คําสอนที่ได้รับจากอัลกรุอาน และการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน “ซูเราะห์อัลอัคล๊าก” ต่อหน้าพระพักตร์

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 31 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสอำนวยพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2564 แก่ประชาชนชาวไทย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ความว่า เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2564 ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ทุกๆ ท่านให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และความเป็นมงคลโดยทั่วกัน

ในขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 17.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการพระราชทานรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับภาคใต้และระดับประเทศประจำปี 2563 ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

โอกาสนี้ มูฮำหมัด หะยีมูซอ ได้อัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

โดยมีนายสมาน ก้อพิทักษ์ อรรถาธิบายอัลกุรอานเป็นภาษาไทย

นายสมาน ก้อพิทักษ์ ฝ่ายการต่างประเทศและประสานงานของสมาคมกอรีแห่งประเทศไทย บอกกล่าวความรู้สึกอย่างปลาบปลื้มว่า

“ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่แปลพร้อมอรรถาธิบายอัลกุรอานมา ปีนี้เป็นปีที่ 12 ติดกัน ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนพระทัยในเนื้อหา และสอดรับกับการเรียนศาสนา (คณะดะวะอ์) มาว่า ต้องนำสิ่งที่ดีๆ จากอัลกุรอานเป็นสิ่งนำเสนอ โอกาสที่จะนำเนื้อหาอันทรงคุณค่าจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานให้องค์อัครศาสนูปถัมภกของเราได้รับฟังเนื้อหาคำสอนที่ดีๆ และฟังอย่างสงบนิ่ง พร้อมข้าราชบริพาร ถือเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกำหนดมา ดังนั้น ใจนึก สมองคิดว่า ต้องทำให้ดีที่สุด ด้วยการขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ และมอบหมายความสัมฤทธิผลจากอัลลอฮ์”

สำหรับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้อัญเชิญครั้งนี้อยู่ในซูเราะห์ (บท) อัลล-หุญุรอต (อายะห์ที่ (โองการที่) 9-12) ซึ่งซูเราะห์อัลหุญุรอต เป็นซูเราะห์ ลำดับที่ 49 เป็นซูเราะห์มะดะนียะห์ มีทั้งหมด 18 อายะห์

ถึงแม้ว่าซูเราะห์นี้มีจำนวนอายะห์น้อย แต่มีความสำคัญทางด้านจริยธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงในการอบรมที่เป็นอมตะไว้อย่างมากมาย

เป็นการปูพื้นฐานให้มั่นคงแก่สังคมที่มีเกียรติ เป็นซูเราะห์ที่ทรงคุณค่าด้านศีลธรรม จนกระทั่งนักตัฟซีร (นักอรรถาธิบายกุรอาน) ได้ขนานนามให้ซูเราะห์นี้ว่า “ซูเราะห์อัลอัคล๊าก” หรือ “ซูเราะห์จริยธรรม” (อายะห์ที่ 9-12)

มีดังนี้

(9)อัล-หุญุรอต – Ayaa 9

และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้น หากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม (แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม

(10) อัล-หุญุรอต – Ayaa 10

แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้น พวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา

(11) อัล-หุญุรอต – Ayaa 11

โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยนั้นจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ ช่างเลวทรามจริงๆ ที่บรรดาผู้ศรัทธาจะเรียกกันว่าเป็นผู้ฝ่าฝืน ภายหลังจากที่ได้มีการศรัทธากันแล้ว และผู้ใดไม่สำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม

(12) อัล-หุญุรอต – Ayaa 12

โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป และพวกเจ้าอย่าสอดแนม และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่-น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด

แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ

คําสอนที่ได้รับจากอัลกรุอานโดยสรุป

1. การอยู่ร่วมกันในสังคม ได้ห้ามปรามสิ่งที่นำมาซึ่งความแตกแยกทะเลาะวิวาทกัน เช่น ความรังเกียจ ความโกรธแค้น การอาฆาตพยาบาท การล้อเลียนเหยียดหยาม และอัลลอฮฺ (ซบ) ทรงสั่งใช้ จงประนีประนอม จงไกล่เกลี่ย จงให้อภัย และจงมีความเที่ยงธรรม เพราะจะนำมาซึ่งความเมตตาจากเอกองค์อัลลอฮฺ (ซบ)

2. สันติภาพจากการปรองดองเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน สังคมที่ขาดความปรองดอง มีการทะเลาะวิวาทแตกแยกกัน จะเป็นสังคมที่ถูกกีดกั้นจากพระเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า

3. ผู้ศรัทธาจะต้องอยู่ในมารยาทที่ดี จะต้องออกห่างจากการประณามหยามเหยียด การล้อเลียนเย้ยหยัน หรือแม้แต่การตั้งฉายาที่ไม่ชอบ รวมถึงการกล่าวหาให้ร้ายผู้อื่น

4. อิสลามห้ามการนินทาว่าร้ายผู้อื่นซึ่งถือเป็นบาป รวมถึงการเขียนภาพข้อความ ลบหลู่ล้อเลียน ห้ามสงสัยแคลงใจหรือมองพี่-น้องไปในแง่ร้าย อิสลามสอนให้คิดดีและห้ามการคิดร้าย การนินทาลับหลังถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ซึ่งการปฏิบัติตามคำสอนอิสลามนี้ย่อมนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคม และหวังว่าสังคมไทยจะมีความสามัคคีในปี 2564