2563 โควิด – 2564 โคขวิด สงคราม 8 แนวรบในปีใหม่ / สุรชาติ บำรุงสุข (ฉบับประจำวันที่ 5 – 11 กุมภาพันธ์ 2564 ฉบับที่ 2112)

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข

 

2563 โควิด – 2564 โคขวิด

สงคราม 8 แนวรบในปีใหม่

 

“รัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่ทหารสนับสนุนมักจะถูกขับไล่ออกจากอำนาจ เพราะความสามารถทางเศรษฐกิจ [ของรัฐบาล] ที่อ่อนด้อย ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้เผด็จการทหารหมดอำนาจลง”

Dennis Blair (2013)

 

หากจะเปรียบเทียบการเมืองกับนักษัตรแล้ว 2563 เป็นปีหนู จึงอยากจะขอเปรียบในปีที่ผ่านมาว่าเป็นปี “หนูแพร่โรค” เพราะเห็นการมาของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดการระบาดในขอบเขตขนาดใหญ่ และนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ

แม้ไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในปี 2563 แต่การระบาดก็กลับมาขยายตัวอย่างมากตั้งแต่เริ่มปีใหม่

นักษัตรของปี 2564 เป็นปีวัว จึงน่าจะเป็น “วัวดุ”… ไม่ใช่ช่วงเวลาของ “แม่วัวพันธุ์เนื้อ” ที่เดินมาให้รัฐบาลรีดนมได้อย่างสะดวกสบาย

หรือไม่ใช่ “โคขุน” ที่จะเข้ามาเป็นสเต๊กอร่อยให้สังคมไทยได้รับประทานในปีใหม่

ปัญหาของรัฐและสังคมไทยในปี 2564 จะเห็นสภาวะที่เป็นดังสงครามซึ่งมี 8 แนวรบหลัก ดังนี้

1) สงครามเชื้อโรค หรือปัญหา “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข”

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคยังคงเป็นโจทย์สำคัญต่อเนื่องจากปี 2563 และประเด็นนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในปี 2564 เพราะการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากกับรัฐและสังคมไทย (ไม่แตกต่างจากสภาวะที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ)

และผลที่เกิดจะมีลักษณะเป็นวงกว้าง หรืออาจกล่าวได้ว่าผลจากการระบาดจะกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันนำไปสู่คำถามที่สำคัญว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้จริงเมื่อใด

และถ้าการควบคุมต้องกระทำผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว การฉีดวัคซีนจะเริ่มต้นขึ้นในสังคมไทยได้เมื่อใด

และการฉีดยาที่เกิดขึ้นจะสามารถกระทำในวงกว้างให้แก่พี่น้องประชาชนได้มากน้อยเพียงใด…

รัฐบาลจะรบกับสงครามเชื้อโรคอย่างไรในปี 2564?

2) สงครามเศรษฐกิจ หรือปัญหา “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

การขยายตัวของเชื้อโควิด-19 ในเวทีโลกส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมากกับสภาวะเศรษฐกิจของโลก ขณะเดียวกันก็ส่งผลอย่างมากกับเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ

ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้คือ การถดถอยของระบบเศรษฐกิจโดยรวม และยังเห็นถึงการล้มละลายของภาคธุรกิจในหลายส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

จนการถดถอยเช่นนี้ก่อตัวเป็นวิกฤตสำคัญของหลายประเทศ รวมทั้งในกรณีของไทย และยังมองไม่เห็นอนาคตว่าการฟื้นตัวจริงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ซึ่งการฟื้นตัวเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการระบาดสามารถถูกควบคุมได้จริง โดยผ่านการฉีดวัคซีน พร้อมกับการมีภูมิต้านทานของมนุษย์ จนสามารถนำไปสู่การมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันในแบบปกติได้

ดังนั้น คำถามสำคัญจึงได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจขากการระบาดรอบสองของสังคมไทยนี้ จะมีขอบเขตใหญ่มากน้อยเพียงใด

และจะถาโถมเข้าซ้ำเติมปัญหาที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2563 ได้รุนแรงเพียงใด

ปัญหาที่สำคัญก็คือ แล้วเศรษฐกิจไทยจะต้องจมปลักอยู่กับสภาวะถดถอยเช่นนี้ไปอีกนานเพียงใด

หรือสภาวะทางเศรษฐกิจของสังคมไทยจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อใด และจะถึงจุดของการทะยานขึ้นได้อีกเมื่อใด

นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ตลอดรวมถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะให้แก่สังคม ควรจะดำเนินการอย่างไร

อีกทั้งเรายังควรตั้งคำถามเรื่องการเผาจริง/เผาหลอกในทางเศรษฐกิจของสังคมไทยอีกหรือไม่ คำถามเช่นนี้อาจไม่มีประโยชน์ เพราะเรายังแทบไม่เห็นสัญญาณเชิงบวกของขยับตัว เพื่อที่จะพาเศรษฐกิจไทยทะยานขึ้นจากภาวะถดถอย…

รัฐบาลจะรบในสงครามเศรษฐกิจอย่างไรในปี 2564?

3) สงครามความยากจน หรือปัญหา “ความมั่นคงของมนุษย์”

การแพร่ระบาดในวงกว้างที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศ อีกทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจระดับครัวเรือนอย่างมาก จนเป็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในสองส่วนที่สำคัญคือ การตกงานของคนเป็นจำนวนมาก

อันเป็นการตกงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดกับหลายครอบครัว

การตกงานเช่นนี้ในหลายธุรกิจอาจเป็นการตกงานอย่างถาวร เพราะโอกาสการฟื้นตัวของการจ้างงานในหลายธุรกิจไม่อาจเกิดขึ้นในเร็ววัน

ผลเช่นนี้ทำให้เกิดการขยายตัวของจำนวนคนจนในสังคมอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องในเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ที่เป็นการสร้างระบบสวัสดิการอย่างเป็นระบบ มากกว่าจะเป็นเรื่องของการทำนโยบายประชานิยมแบบ “ไฟไหม้ฟาง” ที่ถูกคิดจากการหวังคะแนนเสียงเฉพาะหน้า

คำถามที่สังคมไทยจะต้องคิดกันมากขึ้นคือ การสร้างรัฐสวัสดิการ มากกว่าจะเดินมุ่งไปในทิศทางแบบ “รัฐประชานิยม” เพื่อการหาเสียงทางการเมือง…

รัฐบาลจะรบกับสงครามความยากจนอย่างไรในปี 2564?

4) สงครามการเมือง หรือปัญหา “ความมั่นคงทางการเมือง”

รัฐบาลทหารในระบอบเลือกตั้งที่เกิดในต้นปี 2562 นั้น เผชิญหน้ากับแรงเสียดทานทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะจากการประท้วงของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 และการประท้วงนี้จะยังคงมีต่อเนื่องในปี 2564

การประท้วงจะไม่หายไป และอาจหวนกลับมาเมื่อการระบาดเบาบางลงเช่นในกลางปี 2563

การประท้วงในอนาคตอาจจะเป็นมากกว่าการต่อต้านรัฐบาลของคนหนุ่มสาว แต่อาจขยายไปสู่คนงาน (ประเด็นเรื่องการตกงาน) และคนจน (ประเด็นเรื่องสวัสดิการและการช่วยเหลือของรัฐ)

ประเด็นนี้จะสำทับเข้ากับปัญหาทางการเมือง เช่น ข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ที่จะกระทบต่อสถานะของรัฐบาล

หรือปัญหาเหล่านี้จะกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของตัวรัฐบาลเอง สิ่งที่คาดคะเนในปี 2564 ได้ยากก็คือ การประท้วงจะขยายตัวและยกระดับขึ้น จนมีผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลได้มากน้อยเพียงใด แต่การระบาดระลอกสองจะกลายเป็นข้ออ้างเพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจพิเศษ ที่จะช่วยให้รัฐบาลอยู่รอดต่อไปได้อีกหรือไม่

ฉะนั้น เสถียรภาพและความอยู่รอดของรัฐบาลน่าจะมีความเปราะบางมาก…

รัฐบาลจะรบในสงครามการเมืองอย่างไรในปี 2564?

5) สงครามของอากาศ หรือปัญหา “ความมั่นคงของอากาศ”

รัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งรัฐบาลไทยอาจจะต้องตระหนักว่า ประเด็นความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (หรือโจทย์เรื่อง Climate Change ในเวทีโลก) เป็นหัวข้อที่รัฐทั่วโลกต้องเผชิญ

การแก้ไขปัญหาความมั่นคงชุดนี้ต้องการชุดความคิดใหม่ หรืออาจกล่าวว่าต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ในการสร้างความรับรู้ และความเข้าใจในปัญหาดังกล่าว จินตนาการของนักความมั่นคงคงเก่า หรือความคิดของผู้นำเก่าอาจจะไม่ช่วยในการทำนโยบายใหม่เพื่อรับมือกับปัญหาหลัก 4 ประการคือ “ฝุ่นพิษ-ไฟป่า-น้ำแล้ง-อากาศป่วน”

ดังนั้น ในขณะที่โรคระบาดขยายตัวในสังคมไทย มิได้หมายความว่าปัญหาของอากาศทั้งสี่ประการเบาบางลง

ฉะนั้น ทำอย่างไรที่รัฐบาลไทยในอนาคตจะสามารถเกิดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ มากกว่าที่จะมองปัญหาอากาศเป็นเรื่องชั่วคราว และขาดความสนใจที่จะทำนโยบายเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของอากาศ

ทั้งที่ปัญหาทั้งสี่ประการนี้ได้กลายเป็น “โจทย์ถาวร” ของสังคมไทยไปแล้ว

โดยเฉพาะนายทหารระดับสูงที่มีอำนาจทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจอาจจะขาดความตระหนักรู้ในบริบทของโลก จึงมักขาดความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม…

รัฐบาลจะรบกับสงครามของอากาศอย่างไรในปี 2564?

6) สงครามความคิด หรือปัญหา “การต่อสู้ทางความเชื่อ”

ความขัดแย้งทางความคิดและ/หรือความเชื่อเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลอย่างมากกับการแบ่งขั้วทางการเมือง (political polarization) ในสังคมไทยปัจจุบัน การแตกแยกของความเชื่อทางการเมืองเช่นนี้มีสภาวะเสมือนกับเป็น “สงครามความคิด” และเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง “เสรีนิยม vs จารีตนิยม (+อนุรักษนิยม)”

แม้การต่อสู้เช่นนี้จะเคยดำเนินมาก่อนแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นในช่วงปี 2475 หรือในช่วงปี 2490

แต่จากช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา สงครามความคิดเช่นนี้เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้นจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

หรือโดยนัยคือ การเคลื่อนไหวของคนหนุ่ม-สาวในยุคปัจจุบัน แม้กระแสการเคลื่อนไหวอาจจะประสบปัญหาบางประการ แต่ในทางความคิดแล้ว การต่อสู้ในปี 2564 จะเข้มข้นมากขึ้น

การต่อสู้ส่วนหนึ่งอาจจะ “ลงถนน” เพื่อแสดงออกในสิ่งที่เป็นความเชื่อ

แต่ในอีกทาง การต่อสู้ของสงครามความคิดสามารถปรากฏขึ้นได้ในทุกพื้นที่ แนวทางการต่อของฝ่ายรัฐจะเป็นประเด็นสำคัญ จะสู้ด้วย “การตำรวจนำการเมือง” ที่มีการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และใช้มาตรการของตำรวจอย่างเกินความจำเป็น

จนทำให้เกิดคำถามว่า ฝ่ายจารีตนิยมจะชนะสงครามความคิดชุดนี้ได้อย่างไร

และจะสามารถสร้างความเชื่อความศรัทธาในหมู่คนรุ่นใหม่อย่างไร

และฝ่ายรัฐบาลจะประสบความสำเร็จในยุทธศาสตร์แบบ “รัฐตำรวจ” ที่ใช้มาตรการ “ไล่จับ-ยัดคดี” ในอนาคตได้จริงหรือไม่…

รัฐบาลจะรบในสงครามความคิดอย่างไร และกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมจะสู้ในสงครามชุดนี้อย่างไรในปี 2564?

7) สงครามของผู้นำทหาร หรือปัญหา “ความมั่นคงทางการเมืองของกองทัพ”

กองทัพไทยมีบทบาททางการเมืองมานาน จนแนวคิดเรื่อง “การถอนตัวของทหารจากการเมือง” กลายเป็นโจทย์ที่มองไม่เห็นความสำเร็จในระยะสั้น และปัญหานี้ยังกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่บทบาททางการเมืองของกองทัพเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดถึงความสำเร็จและล้มเหลวของระยะเปลี่ยนผ่านนั้น

บทบาทเช่นนี้เป็นคำถามของความมั่นคงทางการเมืองของทหาร ที่ผู้นำกองทัพในปี 2564 จะต้องตอบให้ได้

เพราะการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพจะมีมากขึ้น เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องให้ทหารถอนตัวออกจากการเมือง เพื่อถอยออกไปจากการเป็นฐานทางการเมืองของรัฐบาลปัจจุบัน

ฉะนั้น ผู้นำกองทัพจะต้องตอบคำถามสองประการนี้ให้ได้ในอนาคต ทั้งต้องตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกองทัพในเชิงสถาบัน อันเป็นผลจากแรงต่อต้านบทบาททหารที่มีมากขึ้น

ผู้นำทหารในปีใหม่จะยังเชื่อแบบเดิมอีกหรือไม่ว่า ความมั่นคงของทหารมาจากการมีบทบาททางการเมือง…

ผู้นำทหารทหารจะรบกับสงครามของสถาบันทหารอย่างไรในปี 2564?

8) สงครามประชาธิปไตย หรือปัญหา “ความมั่นคงระหว่างประเทศ”

รัฐและสังคมไทยไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ การเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกย่อมส่งผลกระทบต่อไทยด้วย

ดังนั้น หากกระแสประชาธิปไตยโลกขยับตัวจากการเปลี่ยนผู้นำสหรัฐแล้ว ฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมไทยจะทำอย่างไร

จะยังคงดึงดันที่จะเดินหน้าต่อต้านประชาธิปไตยอีกเพียงใด

หรือจะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยใช้นโยบายอำนาจนิยมแบบใดก็ได้

เพราะจีนพร้อมจะปกป้องผู้นำเผด็จการไทยเสมอ ถ้าเช่นนั้น นโยบาย “เล่นไพ่จีน” เพื่อสร้างรัฐบาลเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ จะเป็นกระแสหลักในหมู่ชนชั้นนำและรัฐบาลไทยต่อไปอีกหรือไม่… กลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยม-อำนาจนิยมจะรบในสงครามประชาธิปไตยอย่างไรในปี 2564?

สงครามทั้งแปดแนวรบของปี 2564 ท้าทายต่ออนาคตของประเทศอย่างยิ่ง

ดังนั้น ปีใหม่จึงไม่ใช่ “โคขุน” ที่เดินมาให้เราใช้ทำเนื้อสเต๊กอร่อยๆ

แต่น่าจะเป็น “โคขวิด” ที่ทั้งดุเดือดและดุร้าย!