เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ปราสาทศิลาสลักเสลา

ไป “เขียนแผ่นดินเขมร” เมื่อวันที่ 11-14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มที่เมืองเสียมเรียบ มีนครวัดเป็นจุดแรก แล้วไปนครธมที่ปราสาทบายน ต่อไปปราสาทตาพรหม แล้วบันทายศรี

ศิลปินร่วมคณะสองคนคือ สมภพ บุตราช เขียนรูป และ ชูเกียรติ ฉาไธสง หรือนกน้อย คนเขียนบท

น้อยวันแต่หนักมาก

ต้องไต่หินปีนเขาเฝ้าเทพเทวาอ่าองค์อัปสรไปแทบทุกองค์ปราสาทนั่นเทียว

 

จําเพาะนครวัดนั้น ถ้าจะดูแบบศึกษาคงต้องใช้เวลาแรมปี ดีที่เคยได้มาสองหนแล้ว กระนั้นหนสามนี้ก็ยังแค่แลผาด หาได้มีโอกาสแลพิศไม่

มีเรื่องราวมากมายจนมิอาจจาระไนหมด

ประมาณว่าอารยธรรมทั้งหมดของเขมรรวมอยู่ในมหาปราสาทหินอันมีชื่อว่านครวัด นี่แหละ

ศิลาจารึกอักษรว่ายากแล้ว แต่นี่สลักเสลาศิลาเป็นจอมปราสาท ประมวลเรื่องทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเขมรเท่านั้น หากรวมเอาคติความเชื่อแทบทั้งหมดของอุษาคเนย์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของผู้คนบนแผ่นดินที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” นี้นั่นเทียว

ปราสาทนครวัดเป็นเทวสถานหรือเทวาลัย เป็นที่สถิตของเทพในคติฮินดู แค่นี้ก็เรื่องใหญ่แล้ว

ทำไมผู้คนที่นี่จึงต้องนับถือเทพในคติฮินดู พระเจ้าสุริยวรมันที่สอง ผู้สร้างมหาปราสาทนี้เล่า ต้องเรืองอำนาจปานใดจึงสร้างงานได้ถึงปานนี้

แค่นี้ก็ท้าทายนักคิดนักวิชาการมาทุกสมัยแล้ว กระทั่งทุกวันนี้ก็ดูจะยังไม่มีข้อสรุปลงตัว

 

คติฮินดูก็คือคติพราหมณ์ที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมของอินเดียอันมีเทพสามองค์คือ พระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะ สามองค์นี้เรียกรวมว่า องค์แห่ง “ตรีมูรติ”

เมื่อเป็นเทพก็ต้องมีที่สถิตแห่งเทพ ดังเรียกว่าสวรรค์ สัณฐานของสวรรค์นั้นก็นิมิตเป็นภูสูงสุดดังเรียกว่าเขาพระสุเมรุ ถือเป็นหลักโลกนั่นเลย ในเสภาขุนช้างขุนแผน วันทองปักม่านชิ้นแรกเป็นรูปป่าหิมพานต์ ว่า

ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม
อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกหกสกันต์เป็นหลั่นมา
การวิกอิสินธรยุคุนธร ฯ

นครวัดก็จำลองจอมปราสาทเช่นนั้น องค์กลางคือเขาพระสุเมรุ

องค์รายล้อมก็คือเขาต่างๆ ตามคตินั้น

รูปสลักศิลาที่จำหลักเรียงรายนั้นส่วนหนึ่งก็คือสัตว์หิมพานต์ รวมทั้งนางฟ้านางสวรรค์คือนางอัปสร

ที่เขมรเรียก “อัปสรา”

 

อัปสราหรือนางอัปสรนี้ดูจะเป็นนางเอกของปราสาทหินทุกปราสาทจนกลายเป็นนางเอกเขมรไปด้วย กระทั่งมีรำฟ้อนชุดนางอัปสราปรากฏในนาฏศิลป์เขมร เป็นชุดเอกที่เป็นหน้าเป็นตาหรือเอกลักษณ์ของเขมรเอาเลยทีเดียว

อัปสราหรืออัปสรนี้เป็นศัพท์สันสกฤต ศัพท์บาลีเรียกอัจฉรา ทำให้นึกถึงศัพท์อังกฤษว่า ANJELA แอนเจลา แปลว่านางฟ้าเหมือนกัน

ชะรอยดาราฮอลลีวู้ด แอนเจลินา โจลี พอจะรู้เค้าเรื่องนี้หรือไรจึงมาถ่ายทำหนังที่นี่ แม้ล่าสุดก็มาถ่ายทำอีกเรื่องแล้ว

นางฟ้าเขมรถอดรูปเป็นนางฟ้าฮอลลีวู้ดหรือไร

 

จากเทวสถานไม่นานก็กลายเป็นพุทธสถานดังความคลี่คลายของคติธรรมที่พัฒนาต่อเนื่องกันมานั้น

ภาพสลักผนังรอบซุ้มระเบียงปราสาทนครวัดเป็นอีกจุดที่น่าเดินดูให้รอบ เพราะเล่าเรื่องคติเทพของฮินดูไว้ดีนัก มีตั้งแต่เรื่องรามเกียรติ์ มหาภารตะ ขบวนพยุหะแสนยาของเจ้าแคว้นต่างๆ ในลุ่มลำโขงมหานทีนี้อันมีขบวนทัพของเผ่าสยามเราอยู่ด้วย ดังมีจารึกใต้ภาพว่า “เนี่ยเซียมก๊ก” แต่ถูกลบแล้ว มาครั้งแรกเมื่อราวสิบห้าปีก่อน ยังได้เห็นจารึกใต้ภาพขบวนทัพนี้อยู่

อีกรูปคือ เรื่องกวนเกษียรสมุทร เป็นเรื่องสำคัญของปวงเทพเจ้า ว่าพระศิวะให้เหล่าเทพกับอสูรกวนน้ำในมหาสมุทรเพื่อให้เป็นน้ำทิพย์โดยใช้นาคเป็นสายชักปั่นเขาพระสุเมรุเป็นเครื่องกวนอย่างใบพายใบพัดจนบังเกิดสภาวะปั่นป่วนไปทั้งจักรวาล ปานโลกจะพลิกคว่ำ ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องอวตารเป็นเต่าไปหนุนแกนเขาพระสุเมรุไว้

ส่วนที่เหลือจากน้ำอมฤตเป็นน้ำพิษ พระศิวะทรงดื่มไว้มิให้เป็นภัยแก่โลกและสรรพสัตว์ ศอหรือคอพระศิวะจึงมีสีดำ เป็นตำนานเล่าขานกันสืบมา

ทั้งหมดนี้เป็นคติความเชื่อทางศาสนาล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธะหรือพราหมณ์

 

ทําไมความเชื่อเหล่านี้จึงมีอิทธิพลยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์จนกลายเป็นอาณาจักรขึ้นมาในเขมร แล้วแผ่อิทธิพลไปทั่วในละแวกอาณาจักรใกล้เคียง รวมถึงไทยเรา ดังมีปราสาทพนมรุ้ง พิมาย ลพบุรี กระทั่งเมืองกาญจน์ คือปราสาทเมืองสิงห์ สวนทางกับเส้นทางของเจดีย์มอญนี่เลย

ปราสาทหินเป็นจิตวิญญาณของเขมรโดยแท้

ยกปราสาทหินออก เขมรก็แทบไม่เหลืออะไร

 

                                                   ⊕ นครวัด ⊕

๐ เสียดซอนซ้อนพุ่มพนมปรางค์
ปราสาทศิลาสล้างสลักเสลา
สลัดเหลี่ยมซ้อนเหลี่ยมสลัดเงา
เมฆเคล้าฟ้าครามอร่ามองค์

ละองค์ลออชะลอเลื่อน
คล้อยเคลื่อนจักรวาลปานเหมหงส์
สูงสุเมรปรมัตถ์อันหยัดยง
ให้ยืนอยู่คู่คงชั่วฟ้าดิน

เอกอัปสรอ่อนซ้อนก็ฟ้อนร่าย
ผกามาศดาดรายละลายหิน
พยุหแสนยาย่ำธรณิน
อันรวยรินเริงเจรียงแจรงศิลา

ฝากฝีมือฝากสมัยฝากใจมนุษย์
ฝากต่ำสุดสูงสุดให้ศึกษา
เศกรัตน์คีรีปลุกชีวา
อัปสราอังกอร์นครวัด ฯ