อภิญญา ตะวันออก : จันทรคติ-ปฏิทินเขมร

อภิญญา ตะวันออก

ปูมักคะเนีย-เพื่อนสหายของฉัน สิ้นปีพุทธศักราช 2564 หรือ ค.ศ.2020 ของกัมพูชา อัญเจียคิดว่าปีหน้า ปฏิทินเขมรแบบดั้งเดิมจะกลายเป็นสิ่งไม่มีอยู่ในโลกอย่างถาวร?

ย้อนไปจากในปีสหัสวรรษนั้น ฉันยังเห็นและได้ใช้ปฏิทินโบราณแบบเขมรดั้งเดิมที่น่าจะใช้กันมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมเลยนะ

ปฏิทินแบบนี้ มีให้เห็นและใช้กันทั่วไปในหน่วยงานชาวบารังและตะวันตก ใกล้เคียงที่สุด ถ้านึกไม่ออกก็เปิดแอพพลิเคชั่น/Calendar ในมือถือดูนะ หน้าตาเป็นแบบนั้น

เขมรยุคโน้นเขาดัดแปลงจากโมเดลเดียวกัน ทั้งอเมริกันและฝรั่งเศสก็ใช้แบบนี้มานานครัน

ส่วนปฏิทินฉีก แผ่น แขวนและตั้งโต๊ะสวยงามหลากหลายแบบไทยนั้น ในกัมพูชาเพิ่งจะมีใช้ตามสำนักงานที่เพิ่งฟื้นตัวไม่นาน แต่เทียบความป๊อปปูลาร์/ประเจียเปร็ยแล้ว สู้ปฏิทินคลาสสิคแบบนี้ไม่ได้เลย

ปูมักคะเนีย โชคดีเหลือเกินที่ฉันมีกรุเก็บปฏิทินเก่าเขมรไว้บ้าง เพิ่งบังเอิญพบตอนย้ายบ้าน ให้นึกถึงตอนขนหนังสือจากเขมรมาไทยให้ทุลักทุเลนัก แต่ก็ไม่นึกว่าจะได้รู้จักขนส่งแบบทางเรือและก็ได้ปฏิทินมาด้วย

ปฏิทินชุดนี้ ทำให้ฉันนึกถึงปีสหัสวรรษ-2000 : ศัพท์ที่ฮิตมากในปีนั้น

ฉันจำได้ คนเขมรไม่ตื่นเต้นต่อความเชื่อที่ว่าในศตวรรษหน้าที่ 21 นี้ ชาวโลกทั้งมวลจะถูกกวาดทิ้งด้วยอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ในทศวรรษแรกดูจะไม่เป็นที่เข้าใจนัก โดยเฉพาะในกัมพูชาที่การถ่ายผ่านจากภวสังคมนิยมที่ใกล้ตายและเฉื่อยเนือย กระทั่งสังคมและวิถีผู้คนเริ่มถูกกระตุ้นด้วยระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย นั่นเองที่องคาพยพหลายเริ่มค่อยๆ ถ่ายผ่านจากสังคมเก่าไปสู่สังคมวิถีใหม่

เช่นเดียวกับปฏิทินดั้งเดิมของเขมรนั้นด้วย

กัมพูชาเคยใช้ปฏิทินดั้งเดิมที่ดัดแปลงมาแต่ยุคอาณานิคม และด้วยวิถีเก่าแก่เช่นนั้น ยังคงดำเนินไป กระทั่งปีนี้ (2021) ดูเหมือนการมาถึงของเทคโนโลยียุคสหัสวรรษ/มิลเลนเนียลที่กำลังสำแดงการกวาดทิ้งสิ่งดั้งเดิมจนร่วงหล่นและล้มหายตายจาก

ปูมักคะเนีย ปฏิทินเขมรเก่าก็อยู่ในกาลนั้น ต่อให้ยิ่งมีรายละเอียดมากก็ยิ่งถูก disrupted-หยุดชะงัก ลงไปพลัน เมื่อหวนกลับไปดูอิทธิพลปฏิทินเขมรในแบบฝรั่งเศสกว่าศตวรรษครึ่งที่ผ่านมา

ดูเหมือนนักปกครองบารังเหล่านั้นจะให้ความสำคัญต่อจันทรคติศาสตร์แบบเขมรอย่างหมดใจ

 

ด้วยฉะนี้ บรรดาศักราชแปลกๆ ทั้งแบบเขมรและสยาม จึงมากมายรุงรังเต็มหน้า (ต่าง) ของปฏิทินทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็น เอกสัก-โทสัก-ตรีสัก-จัตวาสัก ที่เวียนกันมาบรรจบในแต่ละรอบ และปีนักษัตร ว่าด้วยชวดฉลู ขาล เถาะ ไล่ไปจนครบ 12 ราศี

ต่อมาคือปี ศักราช ทั้ง มหาศักราช จุลศักราช พุทธศักราช และแน่นอนคริสต์ศักราช ที่แยกหมวดหมู่ไว้ต่างหาก

โดยเกี่ยวกับคริสต์ศักราชนี้ เขมรนับต่างจากไทยไป 1 ปี กล่าวคือ ในปีนี้ซึ่งตกปี ค.ศ.2021 ตรงกับปี พ.ศ.2565 ของทางเขมร

ส่วนความละเอียดในปฏิทินแบบนั้น ปูมักคะเนีย ฉันอยากบอกว่า การอ่านวัน เดือน ปีแบบเขมรนั้น เราต้องฝึกฝนเหมือนกันด้านความเข้าใจ แต่บางทีเราก็อาจตาลาย!

จะว่าไป การที่เขมรไม่เพิ่มเติมเดือนจันทรคติโบราณนี้ ทำให้เรานึกเห็นพัฒนาการ การเปลี่ยนระบบที่เกิดขึ้นในสยามที่หันไปใช้แบบสุริยคติ และปรับปรุงเพิ่มเติม (2432-2483)

ส่วนเขมรนั้น ยังคงระบบเดิมที่ใช้กันในสมัย ร.4 ของไทย กล่าวคือ ไม่มีการเพิ่มคำว่า “ยน” และ “คม” ในวันที่ 30 และ 31 ของแต่ละเดือน

เริ่มจากหน้าแรกของปฏิทิน ที่กำหนดไว้ 6 แข/แค (เดือน) คือตั้งแต่เดือน “มกราคม-มิถุนายน” และครึ่งปีหลังที่พิมพ์ติดไว้อีกด้านคือ ระหว่าง “กรกฎาคม-ธันวาคม” หรือแบบเขมรคือ “กกฎาถึงแคธนู”

วิธีอ่านปฏิทินเขมร จะต้องอ่านจากบนลงล่าง และไล่ไปในแต่ละเดือนจ้ะ

เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ ซึ่งเป็นเลขจำนวนนับ กำกับไว้ด้วยประเภทของวัน อาทิ จันท์, อังเคีย, ปุธ, ปรอห/พฤหัส, สุกร์ เสาร์ อาทิตย์

ปูมักคะเนีย สังเกตด้วยว่า ช่องที่ 3 นี่แหละ ปฏิทินจันทรคติเขมรของแท้ ประกอบด้วยข้างขึ้น-ข้างแรม เช่น ถ้าเป็นวันพระแปดค่ำ จะเรียกวัน “ทไงศีล” (ทไง=วัน) แต่ถ้าเป็นวันพระสิบห้าค่ำหรือวันพระใหญ่ จะเรียก “วันเพ็ญบารมี”

แต่หากบังเอิญเกิดตรงกับวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา จะเรียกเต็มว่า “วันเพ็ญบารมีเมียเฆียะบูเจีย” รวมทั้งกำกับเป็นวันหยุดราชการหรืออื่นใดก็ว่าไป

อนึ่งให้สังเกตว่า ในจำนวนวันพระขึ้น 15 ค่ำรอบที่ 2 ของแต่ละเดือนนี้ ในทางจันทรคติแล้ว จะถือเป็นเดือนใหม่หรือเดือนถัดไป ตลอดทั้ง 12 เดือนแบบเขมร จึงไม่สิ้นสุดวันที่ 28, 30 หรือ 31 แต่อย่างใด

ตัวอย่าง สัปดาห์ที่ 2 (หรือ 3) ของแคแจ๊ดซึ่งถือเป็นปีใหม่เขมรนั้นจัดอยู่ในแคแจ๊ดซึ่งอยู่ในเดือนเมษายน

จึงมึนหัว-ฌือกบาลกันบ้าง ก็ตรงนี้แหละ

นอกจากนี้ เกี่ยวกับการยกสักราช ที่จะเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดหลังปีใหม่เขมร (สงกรานต์) หรือแคแจ๊ดในกลางเดือนหรือสัปดาห์ที่ 3 ของเมษายน

หลังจากนั้น 1 วัน จะถึงวันเถลิงศกพุทธศักราชใหม่ การเถลิงศกหรือ “ยกสัก (ราช)” นี้ บางปีก็เป็น “เอกสัก โทสัก ตรีสัก หรือจัตวาสัก” ก็ว่าไป

แต่เมื่อ “ยกสัก” แล้วก็เข้าสู่เดือนวิสาขะ ซึ่งคร่อมเดือนระหว่างเมษายน-พฤษภาคม และก็น่าจะอยู่ตรงนี้แหละที่จะกล่าวว่า คือเดือนใหม่เดือนแรกของแบบเขมร คือ เดือนวิสาขะ-พฤษภา

ส่วนแคเมษา ซึ่งตามจันทรคติแล้วคือรวมราว 3 วันสุดท้าย ที่ชาวเขมรเฉลิมวันปีใหม่ของตน อันที่จริงคือการเฉลิมฉลองวันสิ้นสุดของแคแจ๊ด-ต่างหากเล่า

สำคัญผิดมานมนาน กว่าจะทราบว่า จริงๆ แล้ว กัมพูชาให้ความสำคัญต่อการกำหนดปีใหม่ของตน ในวันเพ็ญเดือนหกของเดือนวิสาขะ

โดยให้ตรงกับวันเสด็จปรินิพพานขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อ 2564 ปีก่อน!

 

ตานี้ ว่าด้วยพระราชพิธีต่างๆ ที่ใช้มาแต่โบราณตามโหรหลวงของราชสำนักกัมโพช ก็จะปรากฏตรงนี้ อาทิ พระราชพิธีจรดพระนังคัล อันตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำที่ล่วงไปราว 3 วัน

เป็นกำหนดปฏิทินโบราณที่ใช้กัน ปีไหนก็ปีนั้น ไม่เปลี่ยนเลยสำหรับงานราชงานหลวง ส่วนราษฎรนั้นเล่า เดือนเขมรตามปฏิทินสากลราวกลางเดือนกรกฎาคม นอกจากวันเข้าพรรษาตรุษ/สารทนานาวันมาตรงกันแล้ว

เดือนนี้จริงแล้วเริ่มมาแต่กลางมิถุนายน เรียกกันว่าอาสาท แต่บางศักราชที่มีเดือนแปด 2 หน เรียกแปดหนแรกว่าเดือน/แคปฐมสาท และแคทุติยสารทในแปดหนสอง ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ตานี้ก็ถึงบางอ้อ ว่าทำไมขนม “กระยาสารท” จึงนิยมกวนกันมากในเดือนนี้

ปูมักคะเนีย ในภัตบทเดือน10 เขมรราวกันยา-ตุลานั้น ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่พากันไปทำบุญ “ภจุมบิณฃ์” ตั้งศาลบูชาริมหน้าต่างชานเรือนไหว้บรรพบุรุษ

ภจุมบิณฃ์เป็นวันหยุดสำคัญ นายจ้างมักนิยมให้โบนัสลูกจ้างในเทศกาลจ้ะ ฉันเคยทำงานให้คนเขมร ถึงไม่เคยถือบิณฃ์กับเขา แต่ก็ได้ซองอั่งเปากับเขาด้วยเหมือนกัน

ปูมักคะเนีย เพิ่งสังเกตว่า พอจากเดือน 8 เข้าเดือน 10 ที่ประชาราษฎร์ได้เที่ยวเล่นตามฤดูเก็บเกี่ยว เห่เรืออุมตุก บุญกฐิน ออกพรรษาที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เดือนกติกะ (พฤศจิกายน) และเดือนมิกสีร (ธันวาคม)

อนึ่ง นอกจากชื่อ 12 เดือนเขมรที่นอกจากจะรับอิทธิพลจันทรคติและพุทธศาสนาแล้ว ด้านความหมายแต่ละเดือนนั้น ยังเกี่ยวข้องกับวิถีฤดูกาลของชาวกัมพูชา

สารภาพตามตรง สมัยก่อน ข่าวสถานีวิทยุแห่งชาติและจะเริ่มจากวันไล่เดือนปีตามปฏิทินโบราณก่อนเข้าข่าวทั่วไป

ต่อเมื่อถูกอิทธิพลสากลของสหัสวรรษใหม่ครอบงำเสียแล้ว ชาวเขมรยุคหลัง

นับวัน การจดจำปฏิทินตามธรรมเนียมเดิม กำลังถดถอยอย่างน่าใจหาย