กลัวหมดหน้าตัก! “กนก” วิพากษ์ รัฐล้มเหลว ใช้เงินฟื้นฟูโควิด แค่ประวิงเวลาไม่กล้าเยียวยา

วันที่ 28 มกราคม 2564 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 3 ฉบับ แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดสามฉบับ วงเงิน  1.9 ล้านล้านบาท ว่ายังไม่เข้าเป้า และมีการเบิกจ่ายล่าช้า อีกทั้งเห็นว่ามีการใช้เงินก้อนนี้ประคองสถานการณ์ผลกระทบจาก covid-19 มากกว่าการแก้ปัญหาตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังจะเห็นได้ว่า เงินกู้ 4แสน ล้านใช้ไปเพียง แสนกว่าล้านเพื่อการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนจำนวนหนึ่งเท่านั้น แทนที่จะใช้เชิงรุกเพื่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้กับรัฐสภา อาจกล่าวได้ว่า “ล้มเหลว” ในการใช้เงินกู้เพื่อฉุดเศรษฐกิจขึ้น เพราะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 5 แสนล้านเพื่อช่วยเหลือ SME ใช้ไม่ถึง 2แสน ล้าน กับลูกค้า SME ที่เป็นลูกค้าชั้นดีเดิม ของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ทำให้ SME โดยเฉพาะ Micro SME ที่เข้าไม่ถึงระบบธนาคาร ที่มีจำนวนกว่าร้อยละ 80 ของจำนวน sme ทั้งประเทศ จนถึงร้านค้าขนาดเล็ก ยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งทีได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส โดยมีการคาดการณ์ว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ต้องหยุดกิจการไปแล้ว แตกต่างจากมาตรการช่วยเหลือกิจการขนาดใหญ่ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท กลับไม่เห็นปัญหาใด ๆ เลย จึงอยากให้มีการเร่งปรับปรุง แก้ไข ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า มาตรการช่วยคนรวยเดินหน้าฉลุย แต่มาตรการช่วยธุรกิจรายเล็กรายน้อย เต็มไปด้วยเงื่อนไขและความติดขัด ซึ่งจะนำไปสู่การที่รัฐบาลถูกโจมตีได้ว่า เอื้อทุนมากกว่าช่วยชาวบ้าน

“ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหา แต่รัฐบาลไม่กล้าพูดออกมา คือ รัฐบาลไม่กล้าใช้เงินเพราะกลัวว่าการระบาดของ covid 19 อาจกลับมาได้ทุกเมื่อ ถ้าถึงวันนั้นรัฐบาลอาจมีเงินไม่มากพอ ที่ที่จะรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลไม่กล้าประกาศปิดกิจการ หรือประกาศล็อกดาวน์ เพราะกลัวต้องใช้เงินเข้าไปเยียวยาเพิ่มเติม การระมัดระวังด้านหนึ่งเป็นเรื่องดีแต่ในอีกด้านหนึ่งอาจกลายเป็นกับดัก ที่ทำให้การช่วยเหลือเข้าไม่ถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง ” ศ.ดร.กนก กล่าว