อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร กับละครที่ไม่ใช่เครื่องมือฆ่าเวลา และ ‘อุทัยเทวี’ ฉบับตีความใหม่ / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร

กับละครที่ไม่ใช่เครื่องมือฆ่าเวลา

และ ‘อุทัยเทวี’ ฉบับตีความใหม่

 

“แน่นอนครับ” อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ยอมรับด้วยดี ในเรื่องที่เขาก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ บนโลกนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งในแง่ส่วนตัวที่ต้องระแวดระวัง ทั้งในส่วนของงานผู้จัดละคร ที่เมื่อต้องเว้นระยะห่าง Social Distancing เป็นสิ่งจำเป็น การทำงานซึ่งต้องใช้คนหมู่มากในกองถ่ายก็เกิดปัญหา

แต่ไม่เป็นไร เพราะในมุมมองของเขา “ปัญหาก็ทำให้เกิดปัญญา”

เพียงแต่ “ตอนนี้ปัญญามันมาพร้อมกับความยากจน” บอกพลางหัวเราะเบาๆ

“คือมันกระทบกระเทือนจริงๆ ดีที่เราเรียนรู้โลกมาสักพักหนึ่งแล้ว มีประสบการณ์ ก็รู้ว่าการตระหนกตกใจไม่ได้ช่วยอะไร ทำได้ดีที่สุดคือตั้งสติ แล้วค่อยๆ แก้ไปทีละเปลาะ”

แก้ไปพร้อมๆ กับความหวัง ว่า “มันจะไม่แย่ไปกว่านี้”

อัษฎาวุธยังบอกด้วยว่า สำหรับเขา แม้สถานการณ์ที่เป็นอยู่จะส่งผลกระทบต่อเรื่องธุรกิจ เรื่องกำไร และผลประกอบการ ซึ่ง “ถ้าเรามีรายได้น้อยลง แล้วจ่ายให้น้อยลงมันก็อาจจะบาลานซ์ได้”

“แล้วสำหรับเราถ้าปิดบริษัท นอนอยู่บ้าน ใช้เงินเก่าเก็บ เรากินน้อยอยู่แล้ว แล้วบ้านก็พอจะมีที่ซุกหัวนอน พอจะปลูกต้นไม้ ปลูกอะไรที่มีผล แล้วกินวนอยู่ในนั้น ก็พอจะได้ แต่ปัญหาคือ แล้วลูกน้องเราล่ะ”

ตระหนักด้วยความเป็นห่วงอย่างนี้ แล้วสิ่งที่เขาพอจะทำได้ ก็คือการเตรียมตัวสำหรับงานเรื่องต่อไป

ในฐานะผู้จัดละครที่ว่ากันว่ารายได้ดี ดีกว่าเป็นนักแสดงด้วยซ้ำ เรื่องนี้คนที่เป็นทั้งนักแสดงและผู้จัดบอกเลยว่า “ถึงเวลานี้พูดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้ทุกคนขึ้นราคาหมด”

ขณะที่งบประมาณซึ่งได้รับมาบริหารจัดการยังเท่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้เขาเองก็เข้าใจสถานการณ์อันหนักหนา ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ผู้จัดอย่างเขาทำได้จึงเป็นการพยายามอย่างดีที่สุด

“ต้องหาทางใช้สมองให้มากขึ้น บริหารจัดการให้ได้ผลงานที่ดีเท่าเดิม แต่ต้นทุนน้อยลง”

เรื่องลดคุณภาพ ตัดงานโปรดักชั่น อะไรนั่นไม่เคยคิด เพราะถ้าจะทำอย่างนั้น สู้เลิก วางมือสวย แล้วนอนกินเครดิตเดิมดีกว่า

“ให้คนพูดว่าเรื่องสุดท้ายเขาดีที่สุด ไม่ใช่ว่าพอทำแล้ว ทำไมมันแย่ลงๆ โปรดักชั่นห่วยลง”

เขายังเล่าอีกว่า จากภาวการณ์ที่ประสบ และการไม่หยุดคิด สุดท้ายก็ได้สิ่งที่ไม่คาดคิด คือ ‘มุมมองใหม่’

“เมื่อก่อนเราเชื่อว่ามีเงินเท่านี้ถึงจะทำละครได้ แต่ใช้สมองมากกว่าเงินสิ มันก็จะเกิดวิธีใหม่ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการคิด ในการทำงาน”

ซึ่ง ณ จุดๆ นี้ ต้องขยายความเพิ่มเติมว่า เป็นวิธีคิดและนวัตกรรม เพื่อรองรับหลักการเดิมๆ ในการทำงาน หลักในการ “ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม”

“เราจบครู จบครุฯ จุฬาฯ ไม่อยากให้อาจารย์หรือสถาบันมายึดความเป็นนิสิตจุฬาฯ บัณฑิตจุฬาฯ ไป แล้วเราถูกสั่งสอนมาอย่างดี ว่าเราเป็นครู ต้องทำให้คนในสังคมดีสิ สังคมถึงจะดี”

“แล้วอีกอย่าง ลูกเราจะอยู่ในสังคมชั่วๆ ได้ยังไง ในวันที่เราไม่อยู่ เราจะนอนตายตาหลับหรือ ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมแย่”

“จริงๆ ปวารณาตัวเอง ว่าทำไมถึงไม่เป็นครูตามโรงเรียน เพราะเป็นครูสอนเด็กได้ทีละห้อง 50 คน ปีหนึ่ง 3 ห้อง 150 แต่เป็นคนในสื่อ เล่นละคร ทำละคร ถ้าเราอยากจะพูดอะไรดีๆ ออกไป คนรับทีหนึ่งเป็น 10 ล้าน 20 ล้าน ต่อให้เราเป็นเสียงเล็กๆ เสียงที่เบา หรือเสียงที่ดังในบางครั้ง ผลมันต่างกัน เพราะฉะนั้น เราเลยจะทำสื่อบันเทิง เพราะต้องการนำเสนอสิ่งดีๆ ในรูปแบบของคนทำการศึกษา คนที่เรียนครูมา ครูมาทำละคร ก็จะเล่าอีกแบบหนึ่ง เราจึงอยากทำแบบนี้ ไม่ว่ากระแสโลกจะเป็นยังไง เราก็ยังคงมีอันนี้อยู่ในงาน แต่วิธีการเล่า การสื่อสารจะเปลี่ยนไปตามโลก”

เมื่อขอให้บอกรายละเอียดของ ‘อันนี้’ อัษฎาวุธบอกทันที คือ “ทัศนคติที่ดีน่ะครับ”

“มันจะมีประโยคทอง ประโยคที่พูดซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ได้ถึงขนาดจะบอกว่า เอ้า! ทุกคนฟังนะ วันนี้เราจะมีละครดีๆ มาให้ดู กราบหนึ่ง กราบสอง”

เหมือนตอนที่ทำละครธรรมะ ‘ส้มตำแฮมเบอร์เกอร์’ เขาก็นำเพลงแร็พมาใส่ หรือล่าสุดที่นำนิทานพื้นบ้าน ‘อุทัยเทวี’ มาทำเป็นละคร ที่กำลังรอออกอากาศ นั่นก็ด้วย

“เราไม่ได้ทำแบบปรัมปราอย่างเดียว แต่ตีความใหม่ ว่าเป็นเรื่องของการมีลูกในวัยที่ยังไม่พร้อม”

“อุทัยเทวีคือลูก แม่เขาคือลูกสาวพญานาคที่ขึ้นมาเที่ยวบนโลกมนุษย์ แล้วมาได้กับเทวดาในวัยที่เรียกว่าอินโนเซนส์ แล้วดันท้อง ท้องเสร็จ กลับบ้านไม่ได้ ก็รอจนคลอดแล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ กลับบ้านไป ซึ่งเด็กที่ถูกทิ้งก็เหมือนเด็กที่อยู่ตามหน้า 1 แหละ”

“เอาปัญหาของสังคมมาเล่า ภายใต้สตอรี่ของอุทัยเทวีที่คุณเคยรู้จัก”

“คือผมรู้สึกว่าคนที่ดูละคร 1 ชั่วโมงที่เขาเสียไปกับเรา มันควรให้อะไรกลับไป”

“ละครไม่ใช่เครื่องมือฆ่าเวลานะ มันเป็นเครื่องมือสื่อสาร”