ดีเจติดโควิด : เปิดไทม์ไลน์เพื่อนร่วมปาร์ตี้ พบนักร้อง-นักแสดง ไม่ยอมให้ข้อมูล ‘อนุทิน’ สั่งสอบสวน คาดโทษหนัก

จากกรณี ดีเจมะตูม หรือ เตชินท์ พลอยเพชร ติดโควิด ภายหลังจัดปาร์ตี้วันเกิดที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยต่อมากลายเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ เนื่องจากมีคนที่ติดโควิดต่อเนื่องเชื่อมโยงไปถึงงานเลี้ยงดังกล่าวแล้ว 24 ราย และกลายเป็นประเด็นดราม่าในสังคมที่ออกมาวิจารณ์พร้อมกับเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ เนื่องด้วยก่อนหน้านี้ เจ้าตัวเคยออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิกับผู้มีส่วนทำให้เกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่

ล่าสุด รายงาน ศบค.ระบุว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานปาร์ตี้ดังกล่าว และติดเชื้อโควิด ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ถูกรายงาน ระบุว่า อายุ 23 ปี อาชีพ นักร้อง นักแสดง วันที่เริ่มป่วย 12 มกราคม ซึ่งยังไม่พบว่ามีการรายงานไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายดังกล่าวแต่อย่างใด จนทำให้ชาวเน็ตข้องใจ ว่าผู้ที่เข้าร่วมปาร์ตี้ดังกล่าวนั้นมีใครบ้าง

โดยเมื่อเวลา 10.16 น. วันที่ 27 มกราคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดเผยไทม์ไลน์ผู้ป่วย 644-658 ที่ได้สอบสวนประวัติแล้ว โดยพบว่าในกลุ่มดังกล่าว มีไทม์ไลน์ที่ระบุว่า ไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิด มะตูม ที่โรงแรมบันยันทรี ซึ่งไทม์ไลน์ รายที่ 647 ได้ระบุว่าอาชีพ “นักร้อง นักแสดง” ซึ่งในไทม์ไลน์ ได้เขียนว่า วันที่ 14-20 มกราคม ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยรายที่ 657 ระบุว่า อาชีพ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ วันที่ 17-21 มกราคม ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล และผู้ป่วยรายที่ 658 อาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐ วันที่ 10-21 มกราคม ระบุว่า ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล

อ่านไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายที่ 644-658 ทั้งหมด คลิก

‘อนุทิน’สั่งสอบเจ้าของงาน-แขก-โรงแรม มีโทษหนัก

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ออกรายการโหนกระแสและเผยถึงกระแสการกักตัวทิพย์ ที่ผู้มีความเสี่ยงติดโควิด-19 ไม่กักตัวและยังออกไปภายนอกว่า

อันนี้ไม่ใช่ ตามกฎหมายบุคคลที่ติดเชื้อ ถ้าเป็นคนไทยต้องอยู่โรงพยาบาล การกักตัวคือให้สังเกตตัวเอง เป็นการขอความร่วมมือ อย่างตนก็เคยกักตัวเองในกรณีเดินทางไปจ.สมุทรสาคร ซึ่งส่วนนี้ไม่กฎหมาย แต่อยู่ที่ตัวเรา ส่วนการกักตัวถึงขั้นที่กรมควบคุมโรคขอให้กักตัว ในส่วนนี้ต้องนำตัวไปโรงพยาบาล ดังนั้นทุกคนต้องมีสำนึก เพราะถ้าทำแบบนี้ อีกหน่อยรัฐต้องใช้กฎหมายหนักขึ้น ดังนั้นต้องระมัดระวังตัวเอง ถ้ามีอาการต้องไปรายงานตัว โดยยังไม่ผิดถึงขั้นมีกฎหมายมาบังคับ

จากนั้นหนุ่ม กรรชัย พิธีกรรายการ ถามถึงกรณีคนที่ผู้ติดโควิด ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ปกปิดไทม์ไลน์กับเจ้าหน้าที่ นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าปกปิดถือเป็นการให้การเท็จ โดยจะผิดกฎหมายในลักษณะให้การเท็จกับเจ้าพนักงาน ต้องดำเนินคดี ไม่มีใครใหญ่กว่าหมอ ถ้าไม่บอกก็ต้องใช้กฎหมาย ฐานให้การเท็จกับเจ้าพนักงาน

เมื่อถามถึงไทม์ไลน์ของนักร้องอีกคนที่ปกปิดข้อมูลเช่นกัน นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ ถ้าปกปิดข้อมูลถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งดูจากไทม์ไลน์แล้วจะเห็นว่าไปงานเดียวกัน อาจไปทำอะไรที่ไม่อยากบอก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องไปสอบสวนกัน

จากนั้นหนุ่ม กรรชัย ยังยกตัวอย่างถึงกรณีที่ผู้ติดเชื้อบางคนอาจไปในสถานที่ไม่อยากบอก เช่นไปกับเมียน้อย นายอนุทิน กล่าวว่า ในเรื่องนี้ขอให้มั่นใจเจ้าหน้าที่ เพียงบอกแค่ว่าไปทำอะไร ที่ไหน แต่ไม่ต้องบอกความสัมพันธ์ก็ได้ ยืนยันหมอมีจรรยาบรรณอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงการจัดงานวันเกิดที่อยู่ในช่วงมีกฎหมายควบคุม นายอนุทิน กล่าวว่า จากไทม์ไลน์จะพบว่าจัดปาร์ตี้วันเกิดกันในวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงที่ภาครัฐขอความร่วมมืออย่าจัดงานเลี้ยง ดื่มสุรา ซึ่งงานวันเกิดคงไม่ได้ดื่มน้ำหวาน ดังนั้นคงเป็นการละเมิด แต่เราไม่ได้ห้าม แต่ต้องไปดูว่า งานปาร์ตี้ดังกล่าวโรงแรมเปิดให้รับประทานหลัง 3 ทุ่มและจำหน่ายแอลกอฮอล์หรือไม่ ถ้าผิดจะผิดตรงนี้ ทั้งเจ้าของปาร์ตี้ ผู้ร่วมงานและโรงแรม โดยต้องไปเช็กวงจรปิดดู ซึ่งจะสั่งการเจ้าหน้าที่ ส่วนความผิดก็มีระดับอยู่ ทั้งจำและปรับ เรื่องนี้น่าละอายจากความมักง่ายมากกว่า

ทั้งนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ที่ประกาศเมื่อวันที่  6 มกราคม 2564  ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พบว่า

มีสาระสำคัญ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ประชาชนในพื้นที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ควบคู่การใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ

2.ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางคมนาคมและยานพาหนะของประชาชนเดิน ทางเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่ โดยบุคคลที่จะอออกนอกพื้นที่ ต้องแสดงเหตุผลคววามจำเป็น บัตรประชาชน บัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรอง ต่อเจ้าหน้าที่

3.ปราบปรามลงโทษผู้กระทำผิดเด็ดขาด จัดการเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นให้มีบ่อนพนันในพื้นที่อันเป็นต้นตอของการระบาด รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างประเทศโดยไม่ได้มีการตรวจสอบ คัดกรองโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

4.โทษของผู้ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จ ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป

อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 ด้วย

คลิกอ่านรายละเอียด