‘เวียดนาม’ โลกคู่ขนาน ในยุคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก / บทความต่างประเทศ

People gather on a street during New Year's Eve celebrations amid coronavirus disease (COVID-19) pandemic, in Hanoi, Vietnam January 1, 2021. REUTERS/Kham

บทความต่างประเทศ

 

‘เวียดนาม’ โลกคู่ขนาน

ในยุคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2020 ที่ผ่านมาทำให้หลายประเทศทั่วโลกผ่านเข้าสู่ปี 2021 มาอย่างยากลำบาก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบหนักหนาสาหัสมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

แต่สถานการณ์ในเวียดนามแตกต่างออกไป

ประชาชนออกมาฉลองปีใหม่เหมือนกับอยู่ในสภาวะปกติ คนสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะมีเป็นเพียงส่วนน้อย สถานบันเทิงและธุรกิจทุกประเภทดำเนินไปตามปกติ ผู้คนร่วมโต๊ะอาหารกัน เด็กนักเรียนเดินทางไปโรงเรียน ผู้คนโดยสารเครื่องบินในประเทศตามปกติ เข้ายิม ขึ้นรถประจำทาง เบียดเสียดกันในลิฟต์ เหมือนกับสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาด

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลกประจำปี 2020 แม้เวียดนามจะมีชายแดนติดกับประเทศจีน ต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ตามที

สถานการณ์ที่เหมือนกับ “โลกคู่ขนาน” กับโลกภายนอก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมที่หยุดอยู่ที่ 1,549 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตคงที่อยู่ที่ 35 ราย

เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดน้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้

ถามว่า เวียดนามมาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร?

หนึ่งในคำตอบก็คือ การจัดการควบคุมโรคแบบเข้มข้นที่เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของระบอบการปกครองแบบ “เผด็จการ” ก็ว่าได้

ต้นปี 2020 เวียดนามต้องเผชิญกับความตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก

รัฐบาลใช้ประสบการณ์จากการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 มาใช้ในการกักกันโรค สอบสวนโรค ตรวจเชื้อในกลุ่มเป้าหมายอย่างเข้มข้น และประเทศเวียดนามก็เป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ประกาศห้ามเข้าเที่ยวบินจากต่างประเทศ มาตรการต่างๆ ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้แตกต่างอะไรจากประเทศอื่นๆ

สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ การบริหารจัดการของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม การเผยแพร่ข้อความ คำเตือนให้ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทำผ่านวิธีการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสื่อที่เป็นของรัฐทั้งหมด มีการประชาสัมพันธ์ผ่านแอพพลิเคชั่นสุดฮิตอย่าง TikTok ไม่เว้นแม้แต่ป้ายโฆษณาบิลบอร์ดขนาดยักษ์ในเมืองใหญ่ก็ถูกนำมาใช้ในการนี้

ในช่วงการแพร่ระบาดขึ้นสู่จุดสูงสุด รัฐบาลสามารถใช้อำนาจประกาศให้แท็กซี่หยุดให้บริการทั่วประเทศ ปิดล้อมอพาร์ตเมนต์ที่พบผู้ติดเชื้อ มีการตรวจเชื้อเชิงรุก และล็อกดาวน์เมืองทั้งเมืองก็ทำมาแล้ว

รัฐบาลเวียดนามจัดการกับข่าวปลอมด้วยเครื่องมือหลากหลาย ในอีกแง่ก็มีการปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเด็ดขาด ใครที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อสังคมออนไลน์สามารถถูกจับกุมพร้อมกับถูกตัดสินโทษจำคุกได้ทันที

อำนาจเผด็จการส่งผลให้รัฐบาลสามารถตีแผ่ข้อมูลของผู้ติดเชื้อได้ทั้งชื่อ ที่อยู่ ไม่สนใจสิทธิเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” เพื่อใช้ประโยชน์ในการสืบสวนโรคและติดตามตัวผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าเกิดคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เปิดเผยออกมานั้นมีมากน้อยเพียงใด ทอดด์ โพลแลค ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อคณะแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ระบุว่าข้อมูลที่เปิดเผยออกมานั้นเชื่อถือได้ เวลานี้เวียดนามยังไม่มีปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล อีกข้อพิสูจน์คืออัตราการพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชื้อเชิงรุกอยู่ในระดับสูง

“เรายังไม่พบหลักฐานของการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในเวียดนาม” โพลแลคระบุ

ความสำเร็จในการควบคุมโรค นำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยสำนักงานสถิติของเวียดนามเปิดเผยว่า ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีมากที่สุดในโลก ที่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปี 2021 นี้ เวียดนามตั้งเป้าการเติบโตไว้สูงถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์

การส่งออกของเวียดนามที่เคยถูกมองว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาด กลับเติบโตขึ้น มูลค่าส่งออกไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ของเวียดนามมูลค่า 1,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงก่อนแพร่ระบาด กลับเติบโตขึ้นถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่ยอดส่งออกสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เติบโตขึ้นถึง 56 เปอร์เซ็นต์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งซัมซุง ผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดในเวียดนามมีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 อยู่ที่ 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเติบโตของการส่งออกของเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป สองตลาดใหญ่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้านกันมากขึ้น บวกกับการได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้นจากฐานการผลิตใน “ประเทศเพื่อนบ้าน” ที่ลดต่ำลงซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาด

และนั่นส่งให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 23 ของโลกจากการจัดอันดับขององค์การการค้าโลก เป็นการกระโดดขึ้นถึง 16 อันดับ มากที่สุดในบรรดา 50 ประเทศที่องค์การการค้าโลกนำมาจัดอันดับเอาไว้

การเติบโตในแดนบวกของเศรษฐกิจเวียดนามส่งผลให้เวียดนามถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศเป้าหมายของการควบรวมกิจการ (M&A destination) ที่น่าลงทุนมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จากการจัดอันดับของยูโรมอนิเตอร์

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศยังจัดให้เวียดนามขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก

โลกคู่ขนานของเวียดนามทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ “เผด็จการ” ในการจัดการวิกฤตการณ์โรคระบาดที่ต้องแลกมาด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่ความสุดโต่งดังกล่าวส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2020 เวียดนามได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ถึง 3 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลง RCEP หรือความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค, การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป รวมถึงทำข้อตกลงการค้ากับอังกฤษ เป็นประเทศแรกๆ หลังเบร็กซิทด้วย

คงต้องจับตากันต่อไปว่า เวียดนามจะสามารถเดินต่อไปในเส้นทางคู่ขนานกับสถานการณ์โลกได้หรือไม่ในปี 2021 นี้