ต่างประเทศ : คดีเจ้าพ่อวิกิลีกส์ สะเทือนเสรีภาพสื่อ

มีคำตัดสินออกมาแล้วจากศาลอาญากลางในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ที่จะไม่ส่งตัวนายจูเลียน อาสซานจ์ ผู้ต้องหาชาวออสเตรเลีย วัย 49 ปี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเว็บไซต์จอมแฉให้กับทางการสหรัฐอเมริกา เพื่อนำตัวกลับไปดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมสหรัฐ

ในคดีที่นายอาสซานจ์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายจารกรรมข้อมูล จากการแฮ็กฐานข้อมูลและนำเอาเอกสารข้อมูลในชั้นความลับของรัฐบาลสหรัฐจำนวนมหาศาลออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชน

หลังจากกระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนี้มีการโต้แย้งทางข้อกฎหมายมายาวนานกว่า 10 ปี นับจากวันที่นายอาสซานจ์พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อหลบเลี่ยงการถูกส่งตัวให้กับทางการสหรัฐ

ถึงขนาดที่เจ้าพ่อเว็บไซต์จอมแฉผู้นี้ต้องหลบหนีเข้าไปพึ่งใบบุญอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอน ให้เป็นเกราะกำบังภัยให้อยู่นานถึง 7 ปี

ก่อนอาสซานจ์จะถูกทางการอังกฤษจับกุมตัวไว้ได้ในเดือนเมษายนปี 2019

ในคำวินิจฉัยตัดสินของนางวาเนสซา บาเรตเชอร์ ผู้พิพากษาศาลอาญากลางกรุงลอนดอน ที่มีออกมาในต้นสัปดาห์แรกหลังเปิดศักราชใหม่ชี้ว่า แม้พฤติการณ์ของนายอาสซานจ์ในฐานะผู้จัดพิมพ์เผยแพร่เอกสารลับนั้นได้ทำเกินเลยกว่าหน้าที่ของความเป็นนักข่าว

และนายอาสซานจ์เองตระหนักดีถึงอันตรายจากการปล่อยข้อมูลลับเหล่านั้น

แต่ด้วยปัญหาด้านสุขภาพจิตของนายอาสซานจ์ที่มีภาวะซึมเศร้า ระคนรู้สึกสิ้นหวังจากความหวั่นกลัวถึงอนาคตของตนเอง ทำให้เขามีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายได้

โดยยังมีการพบใบมีดโกนครึ่งใบในเรือนจำเบลมาร์ชในกรุงลอนดอนที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ด้วย

ขณะเดียวกันแม้วิธีปฏิบัติที่ทางการสหรัฐแจกแจงมาก็ไม่ได้เป็นหลักที่จะปกป้องนายอาสซานจ์จากการหาหนทางที่จะฆ่าตัวตายได้เมื่อถูกควบคุมตัวอยู่ในสหรัฐ

จึงเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจที่จะไม่ส่งตัวนายอาสซานจ์ไปยังสหรัฐ

 

ย้อนปมการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลสหรัฐจากทางการอังกฤษกรณีนายอาสซานจ์ เริ่มต้นขึ้นหลังจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ของนายอาสซานจ์นำข้อมูลเอกสารในชั้นความลับทางการทหารและการทูตของรัฐบาลสหรัฐจำนวนมากกว่า 5 แสนไฟล์มาตีพิมพ์เผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนในปี 2010-2011

หนึ่งในข้อมูลชั้นความลับของทางการสหรัฐที่ถูกวิกิลีกส์นำออกมาตีแผ่ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักของกองทัพสหรัฐ

โดยวิกิลีกส์ยังเผยแพร่วิดีโอปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐที่เกิดขึ้นในปี 2007 ขณะเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ยิงถล่มกรุงแบกแดด จนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ในจำนวนเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายนั้นมีทีมข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์สรวมอยู่ด้วย 2 คน

การเผยแพร่เอกสารข้อมูลลับดังกล่าวของวิกิลีกส์ ได้ทำให้อาสซานจ์ถูกรัฐบาลสหรัฐตั้งข้อหาดำเนินคดีรวม 18 กระทงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายการจารกรรมข้อมูล

โดยสหรัฐกล่าวหานายอาสซานจ์ว่าสมรู้ร่วมคิดในการแฮ็กฐานข้อมูลของกองทัพสหรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งความลับที่มีความอ่อนไหวและทำให้ชีวิตของบุคคลที่ถูกระบุอยู่ในเอกสารชั้นความลับดังกล่าวตกอยู่ในอันตราย

เดือนมิถุนายนปีที่แล้วกระทรวงยุติธรรมสหรัฐภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้ายื่นเรื่องร้องขอส่งตัวนายอาสซานจ์จากรัฐบาลอังกฤษอย่างเป็นทางการ

ในขณะที่นายอาสซานจ์ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเบลมาร์ช หลังจากถูกศาลอังกฤษสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 50 สัปดาห์ในเดือนพฤษภาคมปี 2019 ฐานกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว

แม้ก่อนหน้านั้นนายอาสซานจ์ได้ถูกยกฟ้องในคดีกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศเหยื่อในสวีเดนไปก่อนแล้วก็ตาม

 

สิ้นสุดคำตัดสินของผู้พิพากษาศาลอาญากลางกรุงลอนดอนที่จะไม่ส่งตัวอาสซานจ์ให้กับสหรัฐ นำมาซึ่งความยินดีจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะครอบครัวและทีมทนายความของอาสซานจ์ ที่โต้แย้งว่าการกล่าวหาดำเนินคดีต่อนายอาสซานจ์ของทางการสหรัฐเป็นเรื่องของการเมืองและยังเป็นการทำลายวิชาชีพสื่อสารมวลชนและเสรีภาพในการพูด

ด้านกระทรวงยุติธรรมสหรัฐแม้จะผิดหวังต่อคำตัดสินดังกล่าวของศาลอังกฤษ แต่ก็ยังแสดงชัยชนะที่ฝ่ายสหรัฐสามารถโต้แย้งในข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อนำตัวนายอาสซานจ์มาดำเนินคดีในสหรัฐได้ในทุกประเด็น

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการมองว่าการปฏิเสธคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ของศาลอังกฤษ จะถือเป็นชัยชนะของนายอาสซานจ์

แต่นักวิเคราะห์ในแวดวงสื่อสารมวลชนมองว่าคำวินิจฉัยตัดสินในกรณีนายอาสซานจ์นี้ยังคงเป็นสิ่งคุกคามต่อวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะต่อการทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน

โดยมีความเห็นจากบรูซ บราวน์ ผู้อำนวยการบริหารของรีพอร์เตอร์ คอมมิทที ฟอร์ ฟรีด้อมออฟเดอะเพรส องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐ ที่มองว่าการเห็นพ้องของผู้พิพากษาศาลอังกฤษที่มีต่อคำฟ้องร้องดำเนินคดีนายอาสซานจ์ของทางการสหรัฐ ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

ซึ่งนายบราวน์ชี้ว่าการตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลความลับที่รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ต้องการให้สาธารณชนได้เห็นนั้น ไม่ได้เป็นเหมือนกับการจารกรรมข้อมูล ซึ่งทฤษฎีทางกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐที่หยิบยกขึ้นมาในกรณีนี้ยังถือเป็นอันตรายต่อหลักการของเสรีภาพสื่อ

 

ขณะที่นายจามีล จาฟเฟอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบียมองว่า คำตัดสินของศาลอังกฤษเป็นการรับรองการดำเนินคดีฟ้องร้องนายอาสซานจ์ของทางการสหรัฐ แม้จะปฏิเสธคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ตาม

ซึ่งผลของการฟ้องร้องดำเนินคดีนายอาสซานจ์นั้นจะยังคงมีผลครอบงำต่อการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนต่อไป

จาฟเฟอร์ยังวิพากษ์การตั้งข้อหาดำเนินคดีนายอาสซานจ์ว่าเป็นการโจมตีเสรีภาพสื่ออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นการขัดขวางผู้สื่อข่าวจากการใช้สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญที่ควรได้รับการปกป้อง!

ความคืบหน้าหลังจากนี้ฝ่ายสหรัฐเตรียมอุทธรณ์สู้ต่อในศาลสูงกรุงลอนดอน

ส่วนทนายความของนายอาสซานจ์จะยื่นขอประกันตัวต่อไป

โดยมีการยื่นมือเข้ามาแทรกแซงของผู้นำเม็กซิโกที่เสนอให้อาสซานจ์เข้ามาลี้ภัยทางการเมืองในเม็กซิโกได้