จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 8-14 มกราคม 2564

จดหมาย

 

เห็นแย้ง “มนัส”

สวัสดีครับ บ.ก.มติชน

อ่านคอลัมน์ของคุณมนัส สัตยารักษ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2106

ในหัวเรื่อง “ไม่อยากเห็นสงครามกลางเมือง”

ผมรู้สึกถึงความย้อนแย้งในบทความนี้ของคุณมนัส

ซึ่งความย้อนแย้งแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในการอ่านบทความก่อนๆ หลายชิ้นของคุณมนัสในมติชนสุดสัปดาห์

ปกติผมไม่ค่อยอยากที่จะแสดงความเห็นต่อเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ในงานชิ้นนี้

แต่ครั้งนี้อ่านแล้ว รู้สึกว่าต้องแสดงความเห็นบ้างครับ

ในงานเขียนนี้ คุณมนัสได้อ้างอิงถึงคลิปบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์

คุณมนัสบอกว่าเชื่ออย่างอาจารย์นิธิ ที่อยากให้มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้วิธีกระทบกระเทียบ ประชดประชัน

แต่จะเป็นได้หรือครับ ในเมื่อนักวิชาการบางคนเคยพูดถึง เสนอแนะเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

แต่สิ่งที่เจอคือการถูกชี้หน้ากล่าวหาอย่างรุนแรง ด่าทออย่างหยาบคาย อย่างไร้เหตุผลจากอีกฝ่าย

มีการตัดต่อคลิป ตัดแปะบทความ นำมาใช้ในการยุยงปลุกปั่นให้ร้าย กล่าวหาว่าเป็นพวกขายชาติ พวกชังชาติ พวกหนักแผ่นดินจนถึงทุกวันนี้

บางคนก็ถูกแจ้งความ

แม้แต่การเสวนาเรื่องมาตรา 1 มาตรา 2 ในวงเสวนา ซึ่งเป็นเพียงเรื่องข้อเสนอแนะการพิจารณาให้มีการถกกันด้วยเหตุผล ด้วยข้อมูล เพื่อปรับปรุง 2 มาตรานี้ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ก็ยังโดนแจ้งความข้อหาร้ายแรง

หรือแม้แต่ประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้มีเจตนาใดๆ เลย

อย่างแม่จ่านิว ที่แค่พิมพ์คำว่า “จ้า” ในไลน์ที่คนอื่นแสดงความคิดมา ยังโดนเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา

(บางคนอาจบอกว่า สุดท้ายก็ยกฟ้องแล้วไง แต่ระหว่าง 3-4 ปีที่ถูกยัดข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ซึ่งระหว่างนั้นจะต้องอยู่กับความหวาดกลัว ความกังวล เพราะไม่รู้เลยว่า สุดท้ายแล้วศาลจะตัดสินยังไง ซึ่งก็สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อระบบความยุติธรรมอีก…น่าเศร้าและเหนื่อยจริงๆ)

หรือกรณีที่เศร้าที่สุด คือกรณีของอากง ที่ถูกจับด้วยข้อกล่าวหารุนแรง แบบที่อากงไม่รู้เลยว่าตัวเองส่ง SMS ให้คน ปชป.ยังไง ตอนไหน จนอากงต้องตายด้วยมะเร็งในคุก

คุณจอมขวัญ ผู้จัดรายการ ถามตรงๆ ตอนที่ทำรายการดีเบตเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังต้องออกมาโพสต์ว่า “ทุกคนพูดได้ไม่เท่ากัน”

อีกฝ่ายไม่สามารถพูดหรือให้ข้อมูลได้เต็มที่

ในขณะอีกฝ่ายพูดได้ทุกอย่างแม้แต่บางข้อมูลที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง

หากคุณมนัสไม่อยากเห็นสงครามกลางเมือง

หากคุณมนัสอยากให้มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยข้อมูล ด้วยเหตุผล ด้วยสติ ด้วยปัญญา

คุณมนัสต้องช่วยกันในการผลักดัน กดดันให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ใช้ข้อมูลปลอม ไม่ชี้หน้ากล่าวหากัน ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่ใช้เพียงความรู้สึก (โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกใครก็ไม่รู้ไปแจ้งความด้วยข้อกล่าวหาที่รุนแรงในภายหลัง ซึ่งตำรวจก็รีบรับแจ้งทุกกรณีเหมือนกับไม่ได้พิจารณารายละเอียดใดๆ เลย)

และคุณมนัสในฐานะตำรวจเก่า ต้องช่วยกดดัน ผลักดันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหารุนแรงอย่างเหวี่ยงแหมั่วไปหมด

รวมถึงการใช้ข้อกล่าวหาอื่นๆ สารพัดที่จะงัดออกมาได้อย่างรู้สึกได้ชัดว่าจงใจกลั่นแกล้ง

(หากบอกว่าตำรวจต้องทำตามคำสั่งรัฐ ก็ต้องรณรงค์ให้ตำรวจรุ่นน้อง รุ่นลูกคุณมนัสมีจิตสำนึก มีศักดิ์ศรีว่า ตำรวจคือผู้พิทักษ์ความสันติ ความยุติธรรม ให้ราษฎรผู้จ่ายภาษีให้ตำรวจ ตำรวจมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตำรวจไม่ใช่ลูกสมุนของหัวหน้ารัฐ ตำรวจต้องไม่ด้อยค่าตัวเองโดยยอมทำตามทุกคำสั่งโดยไม่พิจารณาว่าคำสั่งนั้นๆ ชอบหรือมิชอบ แบบไม่มีข้อแย้งใดๆ)

เจ

 

สิ่งที่ “เจ” ย้อนแย้งมา

เชื่อว่า ผู้อาวุโส “มนัส สัตยารักษ์”

เปิดกว้าง พร้อมรับฟัง และแลกเปลี่ยน

ภายใต้หลักการ

พูดได้ ตรงไปตรงมา

และเท่าเทียม

มีอะไรไม่เห็นพ้อง “เจ” เขียนมาอีก

 

เห็นแย้งชุด น.ร.

เรียน บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์

1) ผมเคยอ่านพบในหนังสือว่า ประเทศที่มีเครื่องแบบนักเรียน ส่วนมากเป็นประเทศด้อยพัฒนา

ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมากไม่มีเครื่องแบบนักเรียน

2) ประเทศอังกฤษ เคยทำวิจัย โดยแบ่งนักเรียนเป็น 2 พวก

พวกที่หนึ่ง ควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด

ส่วนพวกที่สอง ปล่อยตามสบาย

ผลการวิจัยเขาสรุปว่า พวกที่ปล่อยตามสบาย ถ้ามีความสามารถจะกล้าแสดงออก

แต่นักเรียนพวกที่ควบคุมให้อยู่ในระเบียบวินัย แม้จะมีความสามารถ แต่ไม่กล้าแสดงออก เพราะถูกครูทักท้วงอยู่บ่อยๆ

3) การเรียนการสอนที่ให้นักเรียนนั่งอยู่กับโต๊ะนานๆ วงการแพทย์ค้นพบว่าเกิดผลเสียต่อสุขภาพมาก

เช่น ทำให้เหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย

ทำให้ปวดหลัง ทำให้ข้อเข่า สะโพกเสื่อมเร็ว ทำให้เกิดริดสีดวงทวารได้ง่าย

นักวิทยาศาสตร์โซเวียตได้คิดวิธีการแก้

คือสร้างโต๊ะขึ้นมาใหม่ มีระดับความสูงถึงหน้าอก เอียงลาดเข้าหาลำตัว เอาโต๊ะนี้วางไว้หลังห้องเรียน คือนั่งเรียนอยู่โต๊ะกลางห้องบ้าง ลุกไปยืนเรียนอยู่โต๊ะหลังห้องบ้าง คือนั่งบ้างยืนบ้างสลับกันไป

นอกจากรัสเซียแล้ว ก็มีอีกหลายประเทศที่ทำแบบนี้

ขอแสดงความนับถือ

ชาญชัย

 

น่าสนใจ

ที่เรื่องเครื่องแบบนักเรียน

โยงถึงไปสุขภาพจิต และสุขภาพกายด้วย

ไม่ใช่เรื่องระเบียบวินัยอย่างเดียว

ไม่รู้ว่าปีก “จารีต-อนุรักษนิยม” จะเปิดหูรับฟังหรือไม่