2 งวดรวม 7,000 บาท แต่ไม่ได้เป็นเงินสด ไม่รู้ว่าใช้อะไรคิด ไปคิดแทนประชาชนว่าจะให้เอาไปซื้อนั่นซื้อนี่ทั้งที่เขาต้องการเงินสด และยังชักช้าพร้อมหายหกตกหล่น ประชาชนไม่พอใจ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีประสบการณ์เคยเยียวยามาแล้วในการระบาดครั้งก่อนที่จ่ายให้คนละ 5,000 จำนวน 3 งวด

เสียงเรียกร้องจึงระงมไปทั่ว กลุ่มต่างๆ เดินทางไปเรียกร้องยังทำเนียบรัฐบาล ขอเพิ่มจำนวนเงินโดยให้หาทางตัดงบประมาณด้านต่างๆ อย่างเช่น งบฯ จากกองทัพสำหรับจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ยินสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ หลายกลุ่มสุดจะทน รวมตัวกันออกเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อขับไล่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกไปเสียที

เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานราชการแผ่นดิน

อยากฝากคำถามถึงพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน และเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลว่าพวกท่านยังสบายดีอยู่หรือครับ รัฐบาลอาจจะมีเสถียรภาพเนื่องจากมีมือของพวกท่านร่วมสนับสนุนจนมีเสียงข้างมากในสภา ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไร ถึงเวลายกมือพวกท่านผ่านได้สบายๆ

ในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศเรา รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากเคยล้มมาแล้ว ถ้าหากประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนตกงานไม่มีเงินจนไม่มีจะกิน เพราะเสียงที่มากที่สุดของประเทศคือเสียงของประชาชน อยากบอกเตือนรัฐบาล และเหล่าลูกสมุนที่ห้อยโหนออกตัวแรงๆ สนับสนุนรัฐบาลทั้งหลายอย่าได้มองข้ามความยากจนของประชาชน อย่าล้อเล่นกับความทุกข์ยากของประชาชน

การเมืองอยู่ในสภาพร้อนแรง เศรษฐกิจตกต่ำอย่างสุดๆ คนยากจนในประเทศเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีการปิดบ้านปิดเมืองเพื่อแก้ปัญหาเรื่องไวรัสโควิด-19 ระบาด แทบทุกธุรกิจมีอันต้องเป็นไป ปิดตัวลงเรื่อยๆ โดยที่เรายังไม่เห็นมาตรการแก้ปัญหาช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม

ที่ฮึ่มๆ ค้นหาข้อมูลกันมานานหลายเดือนจึงได้ฤกษ์ตอนกลางเดือนกุมภาพันธ์ (16-19 กุมภาพันธ์) ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ร่วมกับแกนนำ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ยื่นญัตติเปิดอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาร่วมกับแกนนำ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านอีก 6 พรรค โดยอีก 2 พรรคคือพรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคไทยศรีวิไลย์ร่วมอภิปราย

รัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านจับจองลากกระชากผลงานความผิดพลาดออกมาฟ้องประชาชน จำนวน 10 คน คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย 4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข 5.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ 6.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม 7.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา 8.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน 9.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และ 10.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ทุกคนล้วนมีสตอรี่ทั้งนั้น

ฝ่ายค้านกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ว่าบริหารราชการล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึกและ ความรับผิดชอบ มีพฤติกรรมฉ้อฉลทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

ก่อนการอภิปราย รัฐบาลบอกว่าซักฟอกมาก็ชี้แจงไป ไม่เห็นจะมีอะไร ภาษาของสื่อมวลชนเรียกว่าพวกปากแข็ง ทั้งๆ ที่เมื่อเห็นญัตติ และข้อกล่าวหาต่างเกิดอาการพอสมควร เอาเป็นว่าเพียงแค่เชื่อปรากฏในญัตติก็มีอาการแล้ว และครั้งนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายค้านมีข้อมูลที่รัฐบาลบริหารผิดพลาดมากมาย

รัฐบาลเกิดอาการหวั่นไหว สังเกตได้จากเหล่าลิ่วล้อ และองครักษ์รอบๆ ตัวออกตัวแรงพยายามช่วยกันด้อยค่าฝ่ายค้านบ้าง วิปฝ่ายรัฐบาลออกตัวจะให้แก้ญัตติที่กล่าวว่าจะโยงไปสู่เบื้องสูง หากไม่แก้อาจเกิดการประท้วงจนไม่สามารถอภิปรายได้ แต่ฝ่ายค้านยืนยันว่าไม่ได้ก้าวล่วง เพียงต้องการจะซักฟอกรัฐบาล

พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (กก.) และพรรคร่วมฝ่ายค้านต่างเป็นความหวังในการซักฟอกหนนี้

ถ้าข้อมูลลึกซึ้งจนรู้สึกสัมผัสได้ มือที่มากกว่าก็ยากที่จะลากกันต่อไป