อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Treasure Map แผนที่แห่งการบันทึกประสบการณ์ และความทรงจำ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Treasure Map
แผนที่แห่งการบันทึกประสบการณ์
และความทรงจำ

เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ และได้ชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า Treasure Map

โดย อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ศิลปินสาวชาวชัยภูมิ ผู้อาศัยและทำงานอยู่ในจังหวัดลำพูน
เธอเป็นที่รู้จักจากการใช้เส้นผมมนุษย์เป็นวัตถุดิบหลักในการทำงานศิลปะ ด้วยการเชื่อมโยงมันเข้ากับความเป็นมนุษย์ในหลายแง่มุม

                                         Treasure Map

ผลงานของเธอสัมผัส, ส่งผลกระทบ และกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดคำถามมากมาย ด้วยแนวคิดของผลงานที่เชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์สังคม, ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ความซับซ้อนยุ่งเหยิงในสังคมไทย ทั้งในแง่ของศีลธรรม, ความเชื่อ, พิธีกรรม

อันนำไปสู่การก่อร่างสร้างความรู้สึกนึกคิด, ค่านิยม และการแสดงออกที่กลายเป็นบุคลิกและพฤติกรรมของคนในสังคมไทย

ผลงานในนิทรรศการล่าสุดของอิ่มหทัยครั้งนี้ เป็นเหมือนบทบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เธอได้ประสบพบเจอในประเทศไทยตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งในจังหวัดนครราชสีมาและลพบุรี

                                       Treasure Map 

ปัญหาหมอกควัน PM 2.5, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, การหายไปของหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น และการจับยึดยาเสพติดที่สุดท้ายกลายเป็นเกลือ (หรือแป้งมัน?)

ไปจนถึงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของนักเรียน-นักศึกษา และการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งหมดทั้งมวลถูกนำเสนอผ่านผลงานชุดหลักอย่าง ศิลปะจัดวางสื่อผสมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปลักษณ์ของแผนที่ลายแทงสมบัติแบบเดียวกับที่หลายคนเคยเห็นในภาพยนตร์ผจญภัยล่าขุมทรัพย์ต่างๆ

แต่แผนที่ที่ว่านี้ไม่ได้บอกเส้นทางไปสู่เกาะมหาสมบัติที่ไหน หากแต่เป็นแผนที่ในใจที่ศิลปินปะติดปะต่อร้อยเรียงความรู้สึกนึกคิดที่ตกค้างในความทรงจำของเธอเข้าไว้ด้วยกัน

แผนที่ที่ว่านี้สร้างขึ้นจากกระจุกเส้นผมมนุษย์จำนวนนับไม่ถ้วน ถักทอร้อยรัดเป็นรูปร่างโครงกระดูกมนุษย์, แมลง, สัตว์ต่างๆ และเส้นทางอันสลับซับซ้อนกระจายไปทุกทิศทุกทาง

                    Treasure Map – Fear

ภายในแผนที่เส้นผมที่ว่านี้ยังซ่อนเอาไว้ด้วยชิ้นส่วนเครื่องประดับสีทองสว่างสุกใสและเม็ดคริสตัลส่องสะท้อนประกายระยิบระยับเล่นแสงไฟจำนวนมาก อิ่มหทัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ชื่อนิทรรศการ ‘Treasure Map’ มาจากแบบร่างผลงานที่เคยทำขึ้นในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ แล้วไม่มีโอกาสได้ทำต่อเพราะติดน้ำท่วม ก็เลยนึกถึงคำว่า Treasure Map ขึ้นมา พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2563 ก็มาเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช, ฝุ่น PM 2.5, โควิด-19 ทยอยมากันอย่างรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน ตามมาด้วยเหตุการณ์การชุมนุมของนักศึกษา และการสลายการชุมนุม ทำให้เรารู้สึกว่าปีนี้เป็นปีแห่งความทรงจำ เหมือนเราไม่รู้เลยว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะเดินหน้าต่ออย่างไร”

                  Treasure Map – Money

“เราเลยสร้างงานชุดแผนที่ที่เป็นจุดเริ่มต้น และหยิบเอาชื่อ Treasure Map มาใช้เป็นชื่องานชุดหลักและชื่อนิทรรศการ โดยเริ่มต้นจากแบบร่างของรูปโครงกระดูก และแผ่ขยายเรื่องราวออกไปโดยใช้การลากเส้นต่อจุดแต่ละเรื่องราวให้เชื่อมโยงกัน โดยแยกแผนที่ขนาดใหญ่ที่ว่านี้ออกเป็นสามชิ้นงานขนาดย่อมๆ”

“ในระหว่างทางที่ทำงานชุดนี้ เราค้นพบ 3 คีย์เวิร์ดสำคัญที่เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ในผลงานนี้เข้าด้วยกัน คือ ‘ความกลัว’, ‘เงินทอง’ และ ‘อำนาจ’ เรารู้สึกว่า 3 คำนี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น”

                Treasure Map – Money

“ในขณะเดียวกัน มุมมองที่เรามีต่อแผนที่ที่ว่านี้ก็มีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะโดยปกติแผนที่นั้นทำหน้าที่นำพาผู้ใช้งานไปยังจุดหมายปลายทางอะไรบางอย่าง แต่แผนที่ของเราไม่ได้นำพาไปสู่อะไรเลย ถึงมันจะดูเหมือนเป็นแผนที่โลกหรือแผนที่ดวงดาว แต่ก็ไม่ใช่ เราเลยซ่อนเครื่องประดับเอาไว้ด้านหลังแผนที่ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าสุดท้ายเราจะได้เจอสมบัติที่เราตามหาอยู่ไหม?”

                 Treasure Map – Power

“เหตุผลอีกอย่างในการใช้เครื่องประดับ ก็เพราะเราอยากได้ลักษณะเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เหมือนเป็นการบอกว่า สถานการณ์ที่เราประสบก็มีลักษณะแบบนี้เหมือนกัน คืออยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย งานเราก็เป็นการจำลองเหตุการณ์เหล่านี้ในลักษณะของการลากเส้นต่อจุดสัญลักษณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เหมือนเป็นการบันทึกสถานการณ์แห่งปีที่เราต่างก็มีความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมกันในสิ่งที่เกิดขึ้น”

                                 Treasure Map – Power

ในคติความเชื่อและค่านิยมของคนจีนโบราณถือกันว่า ร่างกายและเส้นผมเป็นสิ่งที่ลูกหลานได้รับจากบุพการี จึงไม่อาจทำลาย คนจีนโบราณจึงไม่นิยมตัดผม เพราะถือว่าเป็นการไม่กตัญญูต่อพ่อ-แม่ ดังที่เราเห็นคนจีนโบราณไว้ผมยาวกันทั้งหญิงและชายในหนังจีนย้อนยุคนั่นเอง เหตุผลที่อิ่มหทัยเลือกใช้เส้นผมเป็นวัตถุดิบในการทำงานของเธอเองก็มีแรงบันดาลใจจากการรำลึกถึงบุพการีของเธอเช่นเดียวกัน

“คุณพ่อของเราเป็นคนที่ไว้ผมยาว ด้วยความที่เป็นคนสวนกระแสและอยากประชดสังคม เขาเป็นช่างภาพที่ฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเอง พอในปี 2546 เขาป่วยหนัก เลยตัดสินใจตัดผมและมอบให้ลูกสาว 4 คนเก็บเอาไว้ดูต่างหน้า แล้วเขาก็เสียหลังจากนั้นไม่นาน”

                                      Cartography No.1

“นับตั้งแต่ปีนั้นเราเลยเริ่มเก็บเส้นผมของตัวเองที่ร่วงตอนสระผมเอาไว้ทุกครั้ง เป็นเวลา 2 ปี จนได้จำนวนที่มากพอก็เอามาทำเป็นงานศิลปะ โดยเริ่มต้นด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว ความผูกพัน และความโหยหาอดีต จนกระทั่งขยับไปสู่ประเด็นที่ใหญ่ขึ้น”

“การใช้รูปโครงกระดูกในงานของเราก็มีที่มาจากเหตุการณ์ตอนที่คุณพ่อเสีย แล้วจัดพิธีกรรมเผาศพ ตอนเข้าไปเก็บอัฐิ พระท่านก็เอาเศษกระดูกของคุณพ่อมาเรียงต่อกันเป็นร่างกายขึ้นอีกครั้ง สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลให้เราเขียนแผนที่รูปโครงกระดูกขึ้นมาในงานชุดนี้”

                                        Cartography No.5

นอกจากผลงานแผนที่ชุดหลักแล้ว ในอีกมุมของพื้นที่แสดงงานหลักของนิทรรศการยังมีผลงานชุด Cartography งานวาดเส้นขนาดเล็กที่วาดขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากศาสตร์การทำแผนที่โบราณ หากเป็นแผนที่นามธรรมที่ไม่ได้อ้างอิงหรือบ่งบอกเส้นทางของสถานที่ใดในโลก แต่เป็นเส้นทางและพื้นที่แห่งการแสวงหาคำตอบบางอย่างในจินตนาการของศิลปินเสียมากกว่า

                                 Unknown Space No.1

นอกจากนี้ ในห้องแสดงงานรองของนิทรรศการ ยังมีผลงานชุด Unknown Space ภาพวาดสื่อผสมสีดำที่ทำขึ้นจากเส้นผมจำนวนมากผสมกับสีอะคริลิกระบายลงไปบนผืนผ้าใบ แล้ววาดทับด้วยดินสอ ไล่เรียงลงไปบนช่องว่างระหว่างร่องรอยของเส้นผม ขับเน้นความต่างของสีดำบนสีดำที่วาดด้วยอุปกรณ์ต่างชนิด จนกลายเป็นภาพของทิวทัศน์อันไม่ทราบแหล่งที่มา เป็นแผนที่ของดินแดนไร้ชื่อที่จะมองเห็นได้เด่นชัดก็ต่อเมื่อกระทบกับแสงไฟที่เปรียบเสมือนความหวัง เปรียบเสมือนพื้นที่แห่งอนาคตที่เราไม่รู้ว่าคือที่ไหน และจะมีอยู่จริงหรือไม่ สิ่งนี้ยิ่งทำให้เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่าชีวิตของเราจะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคต บนดินแดนที่ไม่อาจคาดเดาได้แห่งนี้

                                 Unknown Space No.3

นิทรรศการ Treasure Map โดยอิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์, ภัณฑารักษ์โดยเซบาสเตียน ตา-ยาค จัดแสดงที่แกลเลอรี่ ซีสเคป (Gallery Seescape) 22/1 ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 17 จังหวัดเชียงใหม่, ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2563 – 7 กุมภาพันธ์ 2564, สอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 09-3831-9394 facebook m.me/galleryseescape และอีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน และแกลเลอรี่ ซีสเคป