เกาะใน Lord of the Files ของโกลดิง กับการสร้าง ‘เกาะ’ เป็นยูทูบเบอร์ในปัจจุบัน / บทความพิเศษ-มีเกียรติ แซ่จิว(ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

เครดิตภาพประกอบ : https://en.wikipedia.org/wiki/Lord_of_the_Flies

บทความพิเศษ
มีเกียรติ แซ่จิว

เกาะใน Lord of the Files ของโกลดิง
กับการสร้าง ‘เกาะ’ เป็นยูทูบเบอร์ในปัจจุบัน

เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งรอดตายอยู่บนเกาะรกร้างแห่งหนึ่ง ทั้งที่ความจริงตอนที่เครื่องบินถูกยิงตก พวกเขาน่าจะตายกันหมด แต่คนที่ตายกลับเป็นนักบิน
ปาฏิหาริย์ทำให้เด็กกลุ่มนี้รอดมาได้ แต่ปาฏิหาริย์ก็กำลังแสดงบทบาทใหม่ให้พวกเขาได้เรียนรู้ เลือกผู้นำกลุ่ม ตั้งกฎกติกาใหม่ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และทำร้ายกันเอง
โดยนัยของหนังสือเล่มนี้ ทำให้เรามองเห็นพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน แล้วยังส่องสะท้อนกลับมองดูตัวเองว่า หากเป็นเราจะเลือกเป็นคนแบบไหน
เราจะเป็นคนบ้าอำนาจเผด็จการเหมือนอย่าง ‘แจ็ค’
เป็นหยินและหยาง เข้าใจทุกข์สุขของผู้อื่นเหมือน ‘ราล์ฟ’ หรือจะคงความฉลาด หลักแหลม เจ้าปัญญาอย่าง ‘พิกกี้’ (แต่อ่อนปวกเปียกด้านพละกำลัง)
หรือจะเป็นผู้เดินตามขบวนอย่างไซม่อน แซม เอริค และฟิล ที่มีแนวโน้มจะเอนเอียงไปในทิศทางเดียวกับคนที่ตนเห็นเหมาะสมให้เป็น ‘ผู้นำ’
เกาะในเรื่องที่เด็กนักเรียนกลุ่มนี้เกาะ ไม่ว่าจะเกาะข้างฝ่าย ‘แจ็ค’ ผู้รื้อทำลายกฎที่ร่างกันมาแต่ต้น หรือเกาะข้างฝ่าย ‘ราล์ฟ’ ผู้ยังคงยึดมั่นอยู่ในกฎอย่างเคร่งครัด
แต่ถึงที่สุด เหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่าความเป็นเหตุเป็นผลนั้นไม่มีอยู่จริง
มนุษย์ขับเคลื่อนชีวิตด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างแท้จริง

เครดิตภาพประกอบ : https://en.wikipedia.org/wiki/Lord_of_the_Flies

วิลเลียม โกลดิง เขียนงานชิ้นนี้เมื่อปี 1954 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อิทธิพลทางดนตรีได้เข้ามามีบทบาทบำบัดจิตใจผู้คนให้พอได้หายอกสั่นขวัญแขวน
และบทเพลงของเอลวิส เพรสลีย์ ก็โด่งดังมากในช่วงเวลานั้น
แต่บทเพลงก็ไม่สามารถทำให้โกลดิงสงบลงได้มากเท่าสงครามที่เกิดขึ้น เมื่อมนุษย์ต้องประหัตประหาร เข่นฆ่ากันเอง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายในนามของประเทศ
และวรรณกรรมที่ร่ำเรียนมา ก็ทำให้เขาหันมาทบทวนมองโลกที่ไม่ไร้เดียงสานี้ ผ่านเหตุการณ์เหล่ากลุ่มเด็กนักเรียนติดเกาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ค่อยๆ ปะทุทวีความก้าวร้าวและรุนแรงขึ้นตามลำดับ เลือกที่จะฆ่าสัตว์เพื่อดำรงอยู่ ชีวิตต่อชีวิตในห้วงยามที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลชิดใกล้
เด็กๆ เหล่านี้จึงไม่ต่างจากทหารในสงครามอันป่าเถื่อนที่ถูกโยนเข้าไปกองรวมกันอยู่ในเกาะแห่งหนึ่ง แม้จะเป็นชนชาติเดียวกัน (อังกฤษ) แต่เมื่อเห็นต่างจากกัน เสียงแตก เลือกข้าง เลือกคนของตัวเองให้เป็นผู้นำ เด็กๆ ก็พร้อมจะลอกคราบจากดักแด้เป็นผีเสื้อโดยไม่ต้องรอเวลา
แม้เรามองเห็นการปกครองเช่นนี้เป็นเรื่องเปราะบาง ไร้อารยะ แต่ในยุคดึกดำบรรพ์ ก่อนที่มนุษย์จะวางอาวุธหันมาทำการเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิต มนุษย์ก็ล่าสัตว์เพื่อความอยู่รอดด้วยวิธีเช่นนี้ไม่ใช่หรือ
พัฒนาการท่วงทำนองดังกล่าวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ‘ผู้รอด’ จึงคือผู้ที่เก่งกล้า เหมาะสมเป็นผู้นำกลุ่ม เป็นเจ้าสำนัก เป็นนายจ้าง เป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี
และเป็นผู้เลือกได้ในสิ่งที่ตนต้องการ…แม้กระทั่งความรัก

แต่ทั้งนี้ในโลกสมัยใหม่ การสร้างตัวตนของวัยรุ่นกลุ่ม Gen-Z ก็ยังคงความเป็น ‘เกาะ’ ไม่แผกต่างจากจิตวิญญาณของเหล่าเด็กๆ ใน Lord of the Files ผลงานอมตะชิ้นโบแดงของโกลดิง เพราะเอาเข้าจริง หากผสมผสานความลงตัวของคนทั้งสามเข้าด้วยกัน
ทั้งแจ็ค (ความกล้า) ราล์ฟ (ความเหมาะสม) และพิกกี้ (การคิดและออกแบบ) หรือเพิ่มเติมเข้าไปอีกคนคือ ตัวละครช่างคิดช่างฝันอย่าง ‘ไซม่อน’ เพื่อขัดเกลาจิตใจมิให้หยาบจนเกินไป (สร้างเสน่ห์) ก็จะได้ออกมาเป็น ‘ยูทูบเบอร์’ (Yotubers) ที่มีชื่อเสียงที่สังคมให้การยอมรับ ไม่ต่างจากดารา นักร้อง นักแสดงในปัจจุบันที่หลายคนก็สวมหมวกอีกใบมาเป็นยูทูบเบอร์ด้วยเช่นกัน
นี่จึงเป็นความเกาะเกี่ยวที่ไม่บังเอิญที่ในทศวรรษนี้จะมี ‘มุขปาฐะชาแนล’ ในรูปโฉมไฉไลว่ายูทูบเบอร์ให้รู้จักกันอย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์มยูทูบ เทคโนโลยีในโลกใบใหม่ที่ทุกคนสามารถสร้างตัวตนให้เป็นที่ยอมรับได้ในเวลาอันสั้น (ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์สดใหม่ แปลก แตกต่าง และเป็นตัวของตัวเอง)
การเป็นยูทูบเบอร์ จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้มหาศาลโดยไม่ต้องรอเรียนจบเหมือนในสมัยก่อน (นำความเป็นแจ็ค ราล์ฟ พิกกี้ ไซม่อน ผสมคนเข้าด้วยกัน)
แต่บนจำนวนยอดเขาพีระมิดที่สูงชันนี้ ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้เสมอเท่าเทียมกัน เพราะทุกเสียงตอบรับมากน้อยนับตามจำนวนยอดผู้ติดตามเป็นหลัก (น้อยสุดหลักแสน มากสุดหลักล้านและหลายสิบล้านขึ้น จึงจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ)
แต่ไม่ว่าจะมียอดผู้ติดตามมากหรือน้อย การเป็นเด็กหลังห้องเหมือนสมัยก่อน ไม่กล้ายกมือถาม-ตอบ หรือออกมายืนหน้าห้องแล้วทำตัวเขินอาย แทบจะไม่มีให้เห็น
เด็กในวันนี้กล้ามายืนอยู่หน้ากล้อง ออกไปเรียนรู้และลงมือทำจนไต่ระดับกลายเป็นที่รู้จักและมีกลุ่มคนให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เด็กวัยรุ่นเจเนอเรชั่นโซเชียลมีเดียไม่พร้อมจะเป็นผู้เดินตามขบวน แต่มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเองสูง
มากกว่าการเป็นผู้ติดตามอย่างไซม่อน แซม เอริค และฟิล

การเข้าไปสร้าง ‘เกาะ’ เป็นผู้ผลิตรายการให้คนเข้ามาติดเกาะ (“อย่าลืมสั่นกระดิ่ง กด Subscribe เพื่อไม่พลาดการติดตามรับชม”) จึงเป็นช่องทางการสื่อสารตัวตนที่ชัดเจนที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เมื่อสื่อในมือของคนคนหนึ่งสามารถใช้เป็นไวรอลขับเคลื่อนโลกได้ และเมื่อโลกให้การยอมรับการเป็นยูทูบเบอร์ของคนคนหนึ่ง (เปลี่ยนจาก Nobody มีตัวตนขึ้นมา) ผู้นำเทรนด์คนใหม่ย่อมเกิดขึ้น
ช่องที่มีผู้ผลิตรายการท่องเที่ยว ชวนคนดูไปกินตามร้านดัง กูรูด้านการทำอาหารท้องถิ่น แนะนำการเลือกซื้อเครื่องสำอาง สอนแต่งหน้าทำผม เลือกเสื้อผ้าอย่างไรให้ไม่ตกเทรนด์ ภาษาและวัฒนธรรมในต่างแดน คนรักสัตว์ รักต้นไม้ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รีวิวหนังดัง ยูทูบเบอร์สายข่าว นักแคสเกม กีฬาฯ DIY คูลๆ คลิปเพื่อความบันเทิงและแกล้งคนแบบฮาๆ รวมทั้งอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งหมดนี้เราติดตามใครมากที่สุด และใครคือผู้สร้างเกาะที่เราอยากเข้าไปติดเกาะด้วยมากที่สุด!

วิลเลียม โกลดิง ได้สร้างเกาะของเขาไว้เมื่อราวเกือบ 70 ปีที่แล้ว เกาะๆ หนึ่งกับเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องมาอยู่ร่วมกัน บัดนี้ผันเปลี่ยนมาเป็นเกาะใหม่ๆ ที่ทุกคนสามารถสร้างเกาะขึ้นมาด้วยไอเดียความคิดในแบบฉบับของตัวเอง
บางเกาะมีผู้ไปเยือนมาก บางเกาะมีผู้มาเยือนน้อย และบางเกาะต้องรอสุมฟืนไฟก่อนจึงจะมีคนเห็น แต่ในทุกๆ เกาะที่มีคนสร้างสรรค์กันขึ้นมา อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งเราได้ครีเอตทำวิดีโอคอนเทนต์เป็นของตัวเองปักหมุดไว้บนโลกออนไลน์
เหมือนคราวที่โลกยังจดจำผลงานอันเปี่ยมคุณค่าข้ามกาลเวลาในหนังสือเล่มนี้ Lord of the Files
‘เกาะ’ ที่หลายคนเคยหล่นเข้าไป ‘ติดเกาะ’ กันมาแล้วสักครั้งสองครั้งในชีวิต

เครดิตภาพประกอบ :
https://en.wikipedia.org/wiki/Lord_of_the_Flies