โควิด-19 รอบใหม่ : ‘ประยุทธ์’ สั่งปรับลดงบปี 65 ชะลอบางโครงการ ‘พิธา’ กระทุ้งอีกเร่งเยียวยาปชช.

วันที่ 12 มกราคม 2564 ความคืบหน้าของการรับมือการระบาดโควิด 19 รอบใหม่ที่ส่งผลกระทบไม่เพียงจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือนมกราคม ยังรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประชาชนที่ต้องการการเยียวยาจากรัฐบาล

ล่าสุดวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมอบนโยบายให้หน่วยรับงบประมาณทั่วประเทศ เพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ผ่านรายการพิเศษทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นบีที ตอนหนึ่ง ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ซึ่งมีจำนวน 3,285,962.5 ล้านบาท) เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ 2,400,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการการจัดเก็บในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 277,000 ล้านบาท เป็นผลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการชะลอการดำเนินมาตรการภาษีบางมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปภาษี จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น เช่น การประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ทางออนไลน์ และรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถชะลอการดำเนินการออกไปได้ ขอให้ชะลอไปก่อน นอกจากนั้น ควรประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด หากแผนงานหรือโครงการใดไม่สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ก็ควรยกเลิก เพื่อนำงบประมาณไปดำเนินการในแผนงาน และโครงการอื่นต่อไป

‘พิธา’ เปิดข้อเสนอพร้อใช้สู้โควิด กระทุ้งอีกเร่งเยียวยาปชช. รัฐบาลหยิบใช้ได้ทันที

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สัปดาห์ก่อน ตนได้อภิปรายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยสรุปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในภาพรวมและข้อเสนอที่รัฐบาลควรจะทำทันที แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆที่เป็นรูปธรรมออกมา ในขณะที่หลายครอบครัวกำลังยากลำบากมากและทุกๆวันกำลังรอคอยนโยบายที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่พวกเขา แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการ ตนจึงขอนำข้อเสนอมาตรการเยียวยาที่พรรคก้าวไกลได้ศึกษาและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมจากสัปดาห์ที่แล้วมาให้ โดยหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเห็นใจความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการพร้อมใช้ที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ทันที ดังนี้

1.ทบทวนมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดโดยเร่งด่วน ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ระดับการติดเชื้อ ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย รวมถึงต้องคำนึงถึงประเภทสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดในแต่ละจังหวัด ให้มีมาตรการเยียวยาที่สอดคล้องและสมเหตุสมผลกับแต่ละสถานที่

2.เร่งช่วยเหลือถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน (สำหรับอายุ 18 ปี ขึ้นไป ยกเว้นข้าราชการ) เพื่อเป็นโครงข่ายรองรับทางสังคม ให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา อย่างถ้วนหน้า และพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้

3. เยียวยาเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษจากโควิดและมาตรการของภาครัฐ
3.1 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าเช่าให้ประชาชน ในจังหวัดที่ถูกควบคุมในระดับเข้มงวดสูงสุด
3.2 ชดเชยสถานประกอบการที่ถูกขอความร่วมมือให้หยุดกิจการราว 6,098 แห่ง ใน 28 จังหวัดที่ถูกสั่งปิด เพิ่มจาก 50% เป็น 75% ใช้งบเพิ่ม จาก 2,321 ล้านบาทเพิ่มเป็น 3481.5 ล้านบาท โดยสามารถตั้งต้นงบประมาณไว้ราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพราะอาจมีสถานประกอบการที่มาลงทะเบียนเพิ่ม
3.3 ควรมีมาตรการพยุงการจ้างงานสำหรับธุรกิจที่รายได้ลดลงในช่วงโควิด โดยมุ่งเน้นจังหวัดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เช่น 5 จังหวัดแดงเข้มและกรุงเทพฯ เสนอให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาให้โดยดูจากรายได้/การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ชดเชยที่ 50-75% โดยมีเพดานไม่เกิน 7,500 บาท/ราย
3.4 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าไม่ให้ถูกให้ออก โดยอาจมีกฎหมายพิเศษห้ามบังคับไล่ผู้เช่าออกในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก และให้รัฐบาลไปเยียวยาผู้ให้เช่า เช่น พิจารณาลดภาษีที่ดิน

4. สำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลควรต่อสายป่านของธุรกิจที่อาจขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์ที่คลี่คลายช้าลง โดยต้องมีโครงการ Soft-loan และพักชำระหนี้ไปสูงสุด 2 ปี ซึ่งอาจใช้โมเดลแบบการฟื้นฟูช่วงที่เกิดสึนามิ ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารและธนาคารของรัฐ

นายพิธา กล่าวต่อว่า มาตราการเยียวยาทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นได้จริงและทำได้อย่างเร่งด่วน โดยจะหางบประมาณได้จากการ

1. โยกงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่ ใช้สำหรับเยียวยา รวมแล้วจะมีงบยังไม่ได้ใช้จากเงินกู้ 1 ล้านล้านเหลืออยู่ราว 467,000 ล้านบาท งบกลางเหลืออยู่ราว 139,000 ล้านบาท
2. เกลี่ยก่อนที่จะกู้ เมื่อมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกรอบ ก็ควรรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดที่มี รวมถึงการโยกงบปี 64 ในส่วนที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพื่อนำไปเป็นกระสุนสำหรับการฟื้นฟูในระยะถัดไป ก่อนที่จะคิดกู้เงินเพิ่ม ประสบการณ์จากการโยกงบปี 63 พบว่าหน่วยงานรัฐสามารถหั่นงบตัวเองได้เมื่อยามจำเป็นโดยไม่กระทบเป้าหมายเดิม สำหรับปี 64 ที่งบประมาณเพิ่งเริ่มใช้มาไม่ถึง 3 เดือน จะโยกงบได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท

“มาตรการเหล่านี้คิดมาโดยละเอียดรอบคอบ บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางการคลังทั้งสิ้น หากท่านเป็นรัฐบาลของประชาชนก็ไม่ควรรั้งรอที่จะดำเนินการใดๆ เพราะเวลานี้หลายครอบครัวและหลายกิจการเหมือนมือกำลังเกาะขอบเหว ไม่รู้ว่าจะอดทนได้อีกแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของประเทศนี้จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยพวกเขาบ้าง” นายพิธา กล่าว

กรมการจัดหางาน เตรียมที่ว่าง 5.8 หมื่นตำแหน่ง รองรับคนตกงานพุ่ง

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถือว่ามีผู้ที่ขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิ และรายงานตัวกรณีว่างงานจำนวนน้อยที่สุด โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เดือนธันวาคม มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 82,238 คน รายงานตัว 539,474 คน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ที่มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 93,190 คน รายงานตัว 598,076 คน เดือนตุลาคม ขึ้นทะเบียนว่างงาน 116,160 คน รายงานตัว 643,148 คน และเดือนกันยายนขึ้นทะเบียน 121,023 คน รายงานตัว 680,825 คน

นายสุชาติกล่าวว่า แต่อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานคาดการณ์ว่าอาจจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีความต้องการจ้างงาน จำนวน 58,151 อัตรา ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 10 อันดับแรก ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานในด้านการผลิตต่างๆ, แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่นๆ 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 5.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 6.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 7.เจ้าหน้าที่เก็บเงิน, แคชเชียร์ 8.พนักงานบริการอื่นๆ 9.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน), พนักงานขายของหน้าร้าน และ 10.ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์

‘บอล ธนวัฒน์’ จี้รัฐต้องกล้าคิด กล้าทำ ก่อนคนอดตายกันหมด

เมื่อเวลา 21.40 น. วันที่ 11 มกราคม นายธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ บอล อดีตประธานสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำกลุ่ม “วิ่งไล่ลุง” โพสต์เฟซบุ๊ก “ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai” เกี่ยวกับข้อเสนอมาตรการเยียวยาประชาชน นิสิต และนักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ โดยระบุว่า

1.ต้องเยียวยาแรงงานทุกคนที่ถูกพักงานหรือตกงาน อันเป็นผลกระทบมาจากคำสั่งของรัฐในการปิดสถานบริการและธุรกิจต่างๆ

และรัฐต้องจ่ายค่าแรงเป็นขั้นบันได ไม่น้อยกว่า 50% ให้ผู้ประกอบการ เพื่อคงการจ้างงานไว้ ในเขตพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์ โดยผู้ประกอบการที่รับความช่วยเหลือนี้ จะได้รับมาตรการจูงใจด้านภาษีเพิ่มเติม แต่ต้องคงการจ้างงานไว้ ห้ามไล่ลูกจ้างออกจากกิจการ และห้ามปิดกิจการลง

สำหรับแรงงานนอกระบบ รัฐพึงจ่ายเงินชดเชยให้ด้วย และดึงแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบต่อไป

2.ต้องเร่งพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งหนี้เงินกู้ และหนี้ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ทั้งหนี้ของประชาชน และหนี้ของ SMEs เพื่อต่อลมหายใจให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยในยามยากลำบากทางเศรษฐกิจ

3.ต้องสนับสนุน work form home ด้วยการแจกซิมใช้อินเทอร์เน็ตฟรีแก่ประชาชน และให้มาตรการจูงใจทางภาษี แก่ธุรกิจที่สนับสนุน work from home

4.ต้องมีมาตรการใช้น้ำ-ไฟฟรี หากใช้ไม่ถึงหน่วยที่กำหนด และหากใช้เกินหน่วยที่กำหนด ก็ให้มีส่วนลดเป็นขั้นบันได เพื่อสนับสนุน work from home และบรรเทาผลกระทบของประชาชน

5.ต้องลดค่าเทอมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงขยายเวลาการจ่ายค่าเทอม หากไม่มีจ่าย ก็ให้เรียนต่อได้ โดยคำนึงถึง #โอกาส เป็นสำคัญ ต้องไม่มีใครไม่ได้เรียนต่อ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม

รวมทั้งรัฐพึงจัดหาซิมใช้อินเทอร์เน็ตฟรี และอุปกรณ์ที่รองรับการเรียนออนไลน์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้ทุกคนได้เข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างเท่าเทียม

6.ต้องลดค่าหอพักในกำกับของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงให้มาตรการจูงใจด้านภาษี แก่หอพักเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือแก่นิสิต นักศึกษา (เช่น ลดค่าหอพัก ลดค่าส่วนกลาง ขยายเวลาการชำระค่าหอพัก ฯลฯ)

7.ต้องผ่อนปรนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ในการปล่อยเงินกู้ soft loan แก่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเร่งช่วยเหลือธุรกิจของคนตัวเล็กตัวน้อย และต่อลมหายใจ เพื่อยุงเศรษฐกิจของประเทศ เพราะ SMEs ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน หาก SMEs ล้ม เศรษฐกิจของประเทศย่อมล้มตาม

มาตรการเหล่านี้ เป็นข้อเสนอเบื้องต้น ที่รัฐบาลสามารถทำได้จริง และทำได้ทันที เพื่อเยียวยาประชาชน นิสิต และนักศึกษา ให้รอดพ้นจากพิษเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ เพราะความหละหลวมตามชายแดนของรัฐ

การเยียวยาครั้งนี้ หลายมาตรการไม่ได้ใช้เงิน และถึงบางมาตรการจะใช้เงิน ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อแสดงความ “รับผิดชอบ” ในฐานะรัฐบาล ที่ผิดพลาดจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ กล้าเอาเงินออกมาเยียวยาประชาชนได้แล้วครับ ก่อนที่พวกเขาจะอดตายกันหมด”