คนมองหนัง | รำลึก ‘หลี่เซียงฉิน-ไมเคิล แอปเต็ด’ 2 คนบันเทิง 2 มุมโลก

คนมองหนัง
(ขวา) "ไมเคิล แอปเต็ด" VAN REDIN / AFP

รำลึก ‘หลี่เซียงฉิน-ไมเคิล แอปเต็ด’
2 คนบันเทิง 2 มุมโลก

“หลี่เซียงฉิน” นักแสดงอาวุโสจากฮ่องกงที่บรรดาแฟนหนังจีนในไทยน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 มกราคม ขณะมีอายุ 88 ปี และโลดแล่นในวงการบันเทิงมายาวนานกว่า 7 ทศวรรษ

“หลี่เซียงฉิน” คือ “หน้าตา” สำคัญของวงการบันเทิงเอเชีย ผ่านผลงานการแสดงภาพยนตร์ร่วม 400 เรื่อง ตลอดจนการเป็นโปรดิวเซอร์-พิธีกรรายการโทรทัศน์ และเป็น “แม่พระ/แม่ทูนหัว” หรือที่ปรึกษาปัญหาชีวิตให้แก่ดาราดังหลายคน อาทิ “โจวเหวินฟะ” “หลิวเต๋อหัว” และ “จางม่านอวี้”

หลี่เริ่มต้นอาชีพนักแสดงประจำคณะงิ้วเมื่ออายุ 16 ปี เธอตัดสินใจแต่งงานกับดารางิ้วชื่อดังขณะมีวัย 18 ปี ก่อนจะหย่าร้างในอีก 7 ปีต่อมา และไม่เคยสมรสกับใครอีกเลย

จากมหรสพดั้งเดิม หลี่หันเหทิศทางมาสู่การเป็นนักแสดงในสื่อสมัยใหม่ ด้วยการชักนำของ “กวนเต๋อซิง” นักแสดงชายผู้เคยรับบทเป็น “หวงเฟยหง” ในภาพยนตร์จำนวน 77 เรื่อง

“หลี่เซียงฉิน” ได้พบกับ “กวนเต๋อซิง” ที่สิงคโปร์ ระหว่างเธอไปแสดงงิ้วที่นั่น ซึ่งหลี่สอบถามกวนว่าเขาจะช่วยให้เธอแจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์ได้หรือไม่?

ต่อมาเมื่อเดินทางกลับถึงฮ่องกง กวนจึงได้เขียนจดหมายเชิญหลี่ไปร่วมแสดงบทสมทบในภาพยนตร์เรื่อง “Wong Fei Hung and the Lantern Festival Disturbance” โดยจ่ายค่าตัวให้เธอถึง 3 แสนเหรียญฮ่องกง หรือคิดเป็นมูลค่า 3.9 หมื่นเหรียญสหรัฐ (กว่า 1 ล้านบาท) ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน

“หลี่เซียงฉิน” จึงเริ่มแสดงภาพยนตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมักรับบท “ตัวร้าย” จนถึงปี 1976 เธอได้ร่วมแสดงละคร/ซีรีส์โทรทัศน์กับช่อง “ทีวีบี” ณ จุดนี้ ภาพลักษณ์ของหลี่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากบท “ผู้หญิงร้ายกาจ” ในจอเงิน มาสู่ “คุณแม่มากบารมี” ในจอแก้ว

คอหนังจีนชุดกำลังภายในชาวไทยมักจดจำหลี่ได้จากบท “มิกจ้อซือไท่” ใน “ดาบมังกรหยก 1986” ซึ่งเป็นบทบาทอันสามารถผสมผสานความเป็น “คุณแม่ (รู้ดี)” เข้ากับ “นางร้าย” ได้อย่างลงตัว

นอกจากนี้ หลี่ยังร่วมแสดงใน “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า 1982” “ชอลิ้วเฮียงถล่มวังค้างคาว 1984” “ขุนศึกตระกูลหยาง 1985” และ “ศึกลำน้ำเลือด 1987” เป็นต้น

หนึ่งในบุตรสาวบุญธรรมของ “แม่ทูนหัว” อย่าง “หลี่เซียงฉิน” ก็คือ “องเหม่ยหลิง” ผู้โด่งดังจากบท “อึ้งย้ง” ใน “มังกรหยก 1983” ซึ่งการเลือกจบชีวิตตนเองขณะมีวัยเพียง 26 ปีของนักแสดงสาว ได้สร้างความเสียใจและความรู้สึกค้างคาใจให้หลี่เป็นอย่างสูง

บทพิสูจน์สถานะอันยิ่งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงของนักแสดงสตรีอาวุโสผู้นี้คือ การที่ “โจวซิงฉือ” ตัดสินใจนำชื่อ “หลี่เซียงฉิน” ไปใช้เป็นชื่อตัวละครสำคัญที่รับบทโดย “แอนนิตา หยวน” (หยวนหย่งอี้) ในหนังเรื่อง “From Beijing With Love” (พยัคฆ์ไม่ร้าย คังคังฉิก)

ส่วนบทพิสูจน์สถานะอันยืนยงในวงการโทรทัศน์ของเธอก็คือ การได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จในวิชาชีพจาก “ทีวีบี” เมื่อปี 2011

“ไมเคิล แอปเต็ด” คนทำหนังชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีที่มีจิตสำนึกทางสังคมและผู้กำกับภาพยนตร์บันเทิงคดีที่ให้ความสำคัญกับตัวละครนำหญิง ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 7 มกราคม เมื่อมีวัย 79 ปี

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แอปเต็ดเริ่มทำงานในวงการโทรทัศน์เมื่อทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นให้เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์สารคดีทางทีวีชุด “Up”

ปี 1964 แอปเต็ดได้เข้าไปเป็นผู้ช่วยของ “พอล อัลมอนด์” ผู้กำกับฯ หนังสารคดีทีวีเรื่อง “Seven Up!” โดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกเยาวชนอายุ 7 ปี จำนวน 14 ราย จากหลายหลากภูมิหลัง ซึ่งจะมาให้สัมภาษณ์เรื่องความรัก, เงินตรา, เชื้อชาติ และโอกาสในชีวิต

จากนั้นแอปเต็ดได้สานต่องานของอัลมอนด์ โดยรับหน้าที่เป็นผู้กำกับฯ หนังสารคดี ซึ่งเดินหน้าสำรวจชีวิต-ความเติบโต-ความร่วงโรยของเยาวชน/คนหนุ่มสาว/คนวัยทำงาน/ประชากรวัยชราทั้ง 14 ชีวิต ในทุกๆ วงรอบ 7 ปี

ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “7 Plus Seven” “21 Up” “28 Up” “35 Up” “42 Up” “49 Up” “56 Up” และ “63 Up” ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อปี 2019

แอปเต็ดเคยแสดงความปรารถนาว่าเขาจะลงมือทำหนังสารคดีชุดนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจและพูดจาสื่อสารได้

“ไมเคิล แอปเต็ด” ระบุว่า ภาพยนตร์สารคดีชุด “Up” พยายามฉายภาพสังคมอังกฤษผ่านกรอบเวลายาวนานหลายทศวรรษ โดยประเด็นหลักในหนังคือการดำรงอยู่ของระบบชนชั้น ซึ่งเขาเห็นว่าควรถูกกำจัดทิ้งไปเสียที

ขณะเดียวกัน แอปเต็ดได้กลายเป็น “มิตรสหาย” ของบรรดา “บุคคลต้นเรื่อง” ในภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ กระทั่งเขามองเห็นสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง “ศิลปะ” กับ “ชีวิต”

“คุณต้องการให้มีเรื่องราวดราม่าเกิดขึ้นกับชีวิตพวกเขา เพื่อหนังจะได้น่าตื่นเต้นมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็มีคำถามว่า คุณจะไปคาดหวังให้เรื่องราวอย่างนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผมไม่ได้บอกว่าผมต้องการให้พวกเขาคนใดคนหนึ่งล้มหายตายจากไป แต่ผมเคยคิดว่า ‘โอ้พระเจ้า ทำไมถึงยังไม่มีใครหย่าเลยล่ะ ทำไมถึงยังไม่มีใครต้องสูญเสียบุคคลที่เขารักเลย’

“สิ่งทั้งหลายอันประหลาดพิกลเหล่านั้นจะทำให้เราได้ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยม ซึ่งนั่นแหละคือสายสัมพันธ์พิศวงอันน่าสะพรึงกลัวระหว่างชีวิตด้านที่เปี่ยมด้วยมิตรภาพกับชีวิตการทำภาพยนตร์”

“โทนี่ วอล์กเกอร์” หนึ่งในบุคคลต้นเรื่องที่ปรากฏตัวในหนังสารคดีชุด “Up” ตั้งแต่ 7 ขวบ จนถึงวัยเกิน 60 กล่าวยกย่องแอปเต็ดว่าเป็นเหมือน “สมาชิกครอบครัว” คนหนึ่งซึ่งเขารักใคร่อย่างสุดซึ้ง

อดีตคนขับแท็กซี่ อายุ 65 ปี ซึ่งเคยมีความฝันอยากเป็น “จ๊อกกี้” ในวัยเด็ก เล่าเรื่องราวเมื่อครั้งเขาเริ่มปรากฏตัวในหนังสารคดีชุดดังกล่าวว่า “ผมเป็นพวกเด็กซุกซนข้างถนน ผมเพียงแค่รู้สึกตื่นเต้นยามได้อยู่หน้ากล้องตอนนั้น และผมไม่เคยรู้ซึ้งถึงความหมายต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในหนังเลย

“ที่สำคัญที่สุดคือ ไมเคิลได้ส่งมอบความรู้สึกที่แสนอบอุ่นมาให้คุณ ทุกครั้งที่ผมได้ยินเสียงเขา มันเหมือนกับได้เข้าโบสถ์คาทอลิก มันเหมือนกับการได้ไปปรึกษาจิตแพทย์ ผมเชื่อใจเขาอย่างสิ้นเชิง ผมเลยรู้สึกเศร้ามากๆ เพราะผมรู้จักกับไมเคิลมาทั้งชีวิต ยกเว้นแค่ช่วง 7 ปีแรกเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม “ไมเคิล แอปเต็ด” ได้วิพากษ์วิจารณ์จุดบกพร่องของตนเองที่ปรากฏในภาพยนตร์สารคดีชุด “Up” เอาไว้ว่า เยาวชนส่วนใหญ่ที่เขาคัดเลือกมาเข้ากล้องเมื่อกว่าห้าทศวรรษก่อนคือ เด็กผู้ชาย ผิวขาว เป็นชาวลอนดอน ส่งผลให้หนังไม่สามารถสะท้อนภาพสังคมได้โดยครบถ้วน

อีกหนึ่งประเด็นที่แอปเต็ดคิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอในหนังสารคดีชุดนี้ก็คือ การนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงอย่างไม่มีพลวัตเท่าที่ควร

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบรรดาผู้หญิง ไม่ว่าจะในสถานที่ทำงาน รวมถึงตำแหน่งแห่งที่ในสังคมของพวกเธอ คือสถานการณ์ทางสังคมการเมืองที่สำคัญที่สุดในวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ผมกลับจับประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เลย ผมมีผู้หญิงเป็นบุคคลต้นเรื่องเพียงแค่ 4 คน จากทั้งหมด 14 คน และทั้ง 4 คนนั้นก็เริ่มมีครอบครัวตั้งแต่อายุยังไม่เยอะเสียอีก”

ทว่าจุดแข็งข้อหนึ่งคือ มีบุคคลต้นเรื่องเพศหญิงถึง 3 คนใน “Up” ที่เป็น “สตรีชนชั้นแรงงาน” ซึ่งแอปเต็ดมักกระตุ้นให้สตรีเหล่านั้นพยายามมองออกไปยังโลกกว้างภายนอกครัวเรือน

“ผมมักบอกพวกเธอว่า มันมีโลกใบใหญ่อยู่ข้างนอกนั่น โลกที่กว้างขวางกว่าการเต้นรำ การมีลูก และการได้ใช้จ่ายเงินไปกับความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ”

นี่อาจเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ผลักดันให้แอปเต็ดสนใจ “ตัวละครหญิง” เมื่อเขาข้ามฟากมาทำภาพยนตร์แนวบันเทิงคดี

ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์แนวบันเทิงคดี “ไมเคิล แอปเต็ด” ประสบความสำเร็จกับหนังเรื่อง “Coal Miner’s Daughter” (1980) ที่บอกเล่าชีวประวัติของ “ลอเร็ตตา ลินน์” นักร้อง-นักแต่งเพลงหญิงแห่งวงการดนตรีอเมริกันคันทรี ซึ่งเข้าชิง 7 ออสการ์ และส่งให้ “ซิสซี สเปเซ็ก” ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

ผลงานเรื่อง “Gorillas in the Mist” (1988) ของเขา ที่นำแสดงโดย “ซิกัวร์นีย์ วีเวอร์” ได้เข้าชิง 5 ออสการ์ รวมถึงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ “Nell” (1994) ที่ทำให้ “โจดี ฟอสเตอร์” มีรายชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาเดียวกัน

“ที่ผมชอบวางผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของหนัง ก็เพราะผมพบว่าตัวละครหญิงมักจะก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกเอ่อท้นหลากหลายในเรื่องราว ไม่ว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะเล่าอะไรออกมาก็ตาม ทั้งเรื่องของผู้หญิงกับกอริลล่า หรือนักร้องคันทรีหญิง

“ชีวิตที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของพวกเธอ -อย่างน้อยก็ในระดับพื้นผิว-มักจะมีลักษณะดราม่ามากกว่าเรื่องราวของพวกผู้ชาย” แอปเต็ดอธิบายวิธีการทำงานของตนเอง

ในอีกมุมหนึ่ง คนทำหนังที่ใส่ใจประเด็นทางสังคมและชีวิตลูกผู้หญิงเช่น “ไมเคิล แอปเต็ด” ก็เคยกำกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มาไม่น้อย อาทิ เจมส์ บอนด์ ตอน “The World is Not Enough” (1999) และหนังแฟนตาซี “The Chronicles of Narnia : The Voyage of the Dawn Treader” (2010)

ข้อมูลจาก
https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3116460/remembering-lee-heung-kam-veteran-hong-kong-actress-who
https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_5669072
https://www.theguardian.com/film/2021/jan/08/michael-apted-director-seven-up-dies-79
https://www.theguardian.com/film/2021/jan/10/michael-apted-obituary
https://www.theguardian.com/film/2021/jan/09/michael-apted-1941-2021-tributes-paid-to-visionary-director-of-up-series