นิ้วกลม | เราไม่สามารถเป็นได้ทุกอย่าง

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง
นิ้วกลม
[email protected]

เราไม่สามารถเป็นได้ทุกอย่าง

‘ถ้าพยายาม คุณจะเป็นอะไรก็ได้’
บางคนอาจเคยมีความเชื่อเช่นนี้ ซึ่งฐานของความเชื่อนี้คือเราทุกคนมีพื้นฐานเท่าๆ กันที่จะบรรลุศักยภาพหรือตำแหน่งแห่งที่ในสังคม
คำว่า ‘พื้นฐาน’ น่าสนใจ
หากลองนั่งนิ่งๆ สักแป๊บ เราจะแว้บขึ้นมาในสมองว่า ชีวิตแต่ละคนมีพื้นฐานสำคัญสองส่วนหลักๆ
หนึ่งคือ ต้นทุนของชีวิตที่ติดมากับร่างกาย ที่เกิดมามีรูปร่างหน้าตาแบบที่เป็นอยู่ น่ารักน่าเอ็นดู มีเสน่ห์ ขี้เหร่ ผอม อ้วน สูง เตี้ย รวมถึงฉลาด มีไหวพริบ หรือเฉื่อยเนือย เหล่านี้ล้วนเลือกไม่ได้ ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
แต่ก็เป็นไปได้ที่การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมจะมีผลสร้างความเปลี่ยนแปลงบ้าง
จึงนำมาซึ่งพื้นฐานส่วนที่สอง
ต้นทุนที่มาพร้อมตำแหน่งที่เราเกิด ความแตกต่างเริ่มตั้งแต่เราเกิดมาในครอบครัวแบบไหน ในบ้านที่ตั้งอยู่จังหวัดไหน โซนไหน ประเทศไหน รวย จน ใกล้โรงเรียนคุณภาพหรือห่างไกล
ในบ้านมีหนังสือนับพันหรือไม่มีเลยสักเล่ม
พ่อ-แม่มีเวลาหรือต้องทำงานตัวเป็นเกลียว ต้นทุนเช่นนี้ล้วนสำคัญสำหรับการพัฒนาขึ้นมาเป็นคนเก่ง-ไม่เก่ง ดี-ไม่ดี มีโอกาส-ไม่มีโอกาส แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อีกแง่หนึ่งคือความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างของสังคมที่ทำให้เด็กแต่ละคนขาด ‘มาตรฐาน’ ในการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกัน เช่น โรงเรียนที่ดีระดับเดียวกัน โอกาสในการศึกษาพื้นฐานที่ได้มาตรฐานเดียวกัน โอกาสในการรักษาพยาบาล โอกาสในการหาความรู้ฟรีๆ ที่รัฐจัดไว้ให้ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวตัดสิน ‘ชีวิตที่ดี’ ในอนาคตของแต่ละคนทั้งสิ้น
แน่นอนว่า อาจมีบางคนทะลุข้อจำกัดเหล่านี้แล้วได้ดิบได้ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นจำนวนน้อย
เช่นนี้แล้ว คงต้องยอมรับว่า เราเกิดมาต่างกัน และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถ ‘ฝัน’ หรือ ‘พยายาม’ จนบรรลุความใฝ่ฝันได้เท่ากันทั้งหมด นี่คือโจทย์ที่สังคมควรเขยิบเส้นความเหลื่อมล้ำทางโอกาสให้แคบลง เพิ่มเสริมสิ่งที่ช่วยทำให้ความเท่าเทียมในชีวิตของคนที่แตกต่างมีมากขึ้น
แต่ถ้าพูดถึงสังคมที่คุณภาพชีวิตพื้นฐานใกล้เคียงกัน ความเหลื่อมล้ำน้อย ต้นทุนแรกก็ยังคงเป็นโจทย์ของมนุษย์แต่ละคนว่า เราสามารถ ‘เป็นอะไรก็ได้’ อย่างที่ใฝ่ฝันหรือไม่
จริงไหมที่ใครก็สามารถเป็นญาญ่าได้ หรือร้องเพลงเพราะแบบตูน บอดี้สแลม หรือฉลาดหลักแหลมแบบอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เราอาจเรียนการแสดง หัดร้องเพลง ติวฟิสิกส์ แต่ทำไมจึงไม่มีญาญ่าสอง นิวตูน หรือไอน์สไตน์คนใหม่ เกิดขึ้นง่ายๆ
สมัยมัธยมผมกับเพื่อนที่ชอบเล่นบาสเกตบอลคุยกันเป็นประจำว่า เราจะเล่นบาสเยอะๆ ดื่มนมหนักๆ จะได้ตัวใหญ่แล้วเล่นเก่งเหมือนนักบาสเอ็นบีเอที่เราชอบ ปรากฏว่าถึงวันนี้ผมยังสูงแค่ 167 ซ.ม.
เราสามารถเป็นได้ทุกอย่างตามที่คิดฝันจริงไหม?
นักวิทยาศาสตร์ตอบว่า “ไม่จริง”
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบคือ “เพราะ ‘ดีเอ็นเอ’ ของเราไม่เหมือนกัน”

หนังสือ ‘Pleased to Meet Me’ โดยบิล ซัลลิแวน อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด
ไม่เพียงบางคนไม่สามารถสูงเหมือนนักบาสเอ็นบีเอได้เท่านั้น
แต่เขายังบอกว่า นิสัยและพฤติกรรมอีกหลายอย่างที่เป็นเงื่อนไขสำคัญว่าเหตุใดคนคนหนึ่งจึงประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าอีกคนหนึ่งก็มีที่มาจากดีเอ็นเอด้วยเช่นกัน
หมายความว่าเจ้ากรดนิวคลีอิกที่มีคำสั่งทางพันธุกรรมตัวเล็กๆ นี้มีอิทธิพลกับชีวิตเรามิใช่เพียงรูปร่างหน้าตา แต่ยังเลยเถิดไปถึงจิตใจที่แข็งแกร่งหรืออ่อนแอ มีวินัยหรือขี้เกียจ ควบคุมตัวเองได้ดีหรือควบคุมไม่ได้ เช่นนี้แล้ว หากมีใครสักคนอ้วนหรือเป็นโรคซึมเศร้า เราจึงไม่ควรโทษ ‘พฤติกรรม’ ที่เกิดจากตัวเขาเสียทั้งหมด เพราะบางอย่างเขาไม่ได้เลือกเป็นอย่างนั้น
มนุษย์มิได้เป็นเจ้านายโชคชะตาตัวเอง
เรามักคาดหวังจากมนุษย์ทุกคนเท่าๆ กัน นั่นอาจเป็นความคาดหวังที่ไม่สมจริงนัก ลองคิดดูว่า เรายังไม่สามารถคาดหวังให้มือถือทุกเครื่องถ่ายรูปได้คุณภาพเหมือนกันได้ รถแต่ละรุ่นก็กินน้ำมันต่างกัน เร่งได้เร็วไม่เท่ากัน เพราะ ‘ระบบภายใน’ แตกต่างกัน ซึ่งคนเรามีระบบที่สลับซับซ้อนกว่าข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้มาก
ความแตกต่างของบุคคลทั้งหลายเกิดจากความต่างของลำดับดีเอ็นเอ มันส่งผลต่อบุคลิกที่ซับซ้อน อย่างการมีสติปัญญา ใจเย็น ใจร้อน สงบนิ่ง ก้าวร้าว มีความสุข หรือขี้กังวล
บางคนที่ชอบพูดว่า “ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้” จึงไม่ผิดในบางเรื่อง แต่ช้าก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ไปตลอดชีวิต เดี๋ยวเราจะค่อยๆ ไล่เรียงกันต่อไปว่า อะไรบ้างที่สามารถเปลี่ยนแปลง ‘โชคชะตา’ ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
เพราะดีเอ็นเอก็เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เป็นอยู่, ไม่ใช่ทั้งหมด

จริงอยู่ว่าดีเอ็นเออยู่ภายในร่างกาย แต่อันที่จริงแล้วร่างกายของเราไม่ได้มี ‘เส้นแบ่ง’ หรือกำแพงกั้นจากโลกแวดล้อมทั้งมวล หากลองลืมไปเสียว่าผิวหนังหรือเส้นขนทั้งหลายคือจุดสิ้นสุดของความเป็นเรา เราก็เป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ของจักรวาลนี้
สิ่งแวดล้อมที่หุ้มห่อเราอยู่จึงมีผลมหาศาลต่อความเป็นเรา
บิล ซัลลิแวน ชวนให้จินตนาการว่าเราสามารถ ‘ทำสำเนา’ หรือโคลนนิ่งตัวเองขึ้นมาโดยมีดีเอ็นเอเหมือนกันทุกอย่างกับที่เราเป็นอยู่ คำถามคือ โคลนของเราจะมีความประพฤติเหมือนกับเรามากน้อยแค่ไหน
คำตอบคือ มีโอกาสจะเป็นไปได้นานาประการ
เพราะเขาจะเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ต่างไป
แม้ดีเอ็นเอจะเป็นต้นทุนตั้งต้น แต่สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวควบคุมว่าเรื่องราวจะไปต่ออย่างไร หลายสิ่งรอบตัวสามารถทำให้ยีนกลายพันธุ์ได้ อาทิ แสงอัลตราไวโอเลต บุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน ถ่านหิน ควันจากท่อไอเสีย มลพิษทางอากาศ หรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการ ปริมาณของสิ่งเหล่านี้ที่ร่างกายรับเข้าไปคือตัวตัดสินว่าจะเกิดการทำลายดีเอ็นเอในเซลล์มากน้อยแค่ไหน
สิ่งแวดล้อมสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของยีนได้ และทำลายดีเอ็นเอได้
ดังนั้น เราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงไปจาก ‘ต้นทุน’ ที่ได้มาตั้งแต่เกิด

ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากของแข็ง ของเหลว ก๊าซ รังสีทั้งหลายแล้ว พฤติกรรมบางอย่างที่เราถูกกระทำก็มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนด้วยเช่นกัน เช่น การทารุณกรรมในวัยเด็ก การกลั่นแกล้ง การเสพติด ความเครียด หรือเหตุการณ์ในเชิงลบทั้งหลายก็สามารถก่อให้เกิดแผลเป็นในดีเอ็นเอของเรา ซึ่งในบางกรณีจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงลูกของเราด้วย
ในกรณีนี้ มีผลวิจัยโดยโมเช เชฟ (Moshe Szyf) นักพันธุศาสตร์ชาวแคนาดา ว่า กลุ่มยีนต่างๆ ผ่านกระบวนการเมทิเลชั่น (การเติมองค์ประกอบทางเคมีเพิ่มเติม) ในผู้ใหญ่ที่เคยเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจในวัยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ที่เติบโตโดยมีฐานะดีมาตลอด
ซึ่งการเมทิเลชั่นของดีเอ็นเอในแบบเดียวกันนี้ยังพบในลิงกลุ่มที่เกิดมาในตำแหน่งล่างๆ ของฝูงมากกว่าลิงที่เกิดมาในตำแหน่งบนๆ ของฝูง
พูดง่ายๆ คือ เมื่อเกิดมาในสถานะยากจนอาจเกิดจากเปลี่ยนแปลงในดีเอ็นเอให้มีคุณสมบัติของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่า


ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ครอบครัวที่มีสถานะยากจนจะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ หากไม่เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย แม้ยังไม่รู้คำตอบแน่ชัด แต่เป็นโจทย์น่าคิดในการพัฒนาศักยภาพผู้คนในสังคม
มีการทดลองเรื่องนี้กับมด เพราะสมาชิกมดแต่ละฝูงจะมีหน้าที่เฉพาะของมัน เช่น มดทหาร มดหาอาหาร เป็นต้น แล้วอะไรคือสิ่งกำหนดให้มดแต่ละตัวทำหน้าที่เหล่านั้น?
เชลลีย์ เบอร์เกอร์ นักชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ลองฉีดยาลงในสมองของทารกมดเพื่อเปลี่ยนโปรตีนที่มีผลต่อดีเอ็นเอของมัน
ปรากฏว่า การทำเช่นนี้สามารถกำหนดพฤติกรรมของมดขึ้นมาใหม่ ทำให้มดทหารกลายเป็นมดหาอาหารได้!
หมายความว่า การฉีดยานี้สามารถเปลี่ยนชะตากรรมมดได้
การศึกษาเช่นนี้เป็นการต้องการทำความเข้าใจกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของยีน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงลำดับของดีเอ็นเอ เรียกว่า ‘เอพีเจเนติกส์’ เป็นกระบวนการที่สิ่งแวดล้อมสามารถส่งข้อความไปสู่ยีนของเรา แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงการทำงานของยีนตัวเดิม แถมยังเปลี่ยนการทำงานของยีนที่มีผลต่อลูก-หลานด้วย
ปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยน ตัวตนเรา (การแสดงออกของยีน) ก็เปลี่ยน
อาจแย่ลง ดีขึ้น หรือเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ
“พันธุกรรมจึงไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่สั่งสมมา” ดังที่นักพฤกษศาสตร์อย่างลูเธอร์ เบอร์แบงก์ พูดไว้
ในแง่หนึ่ง เราจึงไม่สามารถทำทุกอย่างในโลกใบนี้ได้ เพราะเราเกิดมาด้วยคุณสมบัติบางแบบ ข้อจำกัดบางอย่าง แม้พยายาม แม้ฝึกฝน แม้สร้างนิสัยอย่างไรก็ตาม บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราอยู่ดี ขณะที่บางเรื่องนั้นง่ายดายเหลือเกิน
ในอีกมุมหนึ่ง เวลามองไปที่เพื่อนร่วมโลก บ่อยครั้งเราเรียกร้องให้เขาเป็น ทำ และปรับเปลี่ยนไปตามที่เราคาดหวัง แต่ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับเขาเช่นกัน เช่น บอกให้คนใจร้อนใจเย็นลง บอกให้คนชอบกินลดปริมาณอาหาร บอกให้คนขี้กังวลมองโลกในแง่ดี เหล่านี้ไม่ง่าย เพราะนิสัยบางอย่างวางรากฐานมาตั้งแต่ดีเอ็นเอ เมื่อเข้าใจเช่นนี้ นอกจากเมตตาต่อตัวเองที่ทำไม่ได้ทุกเรื่อง เรายังมีเมตตาต่อคนอื่นที่ไม่เหมือนเราหรือไม่สามารถเป็นอย่างที่เราต้องการได้อีกด้วย
ความเข้าใจในพื้นฐานของชีวิตทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ว่าการเปลี่ยนแปลงตัวตนไม่ใช่เรื่องง่าย และทุกคนก็เกิดมาด้วยต้นทุนที่แตกต่างกัน
กระนั้น, ในอีกมุมหนึ่ง ก็น่าสนใจเช่นกันว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไป การเติม ‘วัตถุดิบ’ ที่แตกต่างลงไปในต้นทุนเดิมอาจทำให้ตัวตนของคนนั้นดีขึ้นได้ เช่นกันกับที่แย่ลงได้ด้วย
อากาศ อาหาร สารเคมี จุลินทรีย์ ฯลฯ ล้วนมีผลต่อชีวิตและตัวตนของเราทุกคน เพราะมันอาจเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนในร่างกายเรา ซึ่งในบางกรณี มันคือการเปลี่ยนแปลงชะตากรรมเลยทีเดียว
จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในสัปดาห์หน้าครับ