ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 2-8 มิถุนายน 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

27 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

เป็นโอกาสชาตกาลครบ 111 ปีของท่านพุทธทาส

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เขียนในคอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ ถึงวาระดังกล่าว

ว่า แม้เป็นคนหนึ่งที่ “ไม่อิน” กับงานของท่านพุทธทาส

แต่ยอมรับท่านพุทธทาสในเรื่อง “ท่าที”

ท่าทีอันเปิดกว้าง เรียนรู้ผู้อื่นด้วยความเคารพยกย่องอย่างจริงใจ และพร้อมจะยอมรับ

จน — “ท่านน่าจะเป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาทในไทยที่มีนักบวชในนิกายอื่นๆ และต่างศาสนาอยากพบปะพูดคุยด้วยมากที่สุด”

เห็นด้วยหรือไม่ โปรดเปิดใจกว้าง เรียนรู้

 

เรียนรู้ อย่างที่ “วิเวกา นาคร” แห่งคอลัมน์ ดังได้สดับมา พาเราไปสัมผัสคำว่า “นรก สวรรค์”

เป็น นรก-สวรรค์ ที่ทำให้พุทธทาสภิกขุ ถูกบางฝ่ายมองว่ามีความโน้มเอียงไปในทาง “เดียรถีย์”

เมื่อไประบุว่า นรกเป็นความทุกข์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

สวรรค์เป็นความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ไม่ใช่ นรกใต้ดิน หรือ สวรรค์บนฟ้า

มิใช่เรื่องของการข้ามภพ ข้ามชาติ

หากแต่เป็นเรื่องใน “ชาตินี้”

คำอธิบายดังกล่าว นำมาซึ่งคำว่า “เดียรถีย์”

จำเป็นต้องศึกษา และมีท่าทีในการมองที่เปิดกว้าง

จึงจะเข้าใจท่านพุทธทาส

และทำให้ชาตกาลครบ 111 ปีของท่านมีความหมาย

 

มีจดหมายจาก “ปิยพงศ์” เมืองหละปูน ที่เกี่ยวโยงถึงท่านพุทธทาส

เรียนบรรณาธิการ

ข้อความการพูดคุยระหว่างท่านพุทธทาสอินทปัญโญ กับศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1911 ประจำวันที่ 31 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2560

ผมพิมพ์ต้นฉบับตกหล่นไปประโยคหนึ่ง

ซึ่งเป็นประโยคที่สำคัญ คือประโยคที่ว่า

“เป็นผู้บันดาลชีวิตมนุษย์”

ผมรู้สึกผิด จึงส่งบทการพูดคุยทั้งหมดมาอีกครั้งหนึ่ง

“ชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ จะเป็นอย่างไร จะดีหรือชั่ว ต่ำหรือสูง สะอาดหรือโสโครกนั้น สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลอยู่มาก

เพราะคนมักจะเป็นไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อจิตใจมากที่สุด คือการอ่าน

เวลานี้กระดาษถูกใช้มากเหลือเกิน พิมพ์กันมากมาย เป็นหนังสือเล่มบ้าง รายวันบ้าง รายคาบบ้าง

โลกจะเป็นอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับหนังสือที่อ่านนี้มาก กล่าวได้ทีเดียวว่า นักประพันธ์เป็นผู้หมุนโลก

เป็นผู้บันดาลชีวิตมนุษย์

ปากกาของนักประพันธ์ มีอำนาจมากในการจูงใจคน จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่นักประพันธ์ ทำหน้าที่จูงใจคนอยู่ทุกวัน…

เมื่อปากกาของเราจะต้องจูงใจคนอ่านอยู่โดยสภาพของมันเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้เราช่วยกันจูงใจผู้อ่านในทางที่ดี

ช่วยจูงใจผู้อ่านไปในทางฝ่ายสูง

อย่าเขียนเรื่องที่จะทำให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้ม มัวเมาไปในทางต่ำ

ถ้ายิ่งเราสามารถจะใช้ปากกาทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจโลกและชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง ตามหลักพุทธธรรมแล้ว

ก็เท่ากับว่านักประพันธ์ได้ช่วยกันทำบุญทีเดียว”

 

ที่มาของภาพ– “คนหรือไก่ก็ต้องขันให้ดีๆ”

ปริศนาธรรมภาพนี้ เข้ากับบทสนทนาของท่านกับศรีบูรพาพอดี รวมไปถึงผู้คนในอาชีพอื่นๆ ด้วย

จากหนังสือ อลีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ จาก พุทธทาสภิกขุ 2449-2529 ที่ศิษยานุศิษย์พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในวันล้ออายุ ครบ 80 ปี ท่านพุทธทาส ในปี 2529

ซึ่งท่านได้เมตตาส่งมาให้ถึงเมืองลำพูน

“ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน)