เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | แว่วแว่วกาเหว่าเกลากลอน

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

แว่วแว่วกาเหว่าเกลากลอน

 

แว่วแว่วกาเหว่าเกลากลอน

กาพย์โคลงโยนยอน

กังวาฬวิเวกวังเวง ฯ

 

จากเรื่อง “เราชะนะแล้ว แม่จ๋า” ของ “นายผี” หรือ “อัศนี พลจันทร”

ระหว่างหลบโควิดอยู่บ้าน ได้ยินเสียงนกกาเหว่าร้องรับขับขานอยู่บนต้นไม้ตรงโน้นตรงนี้ ทำให้นึกถึงกาพย์ฉบังบทนี้ของยอดกวี “นายผี” ขึ้นมาทันที

เอกลักษณ์หนึ่งของกวีนายผีคืออักษรที่ใช้แบบย้อนยุค แต่ทำให้ได้บรรยากาศดีนัก ดังบทนี้ใช้คำ “กังวาฬ” แทน “กังวาน” เป็นต้น

อ่าน “เราชะนะแล้ว แม่จ๋า” แล้วก็ต้องอ่าน “ความเปลี่ยนแปลง” ควบคู่กันไป ด้วยสองเล่มนี้สมควรประทับตราเป็น

มหากาพย์แห่งยุคสมัย

ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ด้วยทั้งสองเล่มบอกเล่าเรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งสังคมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมซึ่งมีในทุกช่วงยุคสมัย อันเป็นปัญหาทั้งในเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

จากอดีต ประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบันวันนี้

 

มหากาพย์ของนายผีทั้งสองเล่มสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกชัดเจนและมีชีวิตชีวายิ่ง

เล่มแรก “เราชะนะแล้ว แม่จ๋า” คือเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน ในกระแสทุนนิยมกับสังคมนิยม ซึ่งกำลังเป็นความขัดแย้งหลักของโลกยุคนั้น

เล่มสอง “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นเรื่องเชิงอัตชีวประวัติของต้นตระกูล “พลจันทร” ของตัวนายผี หรืออัศนี พลจันทร เอง แต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือก่อนนั้นขึ้นไป

ซึ่งสะท้อนวีรกรรมและความขัดแย้งของสังคมขุนศึกศักดินาในระบอบอำนาจนิยม

 

เสน่ห์ของหนังสือสองเล่มนี้ นอกจากเนื้อหาดังกล่าวแล้ว ที่วิเศษยิ่งคือ ความมี “ชีวิตชีวา” ของคำกาพย์

ดังบทยกมาข้างต้นเป็นชื่อเรื่อง คือ “แว่วแว่วกาเหว่าเกลากลอน” นั้น นายผีเล่าว่า

“…ต้นแก้วออกดอกหอมกรุ่นอยู่ริมบันไดเรือน กาเหว่าก็ร้องวิเวกอยู่บนยอดหลังคาเรือน…”

นั้นคือเรือนที่นายผีบอกว่า

“…คือภาพครอบครัวบ้านกรรมกรที่ผมไปอยู่ด้วย…” เข้าใจว่านายผีอาศัยอยู่ก่อนจะนิราศกรุงเข้าป่าและแต่งมหากาพย์สองเล่มนี้ เมื่อปี พ.ศ.2495 ดังเล่าว่า

“…ก็แต่งปี 95 นั้นเอง มิใช่ปี 90 คือแต่งพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่บ้านมิตรกรรมกรผู้หนึ่ง…”

นี้คือปากคำของผู้แต่งเอง ที่บอกเล่าไว้ในจดหมายถึงใครคนหนึ่ง

 

เสน่ห์ของกาพย์ ทั้งฉบังและยานีนั้นอยู่ตรงที่ใช้ฉันทลักษณ์น้อยที่สุด คือบังคับสัมผัสแค่แห่งเดียวในแต่ละบท กับกำหนดจำนวนคำจำเพาะบทไว้เท่านั้น

เช่น ฉบับดังตัวอย่าง

แว่วแว่วกาเหว่าเกลากลอน

กาพย์โคลงโยนยอน

กังวาฬวิเวกวังเวง

บังคับสัมผัสท้ายวรรคแรกกับท้ายวรรคสองเท่านั้น ซึ่งในที่นี้คือคำ “กลอน” กับคำ “ยอน”

กำหนดจำนวนคำคือ วรรคแรกหก วรรคสองสี่ วรรคสามหก รวมสามวรรค 16 คำ จึงเรียกฉบัง 16

กวีไฮกุของญี่ปุ่นเขาคุยว่าสั้นที่สุดในโลก มีสามวรรคเหมือนฉบัง แต่มี 17 คำ คือวรรคแรกห้า วรรคสองเจ็ด วรรคสามห้า เป็นห้า-เจ็ด-ห้า เป็นสิบเจ็ด

ฉบังเราสั้นกว่า คือ หก-สี่-หก เป็นสิบหก

กาพย์ยานีก็เช่นกัน บังคับสัมผัสในบทไว้ที่เดียว คือคำท้ายวรรคสองกับคำท้ายวรรคสามเท่านั้น

กำหนดจำนวนคำเป็นสี่วรรค คือ ห้า-หก กับห้า-หก ตัวอย่างจาก เราชะนะแล้ว แม่จ๋า ดังนี้

 

เรื่อยเรื่อยมารินริน           แลสายลมนั้นโรยริว

แสงทองที่ส่องทิว            พฤกษพร่างอยู่พราวพราม

 

บังคับสัมผัสแค่ท้ายวรรคสองคือคำ “ริว” กับท้ายวรรคสามคือ “ทิว” เท่านั้น

กำหนดสี่วรรคเป็น ห้า-หก-ห้า-หก ดังกล่าวสองวรรครวมกันได้สิบเอ็ดจึงเรียกกาพย์ยานี 11

 

ข้อกำหนดจำนวนคำและบังคับสัมผัสน้อยสุดนี้เองจึงเป็นโอกาสให้ผู้แต่งได้เล่นคำ เล่นจังหวะจะโคนของถ้อยคำได้อย่างอิสระ เช่นจาก เราชะนะแล้ว แม่จ๋า

 

สองกรของเรากำ          ชตากรรมอยู่แล้วรา

แสนล้านแลเราสา-          มัคคีกันอย่าหวั่นไหว

พลิกพื้นแผ่นดินดาล        ให้สท้านทั้งภพไตร

ปิดฟ้าให้เฟือนไป            ทั้งหล้าโลกด้วยแรงเรา

 

เล่นคำระหว่างวรรค คือ “กำ” กับ “กรรม”

ฉีกคำเพื่อเชื่อมความ คือ “สา-มัคคี”

นั้นคือการเล่นคำและจังหวะคำ โดยเฉพาะจังหวะ “เชิงฉันท์” อันเน้นลักษณะหนักเบาในวรรค ดังนี้

วรรคแรก สอง-สาม

วรรคหลัง สาม-สาม

 

สองกร-ของเรากำ            ชตากรรม-อยู่แล้วรา

แสนล้าน-แลเราสา-         มัคคีกัน-อย่าหวั่นไหว

 

การแต่งให้ได้จังหวะคำอย่างนี้ ในเชิงฉันท์เขาใช้วิธีแยกด้วยครุ-ลหุ คือหนักเบา เช่น

สบาย = สะ เป็นลหุ บาย เป็นครุ

“อากาศสบายดี” ทำให้ต้องอ่านแยกเป็นสองช่วง คือ อากาศ กับสบายดี คำ “สะ” ที่เป็นลหุนี้เองเป็นตัวช่วยแบ่งจังหวะให้

“สองกรของเรากำ” คำ “ของ” แม้มิใช่ลหุแต่มีน้ำหนักเบา จึงเท่ากับช่วยแบ่งช่วงคำให้โดยปริยาย

 

นี้เป็นกลวิธีหรือเคล็ดของกาพย์กลอนที่กวีชั้นเอกอุอย่างนายผีได้สำแดงไว้เต็มที่ในมหากาพย์แห่งยุคสมัยสองเล่มนี้

นี้คือสองบทตัวอย่างจาก “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เอกกวีอัศนี พลจันทร ได้สำแดงไว้

 

เลือดตัวแต่ปลายลำ          แม่กลองไหลแลเป็นนาย

เลือดตูที่ต้นสาย               บสำหรับจะดูแคลน

ลุกถอยบ่ลาไท                  ก็กระเทือนทั้งดินแดน

ทหารที่เฝ้าแหน              ก็บอาจจะอวดหาญ ฯ