พา “ผักตบชวา” เข้าเขตท้องที่ต้องห้ามในสมัยร.6 มีสิทธิ์ติดคุก!

รู้หรือไม่ “ผักตบชวา” สร้างปัญหาหนัก ประวัติศาสตร์ ร.6 ออก “พ.ร.บ.สำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456” มาบังคับแก้ไขปัญหา แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วงนี้ คงจะได้ยินปัญหา “ผักตบชวา” ที่รัฐบาลของหัวหน้าคสช. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ออกอากาศเมื่อ 5ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข โดยพูดถึง พ.ร.บ. สำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456 ว่าสมควรนำมาทบทวนบังคับใช้ใหม่หรือไม่ กระทั่งล่าสุด ท่านหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ ในวันนี้ (22 ส.ค.) ว่า

“จะเอาหรือไม่ถ้าใครปล่อยให้มีผักตบอยู่ในบ้านต้องถูกปรับต้นละ 100 บาท”

สำหรับ “พระราชบัญญัติ สำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช ๒๔๕๖” มีรายละเอียด ในตัวบทกฎหมายบัญยัติไว้ดังนี้

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่าพันธุ์ไม้อย่างหนึ่งซึ่งเรียกกันในประเทศนี้ว่า ผักตบชวา เพราะเหตุที่ได้พันธุ์มาจากเมืองชวา เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นพันธุ์ไม้ที่ประกอบด้วยโทษเพราะเหตุที่เกิดและงอกงามรวดเร็วเหลือเกิน มีพันธุ์ในที่ใดไม่ช้า ก็เกิดพืชพันธุ์งอกงามเป็นแพแผ่เต็มไปในท้องที่นั้น จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียผลประโยชน์การทำนา เป็นอันตรายแก่ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นความลำบากขัดข้องแก่การเดินเรือในแม่น้ำลำคลองทั่วไป

ในบรรดาท้องที่ซึ่งมีพันธุ์ผักชนิดนี้เกิดขึ้น เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ได้พยายามกำจัดมาหลายปีก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ได้ดังสมควร เพราะมักมีคนที่โง่เขลาเอาพันธุ์ผักตบชวาพาไปในที่ต่าง ๆ ไปปลูกเป็นหญ้ากล่ำเลี้ยงปลา โดยหลงนิยมไปว่าเป็นพันธุ์ผักที่งอกเร็วทันใจบ้าง ผู้หากุ้งปลาสดบรรทุกรถไฟเรือไฟไปเที่ยวจำหน่ายต่างเมือง เอาผักตบชวาปิดปากตะกร้ากันแสงแดด ด้วยเห็นว่าเป็นของหาง่ายบ้าง บางจำพวกยังไม่รู้จักโทษของผักตบชวา เห็นแต่เป็นไม้มีดอกงามปลูกรักษาง่าย ก็พาเอาไปปลูกไว้ดูเล่น พันธุ์ผักตบชวาจึงแพร่หลายขึ้นไปทางหัวเมืองข้างเหนือน้ำ ไปเกิดพืชพันธุ์ตามห้วย หนอง ท้องนา แล้วไหลลอยลงมาตามลำแม่น้ำที่กีดขวางทางเรือเดินมากขึ้นทุกทีถ้าทิ้งไว้ช้าอันตรายและความลำบากที่เกิดจากผักตบชวาจะยิ่งมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง พระปริวิตกในข้อนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พร้อมด้วยเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย และเสนาบดีกระทรวงนครบาล นำพระราชปรารภปรึกษาในที่ประชุมเทศาภิบาล ในคราวที่ประชุมประจำปีที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่ประชุมปรึกษามีความเห็นพร้อมกัน ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าในการที่จะกำจัดผักตบชวาให้ได้จริง จำจะต้องมีพระราชบัญญัติห้ามปรามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดพาผักตบชวาไปตามท้องที่ต่าง ๆ และผักตบชวามีอยู่ในที่ของผู้ใดให้เป็นหน้าที่ของผู้นั้นที่จะทำลายเสียให้หมด

แต่การที่จะกำจัดผักตบชวาในชั้นแรกนี้ หัวเมืองมณฑลข้างตอนใต้ทางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ผักตบชวายังมีมากนัก เหลือกำลังที่ราษฎรจะกำจัดได้โดยลำพัง อย่างมณฑลที่ห่างไกลออกไป ซึ่งยังไม่มีผักตบชวาออกไปถึงหรือยังมีแต่เล็กน้อย การกำจัดผักตบชวาในมณฑลหัวเมืองตอนใต้ที่กล่าวมาแล้วจำจะต้องใช้กำลังของรัฐบาลช่วยกำจัดเสียชั้นหนึ่งก่อน ต่อพันธุ์ผักตบชวาเบาบางพอกำลังราษฎรจะกำจัดได้เอง จึงควรใช้พระราชบัญญัติให้เหมือนกันทั่วไป ทรงพระราชดำริเห็นว่า ความเห็นซึ่งที่ประชุมทศาภิบาลกราบบังคมทูล

ทั้งนี้ ชอบด้วยพระราชบริหารแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไป ดังนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้มีนามเรียกว่า “พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. ๒๔๕๖”

มาตรา ๒ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองมณฑลใด หรือเฉพาะเมืองใด จะได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ

มาตรา ๓ เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ถ้าในที่นั้นผักตบชวาเกิดขึ้นหรือมีอยู่ในที่ของผู้ใด ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้อยู่ในที่นั้นจะต้องทำลายผักตบชวา ตามความในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ถ้าผักตบชวามีอยู่ในที่ใดมากมายเกินกำลังผู้อยู่ในที่นั้นจะกำจัดได้ ให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ เรียกระดมแรงราษฎรช่วยกันกำจัดให้ถือว่าการกำจัดผักตบชวาเป็นสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง

มาตรา ๕ วิธีกำจัดผักตบชวานั้น ให้เก็บเอาผักตบชวาขึ้นไว้บนบกผึ่งให้แห้งแล้วเผาไฟเสีย

มาตรา ๖ ผู้ใดไม่กระทำตามหน้าที่และคำสั่ง ในการที่ได้กล่าวมาในมาตรา ๓ มาตรา ๔ มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษให้ปรับครั้งหนึ่ง เป็นเงินไม่เกิน ๑๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๗ วัน หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้งสองสถาน

มาตรา ๗ ผู้ใดพาผักตบชวาเข้าไปในเขตท้องที่ ซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ปลูกหรือเลี้ยงหรือปล่อยให้ผักตบชวางอกงามในที่ห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือเอาผักตบชวาทิ้งลงในแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนองใด ๆ ก็ดี ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษให้ปรับครั้งหนึ่ง เป็นเงินไม่เกินกว่า ๑๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับและจำด้วยทั้งสองสถาน

มาตรา ๘ ให้เสนาบดีกระทรวงคมนาคม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและเสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงที่กล่าวมานี้ มีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับรักษาการตามพระราชบัญญัติ ถ้ากฎข้อบังคับนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต และประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่ากฎนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินี้

ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๕๖เป็นวันที่ ๑๒๐๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในภายหลัง พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้ถูกยกเลิกการประกาศใช้ไปแล้ว ในปี พ.ศ.2546 ตามผลของ พระราชบัญญัติ ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๖ สมัยรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร