วิบากกรรมชาวฟิลิปปินส์ในสงครามยาเสพติด

นักสันติวิธีและนักมนุษยธรรมถือว่าทุกชีวิตล้วนทรงคุณค่า มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่มีสิทธิชอบธรรมใดๆ ในอันที่จะพรากชีวิตไป ไม่ว่าจะจากใครคนใดคนหนึ่งก็ตาม

ภายใต้กรอบดังกล่าว “สงครามยาเสพติด” ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ถือว่าไม่ชอบด้วยสันติวิธีและมนุษยธรรมทั้งมวล

ดูแตร์เตได้แต่อ้างหลักของกฎหมาย ถือว่าเป็นความชอบธรรมและมีอำนาจที่จะกระทำได้

แต่องค์กรระหว่างประเทศทางด้านกฎหมายอย่างศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กลับมีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในสงครามยาเสพติดที่ว่านี้ไปในทางตรงกันข้าม

 

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ไอซีซีเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่ง ที่เป็นความพยายามเพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับอาชญากรรมที่กล่าวหากันว่าเกิดขึ้นจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐในฟิลิปปินส์ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2016 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2019

โดยมุ่งเน้นไปที่แคมเปญรณรงค์ “สงครามยาเสพติด” โดยเฉพาะในส่วนของข้อกล่าวหาที่ว่า

“ประธานาธิบดีดูแตร์เต และสมาชิกระดับสูงของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลในฟิลิปปินส์ ได้รณรงค์ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการสังหารผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำความผิดในฐานะเป็นผู้เสพหรือผู้ค้ายาเสพติด” และการกล่าวหาที่ว่า “สมาชิกของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พีเอ็นพี) ร่วมกับมือสังหารที่ไม่ถูกระบุตัวตนอีกจำนวนหนึ่งลงมือสังหารเหยื่อเป็นเรือนพันโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั่วประเทศฟิลิปปินส์”

ในรายงานของไอซีซีระบุเอาไว้ด้วยว่า

“ส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสงครามยาเสพติดนี้นั้น การประหารเหยื่อบางรายซึ่งเชื่อกันว่าดำเนินการโดยกลุ่มหรือบุคคลที่เป็นพลเรือนเอกชน ภายใต้คำสั่ง และ/หรือ การประสานงานจากเจ้าหน้าที่พีเอ็นพี และ/หรือ บางกรณีที่แท้จริงแล้วเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ซึ่งปกปิดสถานะที่แท้จริงและดำเนินการให้ดูเหมือนเกิดขึ้นจากน้ำมือของศาลเตี้ย”

ในส่วนของข้ออ้างของทางการที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมายนั้น ไอซีซีระบุเอาไว้ว่า

“ความดังกล่าวนั้น มีหลายคนท้าทาย โดยชี้ให้เห็นว่า การใช้กำลังจนถึงฆาตนั้น เกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับเหตุและผลภายใต้สถานการณ์นั้นๆ จนทำให้การสังหารดังกล่าว กลายเป็นการฆ่าตามอำเภอใจ หรือไม่ก็เป็นการประหารชีวิตนอกกระบวนการยุติธรรม”

ในรายงานของไอซีซียังระบุเป็นเชิงกล่าวหาเอาไว้ด้วยว่า ในหลายๆ กรณี บุคคลที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกปฏิบัติต่ออย่างเลวร้ายและลุแก่อำนาจก่อนหน้าที่จะถูกสังหาร

บางกรณีเป็นการฆ่าเหยื่อต่อหน้าญาติพี่น้อง ที่ก่อให้เกิดผลทุกข์ทรมานในด้านสุขภาพจิตอย่างร้ายแรงต่อผู้คนเหล่านั้น

 

บทสรุปของรายงานผลการสืบสวนสอบสวนของไอซีซีก็คือ “มีมูลอันเป็นเหตุเป็นผลที่จะเชื่อได้ว่า” ได้เกิดการกระทำอันเข้าข่าย “เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” อันเป็นหนึ่งในสี่ฐานความผิดที่ไอซีซีสามารถไต่สวนดำเนินคดีได้ เกิดขึ้นในระหว่างการรณรงค์เพื่อต่อต้านยาเสพติดต่อเนื่องกันนานหลายปีในฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของไอซีซีเมื่อปี 2019 แล้วก็จริง แต่ยังคงเป็นหนึ่งในภาคีธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการก่อตั้งไอซีซี ทำให้เป็นไปได้ที่ไอซีซียังคงมีอำนาจไต่สวนและลงโทษในคดีนี้ได้

ในเวลาเดียวกัน รายงานที่ว่าด้วยวิบากกรรมที่ผ่านมาของดูแตร์เตก็จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อรัฐบาลชุดนี้บนเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในอนาคตอันใกล้นี้